เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550

ก็ต้องดูศาลรับคำร้องแล้วจะวินิจฉัยโดยใช่เจตนารมณ์หรือไม่
###################################################
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ร่างขึ้นบนสถานการณ์ที่ต้องการให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ที่ก่อให้เกิดปัญหากับระบบการเมืองหลายประการ โดยยังคงยึดถือโครงสร้างใหญ่ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่วางไว้ เป็นหลัก ซึ่งหากจะประมวลสภาพปัญหาที่เกิดจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญนั้นมีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน กล่าวคือ ส่วนแรกเป็นปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องที่ตัวรัฐธรรมนูญเอง กับส่วนที่สองคือปัญหาทางข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เกิดปรากกฎการณ์พรรคการเมืองที่สามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้อย่างเด็ดขาดจนทำให้ดุลแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารสูญเสียไปมีลักษณะของเผด็จการรัฐสภา รวมถึงการแทรกแซงการใช้อำนาจขององค์กรอิสระทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น ประกอบกับบุคลิกภาพของผู้นำและการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมผสมกันก็ทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดีในหลายเรื่องถูกบิดเบือนไปและฝ่ายรัฐบาลก็แสวงหาประโยชน์และโอกาสข้อได้เปรียบต่างๆจากรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือ
ดังนั้นการจะทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2540 เสียก่อน เพื่อทำให้ทราบความเป็นมาและเป็นไปของการแก้ไขปรับปรุงในรัฐธรรมนูญ 2550
2.1 ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อันนำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย แต่การเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีข้อบกพร่องเลย ดังจะเห็นได้จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2549 รวมตลอดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 อาจสรุปได้ว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ด้วยกัน 4 กรณีได้แก่
2.1.1 ปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 แม้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่ปรากฏว่ามีปัญหาอยู่หลายประการเกิดขึ้น
-    การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ แต่ก็มักจะเขียนให้มีรายละเอียดให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ในทางปฏิบัติพบว่ามีกฎหมายจำนวนมากไม่ได้รับการตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยประชาพิจารณ์ที่จะต้องออกตามความในมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองตามมาตรา 57 วรรคสอง กฎหมายว่าด้วยสิทธิของบุคคลในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 56 กฎหมายว่าด้วยการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนแล้วมิได้ใช้ตามมาตรา 49 วรรคสี่ ฯลฯ นอกจากนี้นักกฎหมายส่วนใหญ่ยังตีความว่า ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติขึ้น รัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ก็ยังไม่สามารถใช้บังคับได้ สิทธิเสรีภาพหลายประการของปวงชนชาวไทยจึงยังไม่เกิดขึ้นแม้จะมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดได้รับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา
-    การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติสิทธิและเสรีภาพไว้แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเป็นไปได้ยากหรือมีความสลับซับซ้อนเกินไป เช่นเรื่องการเข้าชื่อของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่จะถอดถอนนักการเมือง หรือเสนอร่างกฎหมายจำนวนของประชาชนที่จะเข้าชื่อและกระบวนการของการเข้าชื่อทำให้ในทางปฏิบัติกระบวนการเข้าชื่อแบบนี้แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้มากถึง 50,000 รายชื่อ (มาตรา 304 และมาตรา 170 รัฐธรรมนูญ 2540)
-    ปัญหาที่รัฐธรรมนูญนั้นยังไม่มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพใหม่ๆ เช่นสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ ฯลฯ ไว้อย่างเหมาะสม
2.1.2 ปัญหาเรื่องการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มิใช่ประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ ซึ่งก็คือประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องมีการพิจารณาประชาธิปไตยในทางเนื้อหาควบคู่กันไปด้วย ซึ่งก็คือการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามหลักการปกครองโดยกฎหมายมิใช่การปกครองโดยอำเภอใจของตน มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจนระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ในทางปฏิบัติพบว่าตลอดช่วง 4-5 ปีก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 อำนาจรัฐทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดถูกผูกขาดอยู่ในเมืองของคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารที่เป็นพวกเดียวกันและไม่มีทางที่จะตรวจสอบกันและกันได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีการแทรกแซงองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร อันทำให้ระบบการตรวจสอบล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่เว้นแม้แต่ศาล เช่นศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นกลางในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหลายคดี จะมีก็แต่เพียงศาลปกครองและศาลยุติธรรมเท่านั้นที่ยังดำรงความอิสระของตนไว้ได้
เมื่อสามารถควบคุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและบางส่วนของศาลได้ การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและขัดกับกฎหมายจึงเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ เช่น การปราบปรามผู้มีอิทธิพลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การใช้อำนาจปราบปรามประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ทั้งที่มัสยิดกรือเซะและกรณีตากใบ อันนำมาซึ่งการที่ผู้บริสุทธิ์ล้มตามเป็นจำนวนมาก ขัดกับหลักนิติศาสตร์ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนโดยทั่วไปเป็นผู้บริสุทธิ์ การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่ตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง การแต่งตั้งญาติ คนสนิทเข้าสภาในตำแหน่งต่างๆ ของโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงหลักความรู้ความสามารถและคุณธรรม ฯลฯ เหล่านี้แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นปัญหาที่ “คน” ไม่ใช่ปัญหาที่ “ระบบ” หรือ “รัฐธรรมนูญ” ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดสถานการณ์ของการผูกขาดอำนาจรัฐ และการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแม้จะไม่ได้ตั้งใจและคาดคิดว่าจะมีรัฐบาลเสียงข้างมากเกิดขึ้นเพียงการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว
2.1.3 การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คุณธรรมและจริยธรรมเป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของประเทศไทยขาดมาก แม้มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 จะบัญญัติให้มีการจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ขึ้นก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็พบว่ามาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ในขณะเดียวกันการละเมิดคุณธรรมและจริยธรรมก็เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ การอภิปรายที่ไม่มีสาระ เสียดสีและบางกรณีขัดแย้งกับความเป็นจริง การทะเลาะวิวาทในสภา การมีปัญหาในเรื่องเพศสัมพันธ์ การไม่มาปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงเวลาและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน ( Conflict of Interests ) ที่เป็นกรณีทุจริตสีเทาที่ระบบกฎหมายไทยยังไม่สามารถจับได้ไล่ทัน และระบบการตรวจสอบทางการเมืองก็ไม่สามารถทำงานได้เพราะมีพลังฝ่ามือหนุนหลังอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรคอยปกป้องไว้ ซึ่งกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติทั้งด้านตัวเลขจำนวนเงิน และสร้างรอยด่างพร้อยในสังคมไทยจนทำให้ประชาชนเอาแต่คิดว่า รัฐบาลที่ไม่โกงมีที่ไหน แต่ขอให้บริหารให้เศรษฐกิจดี เงินทองถึงมือประชาชนก็พอ ค่านิยมที่ผิดๆเช่นนี้ยอมเป็นเซลล์มะเร็งร้ายที่จะต้องกำจัดออกไปจากสังคม
2.1.4 ปัญหาการแทรกแซงองค์กรตรวจสอบทำให้ระบบตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ
องค์กรตรวจสอบเดิมที่เรามีอยู่ก็คือศาลยุติธรรมต่อมาเราได้สร้างองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ได้แก่ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในจำนวนองค์กรเหล่านี้ เราจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เราพบว่าเป็นองค์กรที่ผู้มีอำนาจแทรกแซงได้น้อยและทำงานได้มีประสิทธิภาพมาก
กลุ่มที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีการแทรกแซงกระทำผ่านกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้
กลุ่มที่สาม ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งแม้ผู้มีอำนาจจะทำการแทรกแซงน้อย แต่โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ก็บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่น้อยเช่นเดียวกัน ทำให้ผลงานที่ดำเนินการมายังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก
การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในภาพรวมนั้นมีปัญหาใหญ่ๆที่สำคัญ 3 ข้อ กล่าวคือ
1)ปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วนและองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดตัวแทนของพรรคการเมืองเอาไว้เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงกระบวนการสรรหาได้ ปัญหาการใช้อำนาจดุลพินิจของวุฒิสภา ข้อจำกัดของระยะเวลาในการสรรหา
2)ปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ปัญหาว่าองค์กรใดบ้างเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาความไม่ชัดเจนในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
3)ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่นคณะกรรมการเลือกตั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรอื่นๆ ปัญหาการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่ล่าช้าเพราะมีภารกิจมาก ปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณและบุคลากรขององค์กรอิสระ เป็นต้น
2.2.1เจตนารมณ์ทั่วไปที่เป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ
การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 นั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณากำหนดกรอบแนวทางหลักในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถือว่าเป็นเจตนารมณ์ทั่วไปของรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ ดังนี้
(1)ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
(2)ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
(3)องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆมิได้
(4)ประเทศไทยปกครองด้วยระบบนิติรัฐ
(5)ประเทศไทยปกครองด้วยระบบรัฐสภา
(6)อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
(7)รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
(8)ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(9)ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเสมอภาค การมีส่วนร่วมของประชาชนและอำนาจของชุมชน ย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครอง
(10)ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีทั้งหลาย ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่