คมนาคมเดินหน้ารถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ – รังสิต ลงนามสัญญา 2 กับอิตาเลียนไทย

ก่อสร้างอีก 6 สถานี มูลค่ากว่า 2 หมื่น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามในสัญญาโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ – รังสิต) ระหว่างนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยมี พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายฮิม ศิริธันยาภรณ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายธวัชชัย สุทธิประภา กรรมการ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน ในวันที่ 31 มกราคม 2556 เวลา 08.30 – 10.00 น. ณ อาคารสโมสรและหอประชุมกระทรวงคมนาคม

งานสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ – รังสิต) นั้น เป็นส่วนหนึ่งในโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระบบรถไฟชานเมือง ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการกำกับดูแล และได้เปิดซองข้อเสนอด้านราคาไปตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2555 ซึ่งปรากฎว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดจึงได้สิทธิในสัญญา 2 ตามข้อกำหนด

สำหรับขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย การก่อสร้างสถานี 6 สถานีพร้อมอาคารสถานี ได้แก่ สถานีบางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง และรังสิต , การก่อสร้างทางรถไฟยกระดับบนโครงสร้างคานสำเร็จรูปทรงกล่องพาดบนหัวเสาคอนกรีตหรือกรอบคานเสาคู่ ทางรถไฟยกระดับบนฐานเสาเข็มจาก กม.12+201.700 ถึง กม.25+232 และทางรถไฟระดับดิน จาก กม.25+232 ถึง กม.32+350 , การจัดการถนนเลียบทางรถไฟและระบบระบายน้ำ งานดัดแปลง ปรับปรุง หรือรื้อย้ายโครงสร้างโครงการโฮปเวลล์ และงานโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายสถานีวัดเสมียนนารีและสถานีหลักหกในอนาคต รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 21,235,400,000 บาท

ส่วนสถานีของโครงการนั้น มีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกันเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สถานีประเภทที่ 1 เป็นสถานียกระดับมี 3 ชั้น สำหรับรองรับเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมือง ประกอบด้วย ชั้นพื้นดินเป็นพื้นที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการส่วนชั้นที่ 2 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว ส่วนชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง ใช้ในสถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี (สถานีในอนาคต) สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง และสถานีหลักสี่ สถานีประเภทที่ 2 เป็นสถานียกระดับมี 4 ชั้น รองรับทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองและรถไฟทางไกล

ซึ่งมีเพียงสถานีดอนเมืองเท่านั้นโดยลักษณะของสถานี ประกอบด้วย ชั้นพื้นดินเป็นพื้นที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ ชั้นที่ 2 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟทางไกล ส่วนชั้นที่ 4 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง สถานีประเภทที่ 3 เป็นสถานียกระดับเพื่อรองรับรถไฟชานเมือง และสถานีระดับพื้นเพื่อรองรับรถไฟทางไกล โดยจะใช้ที่สถานีรังสิตเท่านั้น ลักษณะของสถานี ประกอบด้วย ชั้นพื้นดินเป็นพื้นที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการและเป็นพื้นที่ชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล ชั้นที่ 2 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว ส่วนชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รฟท. ได้มีการลงนามในสัญญารถไฟชานเมืองสายสีแดง สัญญา 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 กับกิจการร่วมค้าเอสยู ประกอบด้วย
บริษัทซิโน - ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยูนิค เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนการลงนามสัญญา 3 ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานในด้านการวางระบบรถไฟฟ้า รฟท. ได้เตรียมการภายหลังจากการลงนามสัญญาที่ 2 แล้วเสร็จ โดยมีเวลาในการพิจารณา 90 วัน ภายหลังจากเซ็นสัญญา 1 และสัญญา 2 เสร็จสิ้นแล้ว

โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต มีเป้าหมายการดำเนินงานแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2559 เพื่อรองรับการขนส่งผู้โดยสารระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพ ฯ กับย่านปริมณฑล ด้วยรถไฟรูปโฉมใหม่ที่มีความเร็วสูง สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางของคนเมืองยุคใหม่ เป็นการขยายความเจริญและการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปยังย่านชานเมือง ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: โดย.. ศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยว การรถไฟแห่งประเทศไทย 31 มกราคม 2556 - 17:20:49
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่