รวมกระทู้ " กระต่ายป่า" ( 24 มกราคม 2556 )

ปิดดีลยักษ์ F&N ผงาดคับอาเซียน

23 ม.ค. 2556 เวลา 20:10:49 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



ยืดเยื้อมาหลายเดือน ล่าสุด การแย่งซื้อกิจการบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) ก็จบลงด้วยชัยชนะของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ในนามของไทยเบฟเวอเรจ และทีซีซี แอสเซ็ท ด้วยมูลค่าคิดเป็นเงินไทยราว 335,000 ล้านบาท

ขณะที่คู่แข่ง "โอเวอร์ซีส์ ยูเนียน เอ็นเตอร์ไพรเซส" (OUE) ยืนยันที่จะไม่เพิ่มราคาเสนอซื้อหุ้น F&N แข่งว่ากันว่า นี่คือ ดีลการแข่งขันซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยที เดียว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม

ทีซีซี แอสเซ็ท ได้เพิ่มราคาเสนอซื้อ F&N เป็น 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าข้อเสนอเดิมที่ 8.88 ดอลลาร์สิงคโปร์ และสูงกว่าระดับราคาที่ OUE เสนอซื้อที่ 9.08 ดอลลาร์สิงคโปร์

ขณะเดียวกัน มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของเมืองไทย จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยสินทรัพย์รวมถึง 6,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 192,200 ล้านบาท ยังได้บัญชาการให้ซื้อหุ้น F&N เพิ่มอีก 90.8 ล้านหุ้น หรืออีก 6.3% ที่ระดับราคา 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และซื้อเพิ่มอีก 2.2 ล้านหุ้นในวันเสาร์ (19 มกราคม) ส่งผลให้กลุ่มยักษ์น้ำเมาจากเมืองไทยถือหุ้น F&N เพิ่มเป็นราว 40.6% จากเดิมที่ถืออยู่แล้ว 34.2% และเท่ากับว่า กลุ่มไทยเบฟฯยังขาดหุ้นอยู่อีกเพียง 10% เท่านั้นก็จะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ F&N

แน่นอนว่า สำหรับเกมนี้ ผู้ชนะมีแต่ได้กับได้...เพียงประตูเดียว

หลัง ผลการซื้อกิจการดังกล่าวมีความชัดเจนดังกล่าว เช้ารุ่งขึ้น (22 มกราคม) ที่ตลาดหลักทรัพย์ในเมืองไทย ราคาหุ้นเบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) ธุรกิจในเครือของเจ้าสัว มีความเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปรับขึ้นบวก 1.25 บาท หรือ 1.82% มาที่ 69.75 บาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นสูงสุดที่ 71.50 บาท

บริษัท หลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์โดยคาดว่าเบอร์ลี่ยุคเกอร์จะได้ประโยชน์จากการต่อยอด ธุรกิจ หลังจาก ดีลครั้งนี้สำเร็จ เนื่องจากเบอร์ลี่ยุคเกอร์ อาจได้ออร์เดอร์จาก F&N ในการผลิตขวดและกระป๋องเครื่องดื่ม

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ ได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ในการรุกธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟฯจากนี้ไปว่า

หลัก ๆ น่าจะใช้เครือข่ายจัดจำหน่ายของเอฟแอนด์เอ็นในสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นช่อง ทางในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ช้างและเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ทั้งเครื่องดื่มบำรุงกำลัง กาแฟสำเร็จรูป และอาจจะรวมถึงเครื่องดื่มชาเขียว "โออิชิ" แบรนด์ดังของไทย

อีก ด้านหนึ่ง ไทยเบฟฯก็จะนำสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ ของเอฟแอนด์เอ็น ที่แข็งแกร่งในมาเลเซียและสิงคโปร์ เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย อาทิ เครื่องดื่มเกลือแร่ 100 PLUS, ชาผลไม้ F&N SEASONS, น้ำผลไม้ F&N FRUIT TREE FRESH, นมถั่วเหลือง F&N NUTRISOY

สิ่งที่เป็น ไฮไลต์น่าจะเป็นสินค้ากลุ่มแดรี่โปรดักต์ที่เจ้าสัวเจริญยังไม่เคยมีมาก่อน โดยสินค้ากลุ่มนี้มีครอบคลุมทั้งนมกระป๋อง นมเปรี้ยว แบรนด์ F&N MAGNOLIA สแน็คบาร์และโยเกิร์ต "F&N aLIVE" และสินค้ากลุ่มนี้ก็กำลังเติบโตในเวียดนามด้วย และนี่ยังไม่นับรวมถึงน้ำดื่ม F&N ICE MOUNTAIN หมายเลข 1 ของตลาดในสิงคโปร์

ที่น่าจับตาอีกธุรกิจหนึ่งและยังไม่ค่อยมีใครพูด ถึง คือ ก่อนหน้านี้ F&N ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับรัฐบาลเมียนมาร์ ในนาม "เมียนมาร์ บริวเวอรี่" ที่ดูแลการทำตลาดให้กับแบรนด์หลาย ๆ แบรนด์ อาทิ Myanmar Beer, Myanmar Double Strong และ Andaman Gold for Beer รวมถึง เบียร์ไทเกอร์ ที่ F&N ขายให้กับยักษ์เบียร์โลกไฮเนเก้น เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาจึงเท่ากับว่า หากเจ้าสัวต้องการจะขยายอาณาจักรเบียร์ไปยังเมียนมาร์ที่กำลังโตวันโตคืน หนทางก็น่าจะราบรื่น และไร้อุปสรรค

นอก จากนี้ เอฟแอนด์เอ็นยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยบริหารอพาร์ตเมนต์เพื่ออยู่อาศัยหลายพันแห่งในลอนดอน ปารีส ดูไบ และรวมถึงห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น

แน่นอนว่า ธุรกิจส่วนนี้ก็จะสามารถเชื่อมต่อและเกื้อหนุนกับธุรกิจอสังหาฯของทีซีซี กรุ๊ปได้เป็นอย่างดี

อย่างนี้จะเรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวก็คงไม่ผิดนัก

นี่ คือ ย่างก้าวที่สำคัญของราชันย์น้ำเมาเมืองไทย ในการจะใช้ F&N เป็นสปริงบอร์ดในการขยายอาณาจักรทั้งในและต่างประเทศโดยไม่ต้องเริ่มต้นนับ หนึ่งใหม่

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่