JJNY : 4in1 อนุดิษฐ์ชี้ศก.ตกต่ำก่อนม็อบ/ศิริกัญญาติงกขค./เชิญอดีตกรธ.แจงร่างฉบับ60/วิษณุบอกไม่รู้ ปมตู่พักบ้านทหาร

'อนุดิษฐ์' ชี้ เศรษฐกิจตกต่ำก่อนม็อบ เรียกร้อง รบ.อย่า 2 มาตรฐาน 'จับแค่บางฝ่าย'
https://voicetv.co.th/read/zesvIC_rA
 

 
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงมาเรื่อยๆ นานแล้ว ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจ ไม่ใช่เพราะม็อบ ขอเจ้าหน้าที่รัฐอย่า 2 มาตรฐานไม่เท่าเทียม จับอีกฝ่าย ปล่อยอีกฝ่าย
 
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตำหนิการชุมนุมของม็อบต่างๆ ทั่วประเทศว่าสร้างความเสียหาย และเป็นอุปสรรคกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งม็อบชุมนุมยืดเยื้อมากเท่าไหร่ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากเท่านั้นว่า ตนเองไม่เห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวโทษนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเพียงฝ่ายเดียว เพราะม็อบในปัจจุบันไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่เคยใช้มวลชนบุกเข้ายึดสถานที่ราชการจนรัฐบาลทำงานไม่ได้เหมือนกับที่บุคคลสำคัญของรัฐบาลนี้เคยทำในอดีต ดังนั้นการชุมนุมที่เกิดขึ้น จึงไม่น่าส่งผลกระทบกับการบริหารราชการของรัฐบาลและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด แต่ที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ น่าจะเกิดจากตัวของผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ เอง ที่ถูกกล่าวหาจากคนส่วนใหญ่ของประเทศว่าเป็นผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ไม่เท่าทันโลกมากกว่า เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงมาเรื่อยๆ นานแล้ว ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจ ดังนั้นถ้ายังวิสัยทัศน์คับแคบมองปัญหาที่แท้จริงไม่ออก ตนเองเกรงว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ได้รับการแก้ไข และคนไทยต้องยากจนลงไปเรื่อยๆอย่างแน่นอน
 
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติเริ่มตึงเครียด ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบสวัสดิภาพชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน จึงต้องย้ำผู้รับผิดชอบและเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธทุกคนว่า อย่าได้เป็นผู้ที่สร้างเงื่อนไขความรุนแรงเสียเอง เพราะช่วงนี้เริ่มสังเกตุเห็นว่ามีการสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนการชุมนุมอยู่เนืองๆ จึงควรเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระมัดระวังเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายหรือเหตุปะทะกันขึ้นระหว่างผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่บกพร่องเองเป็นอันขาด
 

 
'ศิริกัญญา' ติง กขค.เปิดคำวินิจฉัยช้า ทำน่าเชื่อถือต่ำ ปมควบรวม 'ซีพี-เทสโก้'
https://voicetv.co.th/read/VCN87E7ax
 
ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้การอธิบายเรื่องขอบเขตตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ปมควบรวม 'ซีพี-เทสโก้' อำนาจเหนือตลาด ชี้ กขค.เปิดคำวินิจฉัยล่าช้า ทำขาดความน่าเชื่อถือ ระบบเศรษฐกิจเสียหาย
 
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมอภิปราย "ถอดบทเรียนซีพีควบรวมเทสโก้ ใครได้ใครเสีย ?" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 
 
ศิริกัญญา กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันพุธที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจเชิญ คณะกรรมการแข่งขันการค้า (กขค.) มาชี้แจง แต่ทางประธานคณะกรรมการแข่งขันการค้าได้มอบหมายให้ทางเลขาธิการสำนักงานแข่งขันทางการค้ามาตอบชี้แจงแทน ซึ่งในหลายคำถามที่ทางกรรมาธิการได้สอบถาม ทางเลขาธิการฯ มักกล่าวอ้างเรื่องยังไม่สามารถตอบชี้แจงลงรายละเอียดได้ต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มเสียก่อน 
 
อย่างไรก็ตาม คงต้องตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ แต่คำวินิจฉัยฉบับเต็มกลับยังไม่ออกมา ทำให้สังคมยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของคณะกรรมการที่ตัดสินใจเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงส่งผลทำให้การวิเคราะห์ยังคงทำได้จำกัด
 
“การเปิดเผยคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ทางเลขาธิการฯ ได้ชี้แจงในวันนั้นว่าทางคณะกรรมการมีนโยบายว่าจะไม่เปิดเผยฉบับเต็ม หากไม่มีการร้องขอ จะเปิดแค่คำวินิจฉัยฉบับย่อเท่านั้น แต่ก็พบว่าที่ผ่านมาแม้แต่คำวินิจฉัยฉบับย่อก็ไม่ได้เปิดเผยแต่อย่างใด เช่น คำวินิจฉัยกรณีโอสถสภาที่กรณีนั้นเป็นคดีใหญ่ มีการปรับเงินกัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยทั้งคำวินิจฉัยฉบับเต็มและฉบับย่อแต่อย่างใด ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและสำนักงานฯ จำเป็นต้องโปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือ เพราะจะเป็นจิตวิทยาทางสังคมที่มีต่อความสำคัญของคณะกรรมการฯ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
 
"หากโปร่งใสมาก ก็ยิ่งได้รับความเชื่อถือ เป็นการตั้งมาตรฐานในการทำงาน เมื่อคนเชื่อถือ ต่อไปหน่วยงานต่างๆ สาธารณชนก็จะรับฟังความเห็นแล้วนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจต่างๆด้วย แต่หากไม่น่าเชื่อถือแล้ว คนไม่เชื่อ ก็จะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ" ศิริกัญญา กล่าว
 
นิยามตลาดไม่เป็นธรรม
 
ศิริกัญญา ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่มีการพิจารณาและอภิปรายกันในวันนั้น ประเด็นเรื่องขอบเขตตลาดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจำเป็นต้องนิยามให้ชัดว่า กำลังพูดถึงตลาดอะไร ได้มีการสอบถามกับทางเลขาธิการสำนักงานแข่งขันทางการค้าว่าคณะกรรมการแข่งขันการค้าใช้คำนิยามตลาดอย่างไรในการพิจารณา
 
คำตอบที่ได้รับคือทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแบ่งตลาดออกเป็น 2 ตลาดใหญ่ๆ คือ ตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีก
 
โดยตลาดค้าส่งประกอบด้วยผู้เล่นคือแมคโครและผู้ค้าส่งในท้องถิ่น และในตลาดค้าปลีกนั้นสามารถแบ่งออกต่อไปได้อีก 3 ตลาดคือ
 
1. ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) โดยเทสโก้ โลตัส อยู่ในตลาดนี้
2. ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ตลาดโลตัสอยู่ในตลาดนี้ 
3. ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) มี 7-11 และโลตัส เอ็กเพรส อยู่ในตลาดนี้
 
“การแบ่งแบบนี้ทำให้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีการไปตีความว่าโครงสร้างตลาดของหลายๆ ตลาดไม่เปลี่ยนหลังการควบรวมกิจการ โดยมีการบอกว่าโครงสร้างตลาดจะเปลี่ยนมีเพียงตลาดค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อเท่านั้น ทำให้ตลาดอื่นๆ ไม่ถูกนำเอามาพิจารณาผลกระทบเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดหลังการควบรวม
 
โดยทางเลขาธิการฯ ยอมรับว่าตลาดค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อมีอำนาจเหนือตลาดจริงเพราะภายหลังการควบรวมร้านค้าสะดวกซื้อที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทย อย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่เป็นของบริษัท ซี.พี. รีเทลฯ และร้านค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 อย่างร้านเทสโก้ เอ็กเพรส ที่เป็นของบริษัทเทสโก้ สโตร์สฯ รวมกันเป็นเจ้าของเดียวกันส่งผลให้เป็นการเพิ่มการกระจุกตัว ลดการแข่งขัน
 
ทั้งนี้การที่ไปตีความว่าแมคโครที่เป็นของบริษัท ซี.พี. อยู่ในขอบเขตตลาดแบบค้าส่ง ทำให้ไม่ได้เอามาพิจารณาผลกระทบและพิจารณาอำนาจเหนือตลาด ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคหลายๆ ครั้งก็มีการไปซื้อที่ไหนก็ได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยราคาถูกหรือใกล้ที่พักอาศัย นั่นหมายความว่าอาจเป็นตลาดที่ทดแทนกันได้ โดยแม้ว่าแมคโครจะมีการขายแบบเป็นโหลและยกแพคสินค้าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช่ตลาดที่ทดแทนกันได้ จึงจำเป็นต้องมาพิจารณาผลกระทบด้วย” ศิริกัญญา กล่าว
 
ศิริกัญญา ยังแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการที่ทางคณะกรรมการไม่ได้ไปสำรวจตลาดเชิงภูมิศาสตร์ โดยกล่าวว่า ตลาดภูมิศาสตร์จำเป็นต้องไปดูด้วย โดยการไปดูในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ไม่สามารถดูเฉพาะตลาดทั้งประเทศได้เท่านั้น ซึ่งทางเลขาธิการได้ชี้แจงต่อประเด็นนี้ว่าที่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนดให้เวลาไว้เพียง 90 วันและขยายได้ไม่เกิน 15 วัน ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปดูได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจได้เชิญเลขาธิการเข้ามาชี้แจง มีพบเจอกันมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการพบเจอกันในครั้งแรกก็ได้มีการพูดคุยกันว่าทางสำนักงานคณะกรรมการฯต้องทำงานเชิงรุก ต้องไปศึกษาตลาดที่สุ่มเสี่ยงจะใช้อำนาจเหนือตลาดของธุรกิจรายใหญ่ด้วย และได้มีการสอบถามไปด้วยว่ามีตลาดใดบ้างที่มีความสุ่มเสี่ยง และเริ่มทำไปบ้างแล้วหรือไม่ ทางเลขาธิการฯ ได้ชี้แจงว่าได้มีการจ้างที่ปรึกษาให้ไปศึกษาแล้วว่าต้องสำรวจตลาดใดบ้าง
 
เมื่อพบกันครั้งต่อมาทางเลขาธิการฯ ก็มีการชี้แจงว่าทางที่ปรึกษาได้ทำเสร็จแล้ว พบว่ามี 6 ตลาดที่มีความสุ่มเสี่ยงซึ่งตลาดค้าปลีกเป็นหนึ่งในนั้น แต่สุดท้ายก็อาจไม่ได้ลงไปศึกษาในรายละเอียดต่อแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้เรื่องกรอบเวลา 90 วันอาจจะเป็นปัญหาจริง แต่หากทำงานเชิงรุกและมีการเตรียมการก่อนหน้านี้อาจจะสามารถศึกษาได้ทัน นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องตลาดทางภูมิศาสตร์ ทางเลขาธิการฯได้กล่าวอ้างว่าทางคณะกรรมการได้พิจารณาชั่งน้ำหนักดูแล้วว่าในประเด็นนี้ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดในระดับพื้นที่เพราะราคาถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ซึ่งแท้จริงแล้วมีบางอย่างที่เป็นปัจจัยในระดับท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าเกิดการแข่งขันน้อย อาจจะส่งผลต่อการจ้างพนักงานน้อยลง การบริการแย่ลง สินค้าอาจจะสดใหม่น้อยลง ระยะเวลาเปิดปิดก็อาจจะไม่เท่ากัน รวมถึงอาจมีการพิจารณาปิดสาขาบางสาขาที่เมื่อมาดูแล้วทำยอดขายได้ไม่มาก เพื่อเหลือร้านค้าในเครือเพียงอันใดอันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทางเลือกและโอกาสของผู้บริโภคทั้งนั้น อีกทั้งก็ไม่ได้มีการไปตั้งเงื่อนไขเรื่องนี้ตามหลังออกมาเพื่อป้องกันผลกระทบ เช่น จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขว่าห้ามตั้งราคาแต่ละพื้นที่ให้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ราคาหมูแต่ละพื้นที่ของห้างบางเจ้าไม่เท่ากัน รวมทั้งหากย้อนกลับไป การที่ไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลตลาดก่อนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นดังสมมติฐานของคณะกรรมการหรือไม่ จะส่งผลที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหากสมมติฐานที่ตั้งไว้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกัน
 
เล็งใช้กลไกรัฐสภาตรวจสอบเต็มที่
 
ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า จากที่มีการพูดคุยและสอบถามกันในคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจต่อกรณีการควบรวมครั้งนี้ การอุทธรณ์จะทำได้ก็แต่บริษัทซีพีเท่านั้น หากไม่พอใจคำตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า สามารถยื่นอุทธรณ์ได้แต่ต้องทำภายใน 60 วัน ซึ่งก็เข้าใจว่าทางซีพีไม่น่าจะอุทธรณ์คำตัดสินแต่อย่างใด ในกรณีของประชาชนที่ทำได้หากไม่พอใจคำตัดสินของคณะกรรมการฯ คือการไปฟ้องต่อศาลปกครอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางศาลปกครองอาจยกคำร้องหรือตัดสินว่าประชาชนไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีที่ประชาชนรวมตัวกันฟ้องศาลปกครองเรื่อง CL ยา ศาลปกครองก็อาจจะวางบรรทัดฐานคล้ายๆ แบบนี้ก็ได้
 
อย่างไรก็ตามตนเองในฐานะผู้แทนราษฎรและเป็นประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็จะใช้กลไกที่มีอยู่ทำการตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพราะกลไกรัฐสภาอาจเป็นกลไกเดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้ แต่ด้วยอำนาจของคณะกรรมาธิการที่มีอยู่อาจกำกับดูแลได้ห่างๆ สำนักงานแข่งขันทางการค้าก็มีสถานะพิเศษไม่ได้สังกัดกรมหรือกระทรวงใด ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และในส่วนของคณะกรรมการเองก็มีความเป็นอิสระ ซึ่งเราก็อยากให้ทั้งกรรมการและสำนักงานดำรงความอิสระแต่ต้องไม่อยู่เหนือการตรวจสอบ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือช่วยกันคิดในโจทย์ที่ว่าใครจะเป็นผู้มากำกับดูแลองค์กรและคณะกรรมการที่อิสระเหล่านี้ นอกจากนี้ในส่วนของการทำงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจก็เตรียมที่จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งกลไกนี้ก็จะเป็นทางออกหนึ่ง รวมทั้งสิ่งที่ต้องคิดและลงมือทำเพิ่มด้วยคือการต้องมีกลไกอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีของซัพพายเออร์ (Supplier) ที่มีข้อกังวลต่างๆ ต้องสามารถออกมาพูดเสนอแนะได้โดยที่จะไม่ได้รับผลกระทบและมีปัญหากับคู่ค้าซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องมีกลไกสนับสนุนภาคประชาชน เช่น สนับสนุนข้อมูลต่างๆ หากภาคประชาชนต้องการที่จะฟ้องร้องเมื่อได้รับผลกระทบกับการควบรวมกิจการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่