วิกฤติพิษวงจรปรอท !!

วันนี้น้องพาพันเอาบทความดีๆ มาฝาก อ่านเจอมาจากแหล่งข้อมูลสำคัญ เว็บไซต์สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยนั่นเองครับ

มาดูกันว่าสารปรอทเกิดขึ้นได้ยังไงและมีอันตรายอะไรบ้าง

อมยิ้ม11อมยิ้ม11



วิกฤติพิษวงจรปรอท

แม้สารปรอทกว่าครึ่งหนึ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ แต่อีกกว่าครึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์

เมื่อไม่นานนี้ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ชี้ถึงปัญหาสารปรอทปนเปื้อนในบรรยากาศว่า กว่าครึ่งหนึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยจำแนกเป็น

- 65 เปอร์เซ็นต์ มาจากการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน

- 11 เปอร์เซ็นต์ มาจากกระบวนการผลิตทอง โดยแหล่งปลดปล่อยปรอทที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่งคือ เหมืองทองในสหรัฐอเมริกา

- 6.8 เปอร์เซ็นต์ มาจากการถลุงโลหะ

- 6.4 เปอร์เซ็นต์ มาจากกระบวนการผลิตซีเมนต์

- 3.0 เปอร์เซ็นต์ มาจากกระบวนการกำจัดของเสีย ทั้งขยะอันตรายและขยะจากเทศบาล รวมถึงการเผาศพและเผาตะกอนน้ำเสีย

- 3.0 เปอร์เซ็นต์ มาจากกระบวนการผลิตโซดาไฟ

   และที่เหลืออีกราวๆ 4.0 เปอร์เซ็นต์ มาจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ

นักวิจัยจากทั้งสองสถาบันเปิดเผยด้วยว่า ในแต่ละปีมีเด็กยุโรปที่เกิดท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีสารปรอทปนเปื้อนในระดับที่ไม่ปลอดภัยกว่า 2 ล้านคน ซึ่งมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง และทำให้ไอคิวลดต่ำลง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายด้านเศรษฐกิจประมาณ 9,000 ล้านยูโรต่อปี

โนเอล ซีลิน นักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า การประเมินระดับการปนเปื้อนสารปรอทส่วนใหญ่ต่ำกว่าความรุนแรงของสถานการณ์จริง เพราะมักไม่ได้พิจารณาถึงปริมาณรวมทั้งหมดของสารปรอทที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมซึ่งจะปรากฏเป็นปัญหาในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินและแหล่งกำเนิดอื่นๆ ปล่อยปรอทสู่บรรยากาศ ปรอทเหล่านี้ก็จะถูกฝนชะล้างลงสู่ผืนดินและมหาสมุทร หลังจากนั้นก็จะสะสมในห่วงโซ่อาหาร และตกค้างในระบบนิเวศยาวนานนับหลายสิบปี หรืออาจนับหลายร้อยปี จากการพยากรณ์ปัญหาสารปรอทในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งทำประมงที่มีความสำคัญระดับโลก คาดว่าในปี 2050 การปนเปื้อนสารปรอทในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเมื่อปี 1995 โดยปรอทบางส่วนก็จะถูกปล่อยกลับขึ้นสู่บรรยากาศ

นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่สารปรอทจากวงจรที่จะถูกปล่อยกลับขึ้นมา แต่ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ก็จะเติมสารปรอทใหม่ๆ ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอีกหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเข้มงวด

เรียบเรียงโดย เสมอชน ธนพัธ
เรียบเรียงจาก enn.com/environmental_policy/article/45445

แหล่งที่มา http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2087
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่