วันนี้ วันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 เรื่อง จูฬเวทัลลสูตร(การสนทนาธรรมระหว่างวิสาขอุบาสก กับ ธรรมทินนาภิกษุณี อดีตสามีภรรยา)

(พระสูตรกล่าวถึงการสนทนาธรรมระหว่าง  วิสาขอุบาสก [พระอนาคามี] กับ พระธรรมทินนาภิกษุณี [พระอรหันต์]
ซึ่งเป็นอดีตสามีภรรยากัน )




พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์



๔. จูฬเวทัลลสูตร
การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ






             [๕๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-


             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต
เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


เรื่องสักกายทิฏฐิ




             [๕๐๖] วิสาขอุบาสกครั้นนั่งแล้ว ได้ถามธรรมทินนาภิกษุณีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ สักกายะ ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ?



             ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ
รูปูปาทานขันธ์ ๑
เวทนูปาทานขันธ์ ๑
สัญญูปาทานขันธ์ ๑
สังขารูปาทานขันธ์ ๑
วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑


อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ.





             วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีว่า ถูกละพระแม่เจ้า ดังนี้
แล้ว ได้ถามปัญหาต่อไปว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย สักกายสมุทัย ดังนี้
ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสักกายสมุทัย?


             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี
เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย.





             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ สักกายนิโรธดังนี้
ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ?


             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละ
คืน ความปล่อย ความไม่พัวพัน ด้วยตัณหานั้น นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ.





             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้
ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา?


             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑
วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความ
ตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา.





             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอันเดียวกัน หรืออุปาทาน
เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕?



             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่
อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่ ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕
เป็นอุปาทาน ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น.





             [๕๐๗] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร?


             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้
ไม่ได้เห็นพระอริยะไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ
ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัปบุรุษ


ย่อมตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง
ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง
ตามเห็นรูปในตนบ้าง
ตามเห็นตนในรูปบ้าง


ย่อมตามเห็นเวทนา ...
ย่อมตามเห็นสัญญา ...
ย่อมตามเห็นสังขารทั้งหลาย ...
ย่อมตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง


ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง
ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง
ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล
สักกายทิฏฐิจึงมีได้.





             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อย่างไรสักกายทิฏฐิจึงจะไม่มีฯ


             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้
ได้เห็นพระอริยะ
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ


ได้เห็นสัปบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ
ฝึกดีแล้วในธรรมของสัปบุรุษ


ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง
ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง
ไม่ตามเห็นรูปในตนบ้าง
ไม่ตามเห็นตนในรูปบ้าง


ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา ...
ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา ...
ย่อมไม่ตามเห็นสังขารทั้งหลาย ...
ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง


ไม่ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง
ไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง
ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี.


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่