อย่าให้การไถ่บาปของ “ทักษิณ” ทำให้ชายแดนใต้ต้องกลายเป็น ‘เขตปกครองตนเอง’



ที่มา - https://kaowonni.blogspot.com/2025/02/blog-post_23.html
บทความ  โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

ถ้าเปรียบจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนไข้ ก็ป่วยเรื้อรังมาถึงกว่า 21 ปี ไม่ตาย แต่ไม่หายขาด เพราะมีการ “จ่ายยาเลี้ยงไข้” โดยไม่ยอมผ่าตัดเอาปัญหาออก อาการจึงหนักบ้าง เบาบ้าง เป็นไปตามฤทธิ์ยาที่ให้ ซึ่งถือว่าเป็นฝีมือของคณะแพทย์ที่ถูกมอบหมายให้รับหน้าที่ดูแล
 
ทว่าเวลานี้ดูแล้วร่างกายชายแดนใต้จะทรุดหนักมาก โดยเฉพาะในซีก จ.นราธิวาส ที่มีเหตุร้ายเกิดถี่ยิบและรุนแรง โดยเฉพาะการถูกคาร์บอมบ์ต่อเนื่องเริ่มที่ สภ.ศรีสาคร แล้วก็ปลัดอำเภอยี่งอตามมา จากนั้นต่อด้วยกองช่างเทศบาลตำบลรือเสาะ ยังมีอาการอื่นๆ อีกเช่นยิงสองพ่อ-ลูกครู ตชด.ที่เป็นข่าวครึกโครม
 
ตามด้วยระเบิดกองร้อยอาสารักษาดินแดน อ.แว้ง สถานที่ราชการและบ้านเรือนประชาชนเสียหายมายมาย ยังมีผู้บาดเจ็บถึง 25 ราย ต่อด้วยบึ้มฐานปฏิบัติการตำรวจ นปพ.ดุซงญอ อ.จะแนะ บาดเจ็บ 4 นาย นอกจากฐานปฏิบัติการแล้วยังเอาพ่วงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลพังยับเยินไปด้วย
 
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการปาระเบิดสังหารใส่ชุดคุ้มครองตำบลมะนังตายอที่ อ.เมืองนราธิวาส ที่แม้จะไม่มีคนเจ็บ แต่ทรัพย์สินและยานพาหนะเสียหายเป็นจำนวนมาก นี่ยังไม่นับรวมเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเดือนกุมภาพันธ์มานี้ ซึ่งเป็นฝีมือของกองกำลังติดอาวุธขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชื่อ “บีอาร์เอ็น”
 
ส่วนปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะมีการปิดล้อมและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นนักรบของบีอาร์เอ็นที่บ้านไอกือแด ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และนำตัวไปสืบสวนสอบสวนยังศูนย์ซักถามที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานในพื้นที่
 
ส่วนอาการป่วยในซีก จ.ปัตตานี ก็มีปาไปป์บอมบ์ใส่ชุดคุ้มครองตำบลปุโละปูโย อ.หนองจิก เป็นต้น ด้านอาการป่วยซีก จ.ยะลา ก็มีการใช้ปืนเอ็น 16 ยิงถล่มใส่ฐานตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษเสือดาว เป็นต้น ซึ่งอาการป่วยใน 2 ซีกหลังนี้ถือว่ากำเริบไม่มาก หรือเป็นเพียงก่อกวนที่ไม่ได้หวังผลมากนัก
 
มีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ อาการหนักอย่างคาร์บอมบ์ในหลายอำเภอของ จ.นราธิวาส ทำไมหน่วยงานในพื้นที่จึงไม่รับรู้ความเบาะแสหรือความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามมาก่อน เพราะถ้าแค่พอระแคะระคายก็น่าจะทำให้ป้องกันเหตุได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็น่าจะลดทอนภาพความสำเร็จของของบีอาร์เอ็นลงไปได้บ้าง
 
ความจริงแล้วฐานเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ใน “ชุมชน” ซึ่งไม่น่าจะทำให้ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารล้มเหลวได้ถึงเพียงนี้ แล้วเมื่อฐานเจ้าหน้าที่ถูกถล่มโจมตีก็เลยพ่วงเอาประชาชนที่ไม่อยู่ในสมการความขัดแย้งถูกลูกหลงไปด้วย ชาวบ้านกลายเป็นผู้เคราะห์ร้าย ทั้งได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย และทรัพย์สินเสียหาย
 
การป้องกันฐานของเจ้าหน้าที่ถือว่ามีความล้มเหลวอย่างมาก ไม่มีการลาดตระเวนป้องกันเพียงพอ จึงปล่อยให้แนวร่วมบีอาร์เอ็นนำคาร์บอมบ์เข้าไปจอด หรือขับเข้าไปขว้างระเบิดใส่ หรือเข้าไปยิงใส่ได้ถึงในฐานที่ตั้ง แถมยังหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล
 
ที่สำคัญเหตุร้ายมักเกิดในช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องมีการวางเวรยามเพื่อระมัดระวังเข้มข้น นั่นแสดงให้เห็นถึงความหละหลวมชัดแจ้ง เรื่องนี้จึงต้องสรุปบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุง ที่สำคัญต้องมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อ “งานการข่าวมือบอด” ย่อมที่จะไม่รู้ว่าจะถูกซุ่มโจมตีเมื่อไหร่
 
จะว่าไปแล้ว “จุดบอด” สำคัญสุดคือ ไม่ว่าจะเกิดเหตุร้ายรุนแรงถี่ยิบอย่างไร ทำไมผู้รับผิดชอบในพื้นที่ถึงแทบไม่มีแม้แต่การกพูดถึงความรับผิดชอบ ไม่ว่าระดับอำเภอหรือจังหวัด โดยเฉพาะในส่วนของ “ทหาร” ไม่ว่า ผบ.ฉก.จังหวัด หรือ ผบ.ฉก.เลขหนึ่งตัว เลขสองตัว เลขสามตัว ต่างไม่เคยต้องรับผิดฐานควบคุมพื้นที่ไม่ได้
 
เช่นเดียวกับฝ่าย “ตำรวจ” ตั้งแต่ระดับ 5 เสือโรงพัก ตลอดจนถึงผู้บังคับการจังหวัด ทำไมไม่เห็นใครออกมารับผิดชอบกับเหตุที่เกิดในท้องที่ตนเอง ทั้งที่ก็มีหน้าทีที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จดบันทึก ตรวจสอบกล้องวงจรปิด รวมทั้งหาเส้นทางปฏิบัติการของคนร้าย
 
ไม่ต่างจากฝ่าย “ปกครอง” ที่ต่อให้ฟ้าถล่มแผ่นดินทลายจากการก่อเหตุของกองกำลังติดอาวุธขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าจะปลัดป้องกัน ปลัดความมั่นคง นายอำเภอ เรื่อยไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด คนเหล่านี้ต่างก็ไม่เคยเห็นใครออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
สำหรับหน่วยงานทั้งหมดที่กล่าวมานั้น นอกจากความรับผิดชอบตามหน้าที่แล้ว พวกเขายังมี “สิทธิพิเศษ” อยู่ครบ ตั้งแต่สิทธิกำลังพล เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัยและอื่นๆ อีกจิปาถะที่ได้รับฐานปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย
 
เพราะไม่มีความบกพร่องใดๆ นี่เอง ทำให้พวกเขายังได้รับ “ความดีความชอบ” ตามสิทธิพิเศษต่างๆ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ไฟใต้ยากที่จะมอดดับ” หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยไม่ต้องคำนึงถึงความรุนแรงในพื้นที่ ไม่ต้องคำนึงถึงความสูญเสียของประชาชน เพียงแต่ “รักษาตัวรอด” ให้ได้เป็นพอ
 
ถ้าให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายดังกล่าวต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่จะกระตือรือร้นกันมากกว่านี้ หรืออาจปฏิบัติหน้าที่ป้องกันเหตุได้ดี สืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข่าว และติดตามจับกุมจนเหตุการณ์ในพื้นที่ลดน้อยถอยลง
 
แต่ถ้าเรายังปลอยให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ไม่มีใครต้องรับผิดใดๆ กับเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นแบบนี้ต่อไป นั่นก็ทำให้สังคมเชื่อได้เลยว่า คงไม่มีทางที่จะทำให้สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้น หรือทำให้มีเหตุการณ์ก่อการร้ายลดน้อยถอยลง
 
อย่างไรก็ตามมีเรื่องให้ต้องติดตามกันคือ 23 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีควงแขน “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรมและหัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่มี สส.ในพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุดลงพื้นที่ จ.นราธิวาส
 
ครั้งนี้ นายทักษิณ ชินวัตร เลือกเจาะจงไปยัง “โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา” อ.เจาะไอร้องด้วย ซึ่งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้ในอดีตเคยถูกกล่าวหาเป็นที่ “บ่มเพาะ” เพราะมี “มะแซ อุเซ็ง” อดีตเลขาธิการขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นครูสอนอยู่ที่นี่

สำหรับนายมะแซ อุเซ็ง เป็นที่รู้กันว่าเขาคือเจ้าของ “แผนบันไดเจ็ดขั้น” ที่จะใช้เวลา 1,000 วันในการแบ่งแยกพื้นที่ชายแดนใต้ เขาคือหนึ่งในผู้ต้องหาใน “คดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง” ดังนั้น การที่คณะของนายทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้จึงเป็นที่สนใจของสังคม
 
ไม่เพียงเท่านั้นการเลือกลงพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง ยังทำให้สังคมจับจ้องว่าต้อง “มีนัยสำคัญ” อะไรหรือไม่ เพราะต้องผ่านการคิดอ่านอย่างรอบคอบจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้เป็น “อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.” ที่เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้นำศาสนา คนในพื้นที่ และโดยเฉพาะกับ “กลุ่มผู้เห็นต่าง” มาแล้วเป็นอย่างดี
 
ต้องถือเป็นการเดินหน้าดับไฟใต้ “ก้าวที่สอง” ของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีตำแหน่งเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่สังคมเห็นว่าเขาคือผู้กุมบังเหียนประเทศตัวจริง ต่อจาก “ก้าวแรก” คือการขอออกนอกประเทศไปพบ “อันวาร์ อิบราฮิม” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาชายแดนใต้
 
นับแต่นี้ไปคงต้องมีการติดตามกันต่อว่า นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ “นายแพทย์ใหญ่” คนใหม่แต่หน้าเก่าจะใช้ “ยาอะไร” และใน “ปริมาณขนาดไหน” ในการรักษาอาการป่วยหนักและสุดแสนจะเรื้อรังมานานของผืนแผ่นดินปลายด้ามขวาน

ต้องไม่ลืมว่า “ไฟใต้ระลอกใหม่” ถูกจุดขึ้นในสมัย “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” ในอดีต และที่ลุกโชนต่อเนื่องมากว่า 21 ปีก็ได้ผ่าน “รัฐบาลในระบอบทักษิณ” มาแล้วหลายวาระ มิพักต้องพูดถึง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้เป็นน้องสาวหรือ “รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ผู้เป็นน้องเขย เป็นต้น

และในเวลานี้คือวาระของ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ผู้เป็นบุตรสาว การที่นายทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาช่วยรัฐบาลชุดปัจจุบันดับไฟใต้ที่ตนเองมีส่วนในการก่อขึ้นมาตั้งแต่ต้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากเป็นการ “ไถ่บาป” ที่ทำไว้กับคนในชายแดนใต้มาอย่างยาวนาน

เป็นห่วงอย่างเดียวคือ อย่าให้การเข้ามาดับไฟใต้หนใหม่ของนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้ผืนแผ่นดินปลายด้ามขวานต้องกลายเป็น “เขตปกครองตนเอง” หรือ “เขตปกครองพิเศษ” ตามคำแนะนำของ “กลุ่มคนขายชาติ” และ “นักการเมือง” ในประเทศมาเลเซียเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ประชาชนคนไทยเราต้องจับตามองใกล้ชิดต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่