JJNY : แม่ค้ากล้วยทอดโอด น้ำมันแพง│“รอมฎอน”ตั้งแง่“ทักษิณ”ขอโทษตากใบ│วิปวุฒิถกลับ สู้ปมโพยฮั้วส.ว.│เซเลนสกีพร้อมลาออก

แม่ค้ากล้วยทอดโอด น้ำมันแพง ขายไม่ได้-ขาดทุน ขอหยุดขาย รอราคาน้ำมันลด ค่อยขายใหม่
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_9646928
 
 
ราชบุรี น้ำมันแพง แม่ค้ากล้วยทอดบ่นอุบ น้ำมันทอดกล้วย ราคาพุ่ง ขายไม่ได้กำไร-ขาดทุน ประกาศหยุดขายชั่วคราว รอราคาน้ำมันลดลง ค่อยกลับมาขายใหม่
 
24 ก.พ. 68 – จากปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันไม่สมบูรณ์ เกิดผลกระทบทำให้การรับซื้อผลปาล์มมีราคาแพง กลายเป็นผลพวงของราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับราคาสูงขึ้นในช่วงนี้
 
ส่งผลทำให้อาชีพต่าง ๆ ได้รับผลกระทบตามมาไปด้วย เช่น พ่อค้า แม่ค้า ขายข้าวแกง อาหารตามสั่ง และแม่ค้าขายกล้วยทอด ที่ต้องแบกรับภาระ การค้าขายก็มีปัญหาตามมา หลายคนบ่นกันมากถึงปัญหาดังกล่าว แม้บางคนจะปรับกลยุทธ์การขาย ทั้งขอปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ทั้งขอลดปริมาณการขายลง
ขณะที่นางไพริน โตชารี อายุ 32 ปี แม่ค้าขายกล้วยทอดอยู่ที่ ต.เขาแร้ง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งมีอาชีพขายกล้วยทอดและมันทอดมานาน บ่นอุบกับเรื่องของราคาน้ำมันที่แพงขึ้น จนทำกล้วยทอดขายไม่ไหว เพราะขาดทุน จึงขอหยุดกิจการชั่วคราว ในวันอาทิตย์นี้ เพื่อรอดูช่วงเวลาราคาน้ำมันปาล์มลดราคาลงกว่านี้
 
นางไพริน โตชารี แม่ค้ากล้วยทอด กล่าวว่า ขายกล้วยทอดช่วงนี้ต้นทุนสูง น้ำมันก็ปรับราคาสูงขึ้นด้วย มันเทศก็ราคาสูง กล้วยที่สวนมาส่งจะรับซื้อหวีใหญ่ราคาหวีละ 15 -18 บาท หวีเล็กหวีละ 10 บาท ลูกใหญ่ผ่า 3 ชิ้น ถ้าลูกเล็กผ่าครึ่งหนึ่ง บางทีก็จะทอดทั้งลูก ขายชิ้นละ 2 บาท 10 ชิ้น 20 บาท แต่ก่อนช่วงที่น้ำมันยังไม่ขึ้นราคาจะไปซื้อน้ำมันที่ร้านขายส่งราคาถุงละ 65 บาท
แต่ตอนนี้ที่ร้านขายส่งขึ้นราคาไปแล้วถุงละ 70 บาท ถ้าซื้อยกลังราคาก็ 800 กว่าบาทแล้ว แต่ทุกวันนี้ซื้อร้านใกล้บ้านราคาถุงละ 80 บาท คิดว่าจะหยุดขายชั่วคราวเพื่อรอให้น้ำมันลดลงจึงจะกลับมาขายใหม่ หากปรับลดปริมาณการขายก็กลัวว่าลูกค้าจะไม่เข้าใจ
 
จากการสอบถามราคาหัวมันเทศเพื่อนำมาทอด ที่ตลาดก็มีราคาแพงการเดินทางก็ไกล จึงหันไปซื้อที่ตลาดนัดใกล้บ้าน ขายกิโลกรัมละ 25-30 บาท จากการสังเกตการทอดในกระทะพบว่า ใส่น้ำมันน้อยลงกว่าเดิม จากที่เคยใส่น้ำมันพืชทอดประมาณครึ่งกระทะ เป็นมาช่วงน้ำมันพืชแพง จึงต้องปรับลดปริมาณลงเหลือไม่ถึงครึ่งกระทะ
 
สำหรับกล้วยทอดที่ร้านนี้จะมีลูกค้าติดใจในรสชาติมาอุดหนุนทุกวัน และจากวันอาทิตย์นี้ไป ก็จะเป็นวันสุดท้ายของการขายกล้วยทอดแล้ว เพราะสู้ต้นทุนวัตถุดิบไม่ไหว จำใจต้องขอหยุดกิจการชั่วคราวก่อน หวังรอสถานการณ์ราคาน้ำมันพืชจะปรับตัวลดลง จึงจะกลับมาเปิดร้านใหม่อีกครั้ง นางไพริน เจ้าของร้านกล้วยทอดกล่าว



“รอมฎอน” สส.ปชน. ตั้งแง่ “ทักษิณ” ขอโทษตากใบ
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_845751/

“รอมฎอน” สส.ปชน. ตั้งตำถาม “ทักษิณ” ขอโทษประเด็นตากใบ ชี้ ไม่จริงใจพูดคุยสันติภาพ มองรัฐบาลไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอในการผลักดันกระบวนการยุติธรรม
 
นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.พรรคประชาชน ตั้งคำถามต่อการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมองว่าการสื่อสารของนายทักษิณ เน้นด้านการเมืองและความมั่นคง ต่างจากนายกรัฐมนตรีคนก่อน ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการพัฒนา
 
นายรอมฎอน ระบุว่า การขอโทษของนายทักษิณเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ แม้จะเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ขาดความจริงใจ เนื่องจากไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอในการผลักดันกระบวนการยุติธรรม
 
ในส่วนของการพูดคุยสันติภาพ นายทักษิณ กล่าวว่า จะมีความคืบหน้าภายในปี 2568 และปัญหาจะ “จบ” ในปี 2569 แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงแนวทางความร่วมมือกับต่างประเทศก็ยังคลุมเครือ

นายรอมฎอน มองว่า แม้นายทักษิณจะมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่มีตำแหน่งทางการในรัฐบาล ดังนั้น พรรคประชาชนจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เพื่อตรวจสอบทิศทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภาคใต้



วิปวุฒิถกลับ สู้ปมโพยฮั้วส.ว. ‘มงคล’ ลั่นไม่กลัวถูกตรวจสอบ ไม่ทราบโทรล็อบบี้กก.คดีพิเศษ
https://www.matichon.co.th/politics/news_5063169

ส.ว.ถกลับ 1 ชม.เต็ม หาทางตอบโต้ ‘ทวี-ดีเอสไอ’ ช็อตไมค์ หลังถูกถาม ทำไมโพยฮั้วตรงเป๊ะ 138 คน ‘มงคล’ จวกเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่ ยันไม่กลัวการตรวจสอบ สุดท้ายผู้ไม่มีอำนาจพยายามเข้ามาแทรกแซง ไม่ทราบหลังบ้านล็อบบี้ กก.พิเศษหรือไม่ ขณะที่ ‘บิ๊กเกรียง’ ประกาศเดินหน้าตรวจสอบใช้เวทีตั้งกระทู้-อภิปรายทั่วไป ลั่นน่าจะทันสมัยนี้ ด้าน ‘บุญส่ง’ ยันอำนาจเป็นของ กกต. ถามความรู้สึกของวิญญูชนเป็นเช่นไร ก็คงดำเนินการตามกฎหมาย
 
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) นำโดยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ประชุมหารือกรณีการฮั้วเลือก ส.ว. โดยมี ส.ว.ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 21 คณะ ร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมเป็นการหารือภายในแบบลับ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพหรือติดตามการประชุม ส่วนบรรยากาศภายนอกห้องประชุมมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวด แตกต่างจากทุกครั้ง
 
ภายหลังการประชุมได้มีการแถลงข่าว โดยนายมงคลกล่าวว่า สืบเนื่องจากเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เพื่อมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 เป็นคดีพิเศษนั้น ได้มีการหารือกับรองประธานวุฒิสภา และ ส.ว. จึงขอแถลงข่าวชี้แจงในประเด็นต่างๆ ต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
 
นายมงคลกล่าวว่า สำหรับประการที่ 1 แต่เดิม ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร คือกระทรวงมหาดไทยที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง แต่มีการเอื้อกันและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ฉะนั้น จึงได้มีการแก้ไขให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาหลายองค์กรเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และได้บัญญัติสืบต่อมาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติให้การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายไม่ให้ถูกแทรกแซงของฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใด รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการคดีพิเศษ
 
เพื่อมิให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการแทรกแซงหรือก้าวก่ายการได้มาและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 จึงบัญญัติให้การจัดการเลือกตั้งและการควบคุมการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเฉพาะ” นายมงคลกล่าว
 
นายมงคลกล่าวต่อว่า ประการที่ 2 เมื่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.แล้ว การที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แถลงข่าวว่าดีเอสไอรับคำร้องและเตรียมเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นคดีพิเศษ โดยที่ กกต.ยังไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หรือมอบหมายให้ดีเอสไอดำเนินการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจของดีเอสไอ อีกทั้งการตั้งข้อหาอั้งยี่และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 116 กับสมาชิกวุฒิสภา ต้องถือว่าเป็นการตั้งข้อหาและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้าย หรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานต่างๆ ดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่ ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาได้สมัครเข้ารับการเลือกและผ่านกระบวนการเลือกมาอย่างถูกต้อง จนกระทั่งได้รับการรับรองจาก กกต.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
 
การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เป็นไปตามข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือโดยส่อเจตนาที่จะทำลายองค์กรวุฒิสภาด้วยการเผยแพร่ข่าวและเอกสารลับต่างๆ อันทำให้วุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภาถูกดูหมิ่นและเกลียดชังเพื่อล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ ยืนยันว่าเราไม่กลัวการตรวจสอบ เราพร้อมและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่คือกกต.มาโดยตลอด ขอเอกสารก็ส่งให้ เรียกบุคคลไปให้ถ้อยคำก็ไป ทุกคนพร้อมที่จะทำให้กับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่พยายามเข้ามาแทรกแซงหรือตรวจสอบเรา ฉะนั้น ที่ประชุมจึงได้มีมติร่วมกันคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นายมงคลกล่าว
 
เมื่อถามว่า การที่ดีเอสไอรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษมองว่าเป็นการล้ม ส.ว.ชุดนี้หรือไม่ นายมงคลกล่าวว่า เราไม่อยากทราบเจตนารมณ์ของใครได้ แต่พฤติการณ์ต่างๆ ที่ออกมา ทั้งการประโคมข่าว ออกมาให้ข่าว รวมถึงเผยแพร่เอกสารลับนั้น ก็ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณดูแล้วกัน ถามต่อว่า มองว่าดีเอสไอได้รับใบสั่งจากใครมาหรือไม่ นายมงคลกล่าวว่า เช่นเดียวกับเรื่องเมื่อสักครู่นี้

เมื่อถามถึง กรณีที่ดีเอสไอระบุว่าการดำเนินคดีในส่วนนี้คือส่วนของอาญาไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.สามารถทำได้หรือไม่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง กล่าวว่า การสืบสวนในเบื้องต้นเป็นหน้าที่ของ กกต.เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในกฎหมายนี้ก็จะมีกฎหมายอาญาตามมาทีหลัง
เมื่อถามถึงกรณีดีเอสไอระบุว่าโพยฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. ตรงกันถึง 138 คน จาก 140 คน มีมูลพอที่จะตรวจสอบหรือไม่ คณะ ส.ว.นิ่งอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะหันไปทางนายบุญส่งพยักหน้าให้ตอบคำถาม ซึ่งนายบุญส่งกล่าวย้ำสั้นๆ ว่า เป็นหน้าที่ของ กกต.ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีที่จะมีการยื่นถอดถอน พ.ต.อ.ทวี พล.อ.เกรียงไกรกล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ในการตรวจสอบองค์กรที่ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจาก ส.ว.ทุกคนของเรายอมรับว่าเรามาตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการตรวจสอบ ส.ว.ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงมีการเตรียมการในการอภิปรายทั่วไป ในเรื่องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีโอกาสมาตอบคำถาม หรือการตั้งกระทู้
ส่วนจะทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกรกล่าวว่า ตามไทม์ไลน์แล้ว น่าจะทัน โดยจังหวะนี้นายอลงกต วรกี ส.ว. ที่ยืนอยู่ด้านหลังพูดแทรกขึ้นมาว่า ปีหน้ามั้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่