วิธีสังเกตผู้สูงวัย “อัลไซเมอร์” หรือ “แค่ขี้ลืม”



วิธีสังเกตผู้สูงวัย “อัลไซเมอร์” หรือ “แค่ขี้ลืม”



อาการขี้ลืมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการลืมเพราะไม่มีสมาธิ ตื่นเต้น หรือทำหลายอย่างพร้อมกัน แต่มีอาการ "ลืม" แบบหนึ่งที่เป็นสัญญาณเตือนของ “โรคอัลไซเมอร์”ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หากละเลยอาการเหล่านี้ อาจทำให้การรักษาล่าช้าและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หากพบว่าผู้สูงอายุใกล้ตัวมีอาการขี้หลงขี้ลืม หรือมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างรวดเร็ว

อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นภาวะความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้ส่งผลต่อสมองทุกส่วนและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยมักมีอารมณ์แปรปรวน ควบคุมตัวเองได้ยาก สูญเสียการแยกแยะถูกผิด มีปัญหาด้านภาษาและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ความจำจะค่อยๆ ลดลง และในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำทั้งหมด



โรคอัลไซเมอร์ สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ
· ระยะเริ่มแรก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกถึงการขี้ลืม เช่น ลืมปิดเตารีด ลืมปิดประตู 
ลืมทานยา หรือจำชื่อคนไม่ได้ ผู้ป่วยอาจต้องขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดในการจัดทำรายการสิ่งที่ต้องทำเพื่อไม่ให้ลืม
· ระยะที่สอง ผู้ป่วยเริ่มสูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะความจำที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แต่ยังสามารถจำเรื่องราวในอดีตได้ เริ่มมีปัญหาในการใช้คำพูดหรือการสื่อสาร และมีอารมณ์ที่แปรปรวน
· ระยะที่สาม ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการสับสนอย่างมาก ไม่สามารถบอกวันหรือเดือนได้ เห็นภาพหลอน อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ปัสสาวะราด หรือไม่สนใจในการดูแลตัวเอง ทำให้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนรอบข้าง



ดังนั้น หากคนใกล้ชิดหมั่นสังเกตและใส่ใจผู้สูงอายุในบ้าน เมื่อพบอาการผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากอัลไซเมอร์ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่มีการดำเนินโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป การได้รับการรักษาและดูแลตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยชะลอการเสื่อมของสมอง และทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพไปอีกนาน
 
** โรคอัลไซเมอร์สามารถตรวจได้ด้วยเครื่อง MRI ซึ่งช่วยในการมองเห็นพยาธิสภาพทางสมองหรือภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ การตรวจนี้ช่วยค้นหาความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น การเปลี่ยนแปลงในเซลล์สมอง การสะสมของโปรตีนในผนังหลอดเลือดสมอง และการสูญเสียการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท พยาธิสภาพเหล่านี้ส่งผลให้สารสื่อประสาทในสมองลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อมได้ **

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่บ้าน คลิกอ่านข้อมูล >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/58
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่