ฝึก ‘เชื้อราทะเล’ กิน ‘พลาสติก’ ในทะเล แก้ปัญหา “ไมโครพลาสติก”


“ขยะพลาสติก” เป็นปัญหามลพิษที่อันตรายที่สุดในมหาสมุทรและกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและพืช สุดท้ายแล้วก็อาจกลับเข้ามาสู่ร่างกายมนุษย์ได้เช่นกัน นักวิจัยกำลังมองหาวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายกำลังฝึกให้ “ราทะเล” กินไมโครพลาสติกเหล่านี้ เพื่อขจัดพลาสติกในแหล่งน้ำ

ทั่วโลกใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้น เพราะมีราคาถูก แข็งแรง และใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่เมื่อพลาสติกโดนแสงแดด ความร้อน และแรงกดต่าง ๆ พลาสติกจะสลายตัวเป็นชิ้นเล็กจิ๋วที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ที่ถือว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

ล่าสุดนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาวาย แมโนอาได้พบ “ราทะเล” (Marine Fungi) ชนิดหนึ่งอยู่รอบเกาะโออาฮู ในฮาวาย ที่สามารถกินพลาสติกโพลียูรีเทนได้ ซึ่งนักวิจัยเล็งจะใช้เชื้อราชนิดนี้ในการรีไซเคิลและกำจัดพลาสติกออกจากธรรมชาติ และดูเหมือนว่าจะได้ผลดี

นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างเชื้อราจำนวนมากที่แยกได้จากทราย สาหร่าย ปะการัง และเติมโพลียูรีเทนลงในจานเพาะเชื้อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพลาสติกทั่วไปที่ใช้กันมากที่สุดในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม จากนั้นจึงวัดว่าเชื้อราสามารถกินพลาสติกได้หรือไม่ และถ้ากินได้จะกินได้เร็วแค่ไหน

ผลการวิจัย พบว่าราทะเลมากกว่า 60% ที่เก็บมาจากมหาสมุทรมีความสามารถในการกินพลาสติกและเปลี่ยนพลาสติกให้กลายเป็นเชื้อรา

นอกจากนี้ ภายในเวลา 3 เดือน เชื้อราบางชนิดสามารถเพิ่มอัตราการกินอาหารได้ถึง 15% นักวิจัยกำลังพยายามทำความเข้าใจเชื้อราทะเลในระดับเซลล์และโมเลกุลให้ดีขึ้น เพื่อดูว่าเชื้อราเหล่านี้ย่อยสลายสารประกอบเหล่านี้ได้อย่างไร

นักวิจัยหวังว่าราทะเลเหล่านี้จะเป็นวิธีทำความสะอาดชายหาดและทะเลครั้งใหญ่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกระบุว่าการหาทางย่อยสลายพลาสติกเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีกวิธีที่จะช่วยลดมลพิษจากพลาสติกได้ดี คือ ลดการผลิตพลาสติก


อ่านเพิ่มเติม : กรุงเทพธุรกิจ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่