ขอเชิญเข้าร่วมเวทีสาธารณะ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ......ให้สิทธิจริงหรือ?

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยยึดถือหลักการสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศเป็นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเพื่อสร้างความเข้าใจให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาทั่วไปได้รับทราบถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน มีความตระหนักและเห็นคุณค่าของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และมีส่วนร่วมสร้างกลไกส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

ปัจจุบันคู่ชีวิตเพศเดียวกันมีเป็นจำนวนมากที่ใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวหญิงชาย แต่สถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวไม่มีกฎหมายรับรองไว้ จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิและหน้าที่อันพึงมีพึงได้  ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานตามที่บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนชีวิตคู่ พ.ศ. .... เพื่อให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกัน

ทั้งนี้ บันทึกเจตนารมณ์ หรือคำอธิบายรายมาตรา มาตรา ๓๐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อธิบาย ว่าการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศนั้น ให้รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะแต่เดิมคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น เพราะในกฎหมายระบุไว้เพียงสองเพศเท่านั้น  ซึ่งความเป็นจริงโลกนี้มีมากกว่า ๒ เพศ               ทั้งชายรักชาย หญิงรักหญิง คนข้ามเพศ คนสองเพศ คนที่รักทั้งสองเพศ เป็นต้น เรื่องเพศเป็นเรื่องสิทธิ  ขั้นพื้นฐานของคนทุกคน สิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องของคนทุกคน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. .....รวมทั้งสิ้น ๔ ครั้ง ดังนี้
๑. ครั้งที่ ๑  เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม กรุงเทพฯ  
๒. ครั้งที่ ๒  เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖  ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  
๓. ครั้งที่ ๓  เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จังหวัดขอนแก่น
๔. ครั้งที่ ๔  เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

จากการเข้าร่วมเวทีดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูล รูปธรรมปัญหาข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.  ดังกล่าวจากการแสดงความเห็นของผู้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นกฎหมาย ที่ก่อให้เกิดกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ และการสาธารณสุข ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย  เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร  กลุ่มสะพาน และมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (forsogi)    กำหนดจัดโครงการเวทีสาธารณะ  เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .....ให้สิทธิจริงหรือ ? ขึ้น            
ในวันพฤหัสบดีที่  ๑๔ มีนาคม  ๒๕๕๖   เวลา ๑๓.๓๐- ๑๗.๐๐ น.  ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่