ถัดจากสายรุ้งขึ้นไป ที่ไหนซักแห่ง Somewhere Over The Rainbow

ถัดจากสายรุ้งขึ้นไป ที่ไหนซักแห่ง Somewhere Over The Rainbow

ที่ซึ่งความฝันจะกลายเป็นความจริง ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า รอเวลาที่จะได้พบกัน จับต้องได้ สุขได้ สัมผัสได้ด้วยหัวใจ ที่ไหนซักแห่งสุดปลายสายรุ้ง

วิธีชุบแข็งใบมีดหรือกระบวนการอบชุบใบมีด ที่ให้ใบมีดคุณสมบัติสูงตามมาตรฐานเอบีเอส จริงๆแล้วมันก็มีหลายวิธีอยู่นะครับ การพอกโคลนทำฮามอนแบบญี่ปุ่นก็ได้ใบมีดคุณสมบัติสูงแบบนี้เหมือนกัน คือเป็นการชุบแข็งต่างระดับหรือดิฟเฟอเรนเชี่ยลฮาร์ดเดนนิ่งแบบนึงในบรรดาหลายๆแบบ

แบบดั้งเดิมของเอบีเอสคือแบบที่ใช้ของที่เรียกกันว่า platform หรือ regulator หรือ level plate หมายถึงอย่างเดียวกันคือเป็นแท่นหรือกล่องสำหรับตั้งความลึกในการกินน้ำมันของใบมีดร้อนแดง คือใช้อ่างน้ำมันใส่น้ำมันลงไป สมมุติว่ามีความลึก 10 เซ็นต์ แล้วใส่กล่องเหล็กลงไปกล่องนึง ต่ำกว่าระดับน้ำมันลงไป 2 เซ็นต์ ถ้าเราวางใบมีดร้อนแดงลงไป มันก็จะลงไปลึกได้แค่ 2 เซ็นต์ และแข็งเป็นแนว 2 เซ็นต์หน้าคมมีดขึ้นมา แต่วิธีนี้ก็ต้องมียกโคนใบมีดขึ้นเป็นจังหวะด้วยนะครับ เป็นการชุบปลายมีด คือถ้าวางไว้เฉยๆ ก็ชุบใบมีดทรงมีดอีโต้ได้ แต่ถ้าชุบมีดทรงอื่น ปลายมันจะโผล่พ้นน้ำมัน ก็ต้องขยับด้วยการกดปลายมีดลงไปให้จุ่มอยู่ใต้น้ำ

วิธีที่ว่ามาก็ดี ผมใช้เป็นบางครั้ง แต่ที่ผมชอบทำจริงๆคือวิธีของไต กู ที่เรียกว่าเรนโบว์ไลน์ Rainbow line

ไต กู เป็นช่างมีดที่ผมโปรดปรานหรือนับถือมากๆท่านหนึ่ง งานของไตกูอันไหนดิบจะโคตรดิบ อันไหนหวานจะโคตรหวาน ผสมผสานกลมกลืนกันอย่างลงตัว โดดเด่นเป็นเอกแตกต่างจากผู้ใดในปฐพี

วิธีอบชุบหรือชุบแข็งใบมีดของไต กู มีวิธีนึงที่เห็นชัดจนกลายเป็นลักษณะเด่นของมีดจากแหล่งนี้คือการชุบแข็งใบมีดเล่นระดับที่เรียกว่าเรนโบว์ไลน์
วิธีทำจริงๆเหมือนง่าย ง่ายมากๆ แต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะแยกของดีสุดยอดออกจากความเสียหาย คือเผาใบมีดให้ร้อนได้ที่ จุ่มลงไปตรงๆในอ่างนอน การจุ่มครั้งแรกสำคัญที่สุด คือสร้างแนวแข็ง คือแนวแข็งสูงสุดตามที่เหล็กกล้าจะฟอร์มตัวคาร์บอนให้กลายเป็นมาร์เทนไซต์ได้ ครั้งแรกนี่สำคัญ คือจุ่มแค่ไหนมันก็จะแข็งแค่นั้นครับ ใช้เวลาผ่านไปช่วงนึงก็ลดระดับลงไปอีก หนึ่งครั้ง ก็จะได้แนวระดับที่ความแข็งลดลงกว่าเดิม รอเวลาและจุ่มลดระดับลงไปอีกก็จะได้แนวเส้นซึ่งแข็งต่างกันอีกแนวนึง

ก็ทำได้ซัก 4-5 ทีเป็นอย่างมาก ความร้อนก็จะลดลงจนไม่มีผลอะไรกับการชุบแข็ง ก็จะได้แนวชุบแข็งต่างระดับ คือแบ่งเป็นเส้น สี่ห้าเส้น ใบมีดแบบนี้จะได้คุณสมบัติที่ดี คือหน้าคมแข็ง ตรงกลางมีดมันแข็งอยู่บ้างแต่ไม่เท่าด้านหน้า ออกไปทางแข็งๆเหนียวๆสปริงๆ และส่วนสันมีดจริงๆจะเป็นเหนียว เพื่อซึมซับแรงสะเทือน วิธีนี้เป็นที่รู้จักกันว่าเรนโบว์ไลน์ คือเปรียบแนวเส้นชุบแข็งแต่ละเส้นเป็นแนวหรือสีของสายรุ้ง

มีดใหญ่ผมมักจะชุบแข็งด้วยวิธีนี้ครับ พวกมีดฟันไม้ มีดอีโต้ มีดอีเหน็บ มีดสับต่างๆ มันให้ใบมีดที่ทำงานได้ดี และยุ่งยากน้อยกว่าการพอกโคลนแบบญี่ปุ่นหลายอยู่ ใช้ได้กับเหล็กคาร์บอนแบบพื้นๆ เน้นที่ 5160 หรือ SUP9 เป็นหลัก

แต่ก็ใช้ได้กับเหล็ก S50C , SK5 , W1 พวกตะไบต่างๆก็ทำได้ครับ นอกนี้ผมไม่แน่ใจนัก เพราะไม่เชี่ยวชาญ ไต กูเองนิยมทำบนใบมีด 1065 ก็คือเหล็กคาร์บอน 65 ป็อยท์ ใกล้เคียงกับ 5160 นี่เหมือนกัน แหนบสปริงทั่วๆไปก็ทำได้นะครับ ถ้าแน่ใจการชุบแข็งหรือกระบวนการอบชุบ ที่แหนบแต่ละแผ่นแต่ละยุคสมัยใช้เหล็กต่างกันไปบ้าง ก็ต้องปรับกระบวนการให้ต่างกัน ถ้าบอกตามตรงคือแนะนำให้ใช้ SUP9 ไปเลยจะคุมการชุบแข็งได้ดีกว่า

วิธีนี้จะให้แนวชุบแข็งที่เป็นเส้นตรงคือจากโคนใบมีดส่วนหน้าหรือคม แล้วตรงทะแยงไปหาสันมีดส่วนปลายๆ มันมีจังหวะที่พอดีๆของใบมีดแต่ละใบหรือแต่ละทรงอยู่ ไม่แน่นอน มีดเป็นของตาย คนจึงเป็นของเป็น ดัดแปลงพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์และความเป็นตัวเอง ถ้าเส้นนี่ต่ำเกินก็มีคมแข็งส่วนโคนน้อยเกิน ลับได้ไม่กี่ปีก็จะหมดคมเอาซะอีก ถ้าจุ่มลึกเกินก็จะกลายเป็นเหมือนไม่ได้ทำอะไร เหมือนกินน้ำมันลงไปดื้อๆ แข็งอย่างเดียว ไม่เหนียวไม่เด้ง

ถ้าเทียบกับการชุบแข็งบนแผ่นระดับของเอบีเอสแบบดั้งเดิม อันนั้นจะให้แนวคมที่โค้งไล่ไปตามคมมีด เหมือนๆกับการชุบแข็งในแบบอินดักชั่น ก็ให้อารมณ์หรือความรู้สึกขณะชมไปอีกแบบนึง แต่การใช้งานแล้วก็เหมือนๆกัน คือได้สันมีดในส่วนที่คงสภาพความเหนียวใช้ซับแรงสะเทือนในการทำงานหนักๆ ใบมีดแบบนี้นอกจากซับแรงสะเทือนให้กับใบมีดเอง คือให้ใบมีดแข็งแกร่งทนทาน ยังซับแรงสะเทือนให้มือด้วย คือแรงปฏิกิริยาจากการฟันหรือการกระทบเป้า ถูกผ่อนให้ลดลงในส่วนของเหล็กเหนียว ไม่ได้ส่งผ่านมาถึงอุ้งมือโดยตรง

การชุบแข็งแบบแผ่นระดับ ก็ให้เส้นชุบแข็งแบบเรนโบว์ไลน์ได้เหมือนกัน จากการเพิ่มระดับการกินน้ำมัน หรือจุ่มใบมีดให้ลึกลงไปอย่างเป็นขั้นตอน ผมเห็นมีช่างหลายท่านที่ชุบแข็งด้วยวิธีนี้ ผมก็เคยลองเล่นอยู่บ้าง

ขอบันทึกไว้เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ การชุบแข็งใบมีดต่างระดับ ที่ผมคิดว่ายอดเยี่ยมที่สุด และผมเองยังไม่สามารถทำได้ คือการชุบแข็งใบมีดแบบดับเบิ้ลเทมเปอร์ไลน์ หรือจะเรียกให้ถูกหลักการว่าดับเบิ้ลฮาร์ดเด้นไลน์ ของช่างทำมีดที่ชื่อ ไมค์ หรือไมเคิล มานาบี ผมเองยังทำไม่ได้ เหนือไปกว่านั้นนอกจากดับเบิ้ลเทมเปอร์ไลน์แล้ว มานาบียังมี ทริปเปิ้ลไลน์ คือมีเส้นแข็งถึงสามเส้น จะให้โค้งตามกัน โค้งหนีกันคนละทิศละทาง มานาบีทำได้หมด แต่ผมทำไม่ได้

ถัดจากสายรุ้งขึ้นไปจะมีอะไรอยู่บนนั้น ถ้าคิดด้วยหลักความเป็นจริงคงยากที่จะได้คำตอบ สายรุ้งแสนสวย เกิดหลังฝนตก ท้องฟ้าแจ่มใสด้วยแสงแดด สายรุ้งจึงเกิด ความชุ่มฉ่ำจากสายฝนและได้รับการปลดปล่อยจากความแห้งแล้ง นับเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ ไม่ว่ามันจะมีสายรุ้งหรือไม่ หรือถัดจากสายรุ้งขึ้นไปจะมีสิ่งใด หรือไม่มีสิ่งใด ความฝันจริงๆแล้วก็คือความจริงชนิดหนึ่ง ความจริงที่ได้ฝัน ความฝันจริงๆ วิมุตติก็จริงตามวิมุตติ สมมุติก็จริงตามสมมุติ ขอเพียงก่อกำเนิดขึ้นมาย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของความจริง

รู้อยู่แก่ใจว่าฝัน ย่อมรู้อยู่แก่ใจเมื่อมันกลายเป็นความจริง หรือยังไม่กลายเป็นความจริง ชีวิตเป็นสิ่งสวยงาม ตราบใดที่มีชีวิต ตราบนั้นเรายังมีความฝัน ฝันถึงสิ่งสวยงาม บางทีวันนี้ฝนอาจจะตก กบเขียดที่บ้านมันคุยกันว่าอย่างนั้น ไม่แน่ใจว่าจะมีสายรุ้งไหม แต่ที่แน่ใจคือผมคงนึกถึงและเฝ้าคอยมัน

นกสีน้ำเงินตัวน้อย จะใช่นกกระเต็นรึเปล่า

If happy little bluebirds fly
Beyond the rainbow.
Why, oh, why can’t I?

หากนกบลูเบิร์ดตัวเล็ก ๆ ได้โบยบินอย่างเป็นสุข
เหนือสายรุ้งที่พาดผ่าน
ทำไมนะ ทำไมฉันถึงทำไม่ได้ล่ะ

นั่นสินะ ทำไม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่