JJNY : 5in1 ศิริกัญญาหวั่นคดีพิรงรอง│โรมชี้ตัดไฟแค่ก้าวแรก│ณัฐชายื่นตรวจสอบตัวเอง│กัณวีร์จี้รบ.│ยอด‘เทสลา’ในเยอรมนีร่วง

ศิริกัญญา หวั่นคดีพิรงรอง ทำเอฟเฟ็กต์ ระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุล ยันเรื่องจริง ลาออกแลกถอนฟ้อง
https://www.matichon.co.th/politics/news_5036863
 
 
‘ศิริกัญญา’ หวั่น คดี ‘พิรงรอง กสทช.’ ถูก จำคุก 2 ปี ทำกลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลสั่นสะเทือน ชี้ควรแก้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุอาจผวาจนกระทบการทำหน้าที่ เผย ลือบีบลาออกแลกถอนฟ้องเป็นเรื่องจริง
 
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา นางพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ มีความผิดตามมาตรา 157 ให้มีโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ นางพิรงรอง รามสูต
 
โดย น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า กรณีนี้ทำให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลสั่นสะเทือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแล กลับถูกฟ้องในฐานะที่ถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยหน้าที่ตรงนั้น ก็ต้องมีการถกกันว่า ตกลงมีหรือไม่มี และอำนาจเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาจริงๆ คือเจตนามากกว่า เนื่องจากต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภค
 
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า เราจึงอยากเรียกร้องว่า ควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแล ไม่ใช่แค่เฉพาะ กสทช. แต่ยังมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
 
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า หากเราดูจากการที่ศาลตัดสินในวันนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า ในอนาคตหากจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตามที่มีระบุในกฎหมาย จะถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องหรือไม่ และจะทำให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่สร้างกลไกตรวจสอบกำกับดูแลได้อย่างเดิมได้หรือไม่
 
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า กฎหมายที่จะช่วยในเรื่องนี้ เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ พรรคประชาชนได้ยื่นเข้าสู่สภาเรียบร้อยขณะนี้อยู่ในชั้นที่คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณา เพื่อต่อต้านการฟ้องปิดปาก เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ถูกฟ้องร้องในการปฏิบัติหน้าที่
 
เมื่อถามย้ำว่ามองว่าเป็นการฟ้องปิดปากใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ใช่ คิดว่าเข้าข่ายกรณีฟ้องปิดปาก เพราะกระบวนการสามารถร้องเรียนได้ หากได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากผู้ดูแล ซึ่งบริษัทเอกชนก็ใช้กลไกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นช่องทางลัดขั้นตอน และเป็นไปเพื่อให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองไม่สามารถเข้าร่วมในกลไก กสทช. ต่อจากนี้ และไม่สามารถเข้าไปพิจารณาได้แล้ว
 
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จากจำนวนคณะกรรมการ กสทช.เดิมมี 7 คน มีเสียงฝั่งประธานประมาณ 3 และเสียงข้างมากในฝ่ายนางพิรงรอง อีก 4 คน แต่ตอนนี้กลายเป็นเหลือ 3 ต่อ 3 เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจต่างๆ มีความหมายมากขึ้น ไม่ได้ง่ายดายเหมือนที่ผ่านมา ส่วนผลที่ตามมาหลังจากนี้ ยังมีสิ่งที่เราต้องติดตามอยู่อีก และกรณีควบรวม ทรู-ดีแทค แล้ว คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ก็ยังติดตามความคืบหน้าอยู่ และเห็นว่ามีหลายมาตรการและเงื่อนไข เฉพาะภายหลังการอนุญาต หลายเรื่องก็ล่าช้ากว่ากำหนด อย่างการตั้งที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบค่าบริการ
 
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า หากกลไกการกำกับดูแล เกิดชะงักงันขึ้นมา เนื่องจากอาจมีหลายคนผวาจากการถูกฟ้อง จะยิ่งทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ก็ยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก และตนไม่เชื่อว่าเป็นเฉพาะกรณีนี้ แต่กรณีควบรวม AIS-3BB ก็อาจจะซ้ำรอยด้วยเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นเอกชนคนละราย แต่อาจทำให้องค์กรที่กำกับดูแล ทำการคุ้มครองผู้บริโภคย่อหย่อนลง
 
ส่วนกระแสข่าวมีการยื่นข้อเสนอให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองลาออกจาก กสทช. แลกกับการถอนฟ้องในคดีนั้น น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เท่าที่ได้ยินมา ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และน่าจะยิ่งกว่าคนใน ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อรองแลกถอนฟ้องกับการลาออกจาก กสทช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ เนื่องจากดูเหมือนจะมีการรู้ล่วงหน้า ตั้งแต่วันก่อนหน้าวันตัดสินว่าผลตัดสินจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก เพราะไม่ควรมีใครล่วงรู้มาก่อน ตอนแรกตนเองก็ยังไม่อยากจะเชื่อ คิดว่าคงต่อรองแค่ให้ไม่สามารถเข้าร่วมการตัดสินใจได้เฉยๆ แต่ไม่คิดว่าผลการตัดสินจะเป็นไปตามที่ข่าวลือมา ทั้งนี้ เราคงทำได้เพียงตรวจสอบคู่ขนานกันไป เพราะเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และสิ่งที่ต้องเร่งคือเรื่องการทำกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปากให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงการแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการ OTT (Over the top) เพื่อควบคุมกำกับดูแลสื่อตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย สำหรับเรื่องคำพิพากษา คงจะต้องมีการสู้ต่อไปในหลายชั้นศาล ทั้งอุทธรณ์และฎีกา คิดว่านางพิรงรองมีสิทธิในการต่อสู้คดีนี้จนถึงที่สุด

เมื่อถามว่า กสทช.คนอื่นๆ ควรจะออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีบ้างหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เราอยากเห็นความเป็นปึกแผ่น ที่จะออกมาส่งเสียง และให้กำลังใจกัน เพราะของอย่างนี้ถ้าไม่เจอกับตัวก็คงไม่รู้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ตนก็กังวลและอยากให้กำลังใจกับ กสทช.ทุกคน ว่าอย่าเป็นกังวลมากเกินไป ยืนหยัดทำหน้าที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องดีกว่า
 


โรมชี้ ตัดไฟ แค่ก้าวแรก แนะรบ.ไล่บี้จุดอื่น-ขยายผลถึงคนมีสี รับมีข้อมูลโยงเว็บพนันด้วย
https://www.matichon.co.th/politics/news_5036317

‘กมธ.ความมั่นคงฯ’ เรียกหน่วยงาน ถามความคืบหน้า หลังตัดไฟ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ชี้ เป็นเพียงก้าวแรก ควรเพิ่มมาจากการอื่นอีก-ขยายผลถึงคนมีสี เป็นลมใต้ปีก หนุนทุนเทา ย้ำ ต้องทลายทั้งโครงสร้าง ปราบปรามไม่ให้กลับมาโต เผย เตรียมให้ข้อมูล ‘ตำรวจไซเบอร์’ เอี่ยวโยง ‘เว็บพนัน’
 
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมเพื่อพิจารณาและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงิน การใช้บัญชีม้าในขบวนการยาเสพติดที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟบริเวณชายแดนของไทยกับประเทศเมียนมา โดยเชิญหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เข้าร่วมประชุม
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ในปัจจุบันทางรัฐบาลไทย ได้ตัดสินใจมีคำสั่งตัดไฟ ตัดอินเตอร์เน็ต และน้ำมัน ซึ่งวันนี้ตนก็เชิญหลายงานเข้าร่วมประชุม เพื่อพูดคุยกันว่าตกลงแล้วมีความคืบหน้าอย่างไร รวมถึงเรื่องข้อสัญญาต่างๆ โดยสิ่งที่เราจะต้องติดตามต่อไป คือเราต้องยอมรับความจริงก่อนว่า การตัดไฟ อินเตอร์เน็ต น้ำมัน อาจจะไม่เพียงพอทั้งหมด แต่เป็นก้าวแรก ก็ต้องมีก้าวที่สองและสามต่อไป เพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์
 
ทั้งนี้ ตนยังมีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนัน รวมถึงตัวบุคคลผู้เกี่ยวข้อง และนายตำรวจยศไม่ได้เยอะมาก ซึ่งจะมอบให้ตำรวจไซเบอร์ต่อไป แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ในขณะนี้ เนื่องจากเครือข่ายจะรู้ตัว โดยในสัปดาห์หน้า ก็จะมีการพิจารณา กรณีท่าข้ามด้วย เนื่องจากในแง่ความมั่นคง เอื้อต่อการนำสิ่งของผิดกฎหมายข้ามไป
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนตั้งข้อสังเกตว่า จุดจ่ายไฟของเมียนมาไม่ได้มีแค่ 5 จุด ยังมีอีกหนึ่งจุดที่ไม่ได้ตัด ซึ่งคงต้องถามหน่วยงานที่เข้ามา ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ได้ รวมถึงจะมีการขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ ด้วยหรือไม่ เนื่องจากทั้งฝั่งกัมพูชา และ สปป.ลาว ก็มีไฟฟ้าที่เราขายให้ถึง 18 จุด ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่า จะถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดมากแค่ไหน
 
ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลและประชาชนให้ความสนใจในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่การจะทำอย่างไรให้หมดไป นี่คือความท้าทาย” นายรังสิมันต์กล่าว
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีกาสิโนและเว็บพนันในพื้นที่ปอยเปต เนื่องจากมีข้อบ่งชี้บางอย่างไปในทางนั้น แต่การจัดการในพื้นที่ปอยเปต หรือเมียนมา อาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งก็คงต้องติดตามดูต่อไปว่า จะมีวิธีการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ขณะเดียวกัน เรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นเรื่องที่ชาวไทยเจอปัญหาค่อนข้างมาก วันนี้เราจะต้องทำอย่างไร ให้เกิดความรวดเร็วที่สุด เจ็บแต่จบ นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นให้ได้ ส่วนกรณีเมียนมาซื้อไฟจาก สปป.ลาวมาแทนนั้น ก็ข้อมูลที่มีค่อนข้างแปลกประหลาด เพราะ สปป.ลาวมีการซื้อไฟจากเราเช่นเดียวกันถึง 3 จุด ซึ่งต้องติดตามต่อว่า มีความเชื่อมโยงของไทยด้วยหรือไม่
 
ส่วนกระแสข่าว สปป.ลาวอาจนำไฟที่ซื้อจากไทยไปขายต่อให้เมียนมานั้น ตนยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า แต่คำถามนี้ ก็จะเป็นคำถามที่จะนำไปถามการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่ามีความเป็นไปได้เช่นนั้นหรือไม่ เพราะเป็นจุดที่ใกล้กัน
 
“ยังไม่จบหน้าที่ของรัฐบาล เนื่องจากจัดการเพียงแค่ฝั่งเดียว แต่อาชญากรข้ามชาติมีอยู่หลายที่ ดังนั้น ภารกิจจะยังไม่จบ เนื่องจากหากจะคิดว่าแค่ตัดไฟ อินเตอร์เน็ต น้ำมัน อาจจะไม่พอ เพราะยังมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องทำ สิ่งที่เราอยากจะจัดการคือระบุเป็น Pin Point เพื่อระบุพิกัดที่ชัดเจน เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่า อาคารของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่ไหน รวมถึงต้องมีการตัดสินใจที่จะให้มีการเปิดหรือปิดท่าข้าม ซึ่งก็เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย และต้องดูว่ามีแนวทางจัดการอย่างไร เพราะหากไม่มีมาตรการที่ดีพอ ผมมองว่า ควรลดจำนวนเท่าที่จำเป็น เนื่องจากมีบางท่าข้ามตั้งอยู่ตรงข้ามกาสิโน หรือคอลเซ็นเตอร์ด้วย
 
เมื่อถามถึง ผลกระทบจากการตัดไฟต่อประชาชนในพื้นที่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า เราพยายามจัดการผู้กระทำความผิด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้กระทำผิดเหล่านี้ เขาเอาประชาชนในพื้นที่เป็นตัวประกัน ซึ่งก็ต้องระวังไม่ให้นโยบายของเรา กระทบหรือละเมิดสิทธิใครแน่นอน แต่ปัญหาคือเรามีทางเลือกนโยบายอะไรบ้าง เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว ก็มีความยากอยู่เหมือนกัน และไม่มีนโยบายไหน ที่อาจไม่มีผลกระทบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องชั่งน้ำหนักกัน ส่วนตัวมองว่ามีความจำเป็นอยู่ จากคำตอบที่ กฟภ.ชี้แจงว่า ไฟที่ขายนั้นเทียบเท่ากับปริมาณห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ใช้ ซึ่งบริเวณนั้น ก็มีทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกาสิโน ตนจึงสัยว่าไฟฟ้าที่จะตกถึงประชาชนจริงๆ คือเท่าไหร่
 
หากอยากแก้ปัญหานี้ สิ่งที่ต้องทำ คือจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เร็วที่สุด ถ้าเราทำได้เมื่อไหร่ การที่จะกลับมาพูดคุยในเรื่องไฟฟ้ากันอีกครั้ง ก็ยังไม่ขาดความเป็นไปได้ ดังนั้น จึงต้องจัดการเรื่องนี้ให้เร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายให้ได้มากที่สุด” นายรังสิมันต์กล่าว
 
ส่วนกรณีมีการเริ่มกักตุนน้ำมันนั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า อย่างที่ตนบอกไปว่า ทำแค่นั้นไม่พอ แต่เราต้องมีมาตรการอื่น ที่ต้องจัดการสลายโครงสร้างทั้งหมด ความสำเร็จที่พอเป็นไปได้ในตอนนี้ คือการทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่โตไปกว่านี้ ขณะที่เรื่องน้ำมัน ก็ต้องดูว่าเขาจะพึ่งพาน้ำมันได้นานขนาดไหน หรือเครื่องปั่นไฟเอง ก็ใช้งานไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยืนยันว่า มาตรการนี้ยังมีความจำเป็น แต่ต้องเพิ่มมาตรการอื่นด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่