JJNY : จี้สภาเดินหน้า แก้ รธน.│หมอเปรม จ่อยื่น ‘วันนอร์’│‘โฆษกวิปวุฒิสภา’ปัดกำหนดทิศทาง│ยูเครนพร้อมเจรจาแลกเปลี่ยนดินแดน

นักวิชาการมธ. จี้สภาเดินหน้า แก้ รธน. ม.256 เปิดช่องตั้ง สสร.
https://www.matichon.co.th/politics/news_5045333
 
 
นักวิชาการมธ. จี้สภาเดินหน้า แก้ รธน. ม.256 เปิดช่องตั้ง สสร. คาดปรับ ครม. หลังศึกซักฟอก เชื่อเพื่อไทยเตรียมตอบปมชั้น 14 หวัง ปชน.ค้านเต็มที่เพื่อเรียกคะแนนนิยมคืน
 
จากกรณีที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความง่ายขึ้น โดยสาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน จะยื่นเสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่ง สสร. จะมีอำนาจพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น รวมถึงยังเสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ให้มีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างน้อย 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 67 คน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ความคาดหวังเบื้องต้น คือขอให้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกไปก่อน เพราะวาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 26 ครั้ง โดยผ่านการพิจารณาเพียง 1 ครั้ง ส่วนตัวจึงมองว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13 – 14 ก.พ. นี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญ และใกล้เคียงที่สุดที่จะผ่านการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง สสร. เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 จากศาลรัฐธรรมนูญ
 
ทั้งนี้ เพราะวรรคท้ายของคำวินิจฉัยที่ 4/2564 จากศาลรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องลงประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง พร้อมทั้งยังระบุชัดเจนว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
นอกจากนี้ เสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน มีคำวินิจฉัยส่วนตนว่าการทำประชามติตลอดกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สามารถทำได้เพียง 2 ครั้ง รวมไปถึงความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่าง ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยืนยันในทิศทางเดียวกัน
 
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นเหตุผลให้ต้องมีประเด็นในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ ทั้งเรื่องของอำนาจรัฐสภา และจำนวนครั้งในการทำประชามติเหมือนที่ผ่านมาอีก เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการยื่นเพื่อถ่วงเวลาหรือเป็นแทคติกเพื่อไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้ทันในสภาสมัยนี้
 
ถ้าจะยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีก ก็อาจจะไม่ง่าย เพราะต้องผ่านมติของรัฐสภา ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนปี 2564 ที่ค่อนข้างมีความชัดเจนมากว่าสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตอนนี้ ค่อนข้างโน้มเอียงและมีฉันทามติว่าจะให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เอาเข้าจริงๆแล้ว วันที่ 13 – 14 ก.พ. นี้ เป็นเพียงแค่การรับหลักการ โดยส่วนตัวคิดว่าควรรับไปก่อน และถ้ามีรายละเอียดที่จะต้องปรับ มันสามารถไปพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการได้ในวาระสอง” ดร.ปุรวิชญ์ กล่าว
 
เมื่อถามต่อถึงกรณีที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าจากการพูดคุยกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงนี้ ดร.ปุรวิชญ์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วการปรับ ครม. มักจะทำกันในช่วงหลังจากที่มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งส่วนตัวคาดว่า ภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ น่าจะมีการปรับ ครม. อีกครั้งเช่นกัน เพราะช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา เริ่มมีการปล่อยข่าวโผ ครม. ชุดใหม่มาตามพื้นที่สื่อ ซึ่งสะท้อนว่า เริ่มมีการเขย่าเก้าอี้กันอีกครั้ง และอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้
 
เมื่อถามต่อไปอีกว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะถูกซักฟอกปม ชั้น 14 หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร ดร.ปุรวิชญ์ ให้ความเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ก็คงจะเตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ เพราะปมเรื่องชั้น 14 ได้รับการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เชื่อมั่นว่าพรรคประชาชน จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มกำลังเช่นกัน เพราะนี่คือพื้นที่ในการแสดงบทบาท และโชว์ผลงาน เพื่อเรียกความนิยมจากประชาชน ภายหลังจากที่กระแสพรรคเริ่มแผ่วลงอย่างชัดเจน นับตั้งแต่มีการยุบพรรคก้าวไกล



หมอเปรม จ่อยื่น ‘วันนอร์’ พรุ่งนี้ ส่งศาล รธน.ตีความ แก้มาตรา 256
https://www.matichon.co.th/politics/news_5045427

13 ก.พ. ‘หมอเปรม’ จ่อยื่น ‘วันนอร์’ ส่งศาล รธน.ตีความ แก้มาตรา 256
 
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เปรมศักดิ์ เพียรยุระ ส.ว.กลุ่มสีขาว ได้แจ้งหมายข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จะยื่นญัตติต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้รัฐสภามีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) พร้อมทั้งจะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในเวลา 14.45 น. ก่อนการยื่นญัตติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมายพบว่า นพ.เปรมศักดิ์ไม่มาตามนัด ผู้สื่อข่าวจึงพยายามโทรศัพท์สอบถามรายละเอียด แต่พบว่า นพ.เปรมศักดิ์ปิดโทรศัพท์มือถือและแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า ไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน
 
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในญัตติดังกล่าว นพ.เปรมศักดิ์ได้ดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 โดยต้องมี ส.ว.ร่วมสนับสนุนญัตติ 40 คน เบื้องต้นได้มีการลงชื่อครบแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพร้อมจะยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุในวาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้
 

 
‘โฆษกวิปวุฒิสภา’ปัดกำหนดทิศทาง สว. แก้รัฐธรรมนูญมาตรา256
https://www.dailynews.co.th/news/4389053/

‘โฆษกวิปวุฒิสภา’ปัดกำหนดทิศทาง สว. แก้รัฐธรรมนูญมาตรา256 ระบุให้เป็นเอกสิทธิตัดสินใจ แค่กำชับให้ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
 
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงษ์ สว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมวิปวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ว่า ที่ประชุมได้หารือและแจ้งให้ สว. เข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 13 – 14 ก.พ. ซึ่งมีวาระพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน เสนอ อย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ของสว. ฐานะสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้หากมีสว.คนใดจะลาประชุมเนื่องจากติดภารกิจต้องทำเรื่องถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา เพราะเป็นการประชุมรัฐสภา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่