[รีวิว] พนอ - ต้นกำเนิดตำนานอำมหิต แต่ดันติดที่บทสุดเชย เลยแก้ทางด้วยคุณไสยสุดแข็งแรง

(1) หากพูดถึงไอคอนความสยองขวัญในโลกภาพยนตร์ของไทย ชื่อของ “ครูพนอ” น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ที่แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 20 ปี แล้ว แต่กลิ่นอายความสยองของลองของทั้งสองภาคก็ยังคงไม่ได้จางหายไปไหน มันยังคงรอคอยให้คนรุ่นใหม่ย้อนกลับไปสำรวจความน่าสยดสยองและความทรมานแบบถึงขั้วหัวใจ ที่อาจจะเทียบชั้นได้กับจักรวาล SAW ได้เลย แต่มีอำนาจไสยศาสตร์ลึกลับที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของหนังไทย เป็นสิ่งที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้

(2) ซึ่งในระยะหลังไม่เพียงแต่ในบ้านเรา แต่เหล่าผู้สร้างภาพยนตร์เริ่มมีการทยอยนำของเก่าที่เคยประสบความสำเร็จกลับมา ทำภาคต่อหรือไม่ก็รีเมคกันอย่างเนืองแน่น ซึ่งบ้างก็ดี บ้างก็เสียของไปก็มีให้เห็นไม่น้อย สำหรับจักรวาลลองของ ในส่วนของครูพนอ หรือ “พนอ” เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยมิติและเรื่องราวอันซับซ้อนเหมาะแก่การนำมาต่อยอดเหมือนกัน

(3) แต่เข้าใจได้ว่าลองของทั้งสองภาคในปี พ.ศ. 2548 และ 2551 นั้น ค่อนข้างจะมีบทสรุปที่ค่อนข้างแน่นอนสำหรับตัวละครพนอแล้ว และหากจะมีช่องว่างชีวิตที่เหลือให้ตัวผู้กำกับ ตั้ม-พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว หนึ่งในผู้กำกับที่ให้กำเนิดลองของ ได้เล่าออกมาเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง ก็เห็นทีจะเป็นเรื่องราวในวัยเด็กของตัวละครนี้ พร้อมๆ กับการเล่าที่มาของความดำมืด อดีตอันขมขื่น และผู้ใช้คุณไสยคนอื่นๆ ที่จะทำให้เรื่องราวของจักรวาลลองของมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้นด้วย

(4) ไม่ใช่แค่พนอเท่านั้นที่ถูกเติมแต่งตัวละครให้เป็นผู้ถูกกระทำอันน่าสงสาร เพราะนึกไวๆ ถึงฆาตกรต่อเนื่องสุดอำมหิตอย่าง “จอห์น เครเมอร์” หรือที่รู้จักกันในนาม “จิ๊กซอว์” ในภาคล่าสุดอย่าง SAW X ตัวละครนี้ก็ถูกล้างบาปโดยการพยายามเพิ่มมิติความเป็นมนุษย์? ให้กับตัวละคร ประหนึ่งผ้าขาวอันบริสุทธิ์แต่ต้องร้ายเพราะโลกบังคับให้เป็น ที่เป็นแบบนี้เพราะที่ผ่านมา แง่มุมของตัวละครนี้ถูกขุดคุ้ยจนพรุนไปหมดแล้วนั่นเอง คงเหลือแต่การเล่าในแนวมัลติเวิร์สแล้วที่ยังพอเหลืออยู่ แน่นอนตัวละครพนอก็อยู่ในชะตากรรมนี้ด้วยไม่ต่างกัน

(5) เมื่อต้องเล่าเรื่องอันน่ารันทดของสาวน้อยตัวเล็กๆ เป็นเรื่องยากที่จะเล่าเรื่องไม่ให้กลายเป็น “ละครหลังข่าว” หรือ “น้ำเน่า” นั่นแหละ ซึ่งสำหรับพนอแล้ว หนังเรื่องนี้หนีไม่พ้นคำสาปนี้เลยจริงๆ ตั้งแต่ พ่อแม่ทิ้ง ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน มีเพื่อนผู้แสนดีคอยช่วยเหลือ มีหนุ่มปากไม่ตรงกับใจ มีกลุ่มคนลึกลับพยายามจะเล่นงานอยู่ และอื่นๆ ที่มันต้องบอกตามตรงว่า “เชย” ไปหน่อยสำหรับหนังยุคนี้ ยังไม่นับรวมบทสนททนาที่ชวนให้เขินไม่น้อยอย่าง “คนที่จะทรมานเธอได้ มีแค่ชั้นคนเดียว” อีกนะ ซึ่งถือว่าเป็นแผลที่แก้ไม่หายสำหรับหนังไทยเรื่องนี้และอีกหลายๆ เรื่อง

(6) ก็อาจจะน่าเห็นใจนิดหน่อยตรงที่บทสรุปของพนอดูเหมือนเป็นเงื่อนตายจากลองของทั้งสองภาค มันทำให้หนังจำเป็นต้องเล่าโดยสุดท้ายแล้วก็จะต้องวกกลับมาให้ใกล้เคียงกับไทม์ไลน์ปกติ หลายๆ อย่างจึงขาดความสมเหตุสมผลไป อย่างการใช้พลังเทพสามตาของพนอก็เถียงกันไม่จบแล้วว่าตกลงพนอมีพลังนี้ตั้งแต่ตอนไหน หรือปลายทางของตัวละครที่หาทางลงได้มักง่ายมาก(แต่ก็หาทางอื่นยากจริงๆ) ยังไม่รวมการดำเนินเรื่องที่หากพนอจะเล่าเรื่องไปในแนวทางสืบสวนสอบสวนโดยมี “สารวัตรต้อม” (เมธี ธำรงชัย) เป็นตัวดำเนินเรื่องหลักก็ดูน่าสนใจไม่น้อย แต่แนวทางแบบนี้ก็ถูก “ลองของ ซีรีส์” ใช้ไปก่อนเรียบร้อยแล้ว นั่นทำให้ภาพยนตร์เรื่องพนอไม่สามรถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่เลย

(7) ถึงอย่างนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงรักษาจุดเด่นในเรื่องของความสยองขวัญได้ดี จากงาน Practical Effect สยองๆ ที่เป็นจุดขายตั้งแต่ลองของแล้ว แม้จะมีงาน CGI ที่กลายมาเป็นตัวฉุดรั้งก็ตามที กระนั้นก็มีจุดขายใหม่เกิดขึ้นมา คือ การต่อสู้ด้วยคุณไสย ที่ทำได้ดีจนนึกว่าเป็นภาคต่อของ “จอมขมังเวทย์” ยังไงยังงั้น พลางคิดว่าถ้าไสหัวความน้ำเน่า ความสืบสวนสอบสวน หรือความต้องสยองขวัญเดินรอยตามภาคก่อนหน้า ก็อยากจะเห็นพนอเป็นจอมเวทย์ไล่ล่าเหล่าผู้ใช้คุณไสยเพื่อแก้แค้นหรืออะไรสักอย่างก็น่าจะมันส์ไม่น้อย (เพราะฉากการต่อสู้ระหว่างคุณไสยมันทำได้ดีเกินคาดจริงๆ) 

(8) คงต้องยกความดีความชอบให้กับการสร้างรายละเอียดของโลกแห่งมนต์ดำหรือคุณไสยที่ดูจับต้องได้ และมันดูแข็งแรงกว่ามาก ทั้งคาถาอาคม พิธีกรรม การใช้คุณไสยและการแก้ทางหรือถอนคำสาป เรื่องนี้จริงจังถึงขนาดมีตำแหน่งพิเศษที่เรียกว่า “กูรูไสยศาสตร์” (Magic Director) โดยอาจารย์ ขึก-สิทธิชัย สิงหฬ ที่อยู่มาตั้งแต่ลองของทั้งสองภาคก่อนหน้าแล้วนั่นเอง

(9) เฌอปราง อารีย์กุล ในบทของ พนอ บุญสุข ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีและมีพัฒนาการทางการแสดงเพิ่มขึ้นจากเรื่องก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด อาจจะเป็นเพราะบทที่ท้าทายมากขึ้นทำให้มีพื้นที่ได้แสดงฝีมือมากขึ้นด้วย ส่วนตัวละครอื่นๆ ที่เป็น “นักแสดงอาชีพ” ถือว่าอยูในเกณฑ์มาตรฐาน ในขณะที่ ต๊อบ-สหัสชัย ชุมรุม ยังคงโดดเด่นในบทบาทตัวละครสมทบเช่นเคย


(10) แต่นอกจากนั้นตัวละครอื่นๆ ที่เป็นตัวละครประกอบ ถือว่าเป็นอีกแผลที่ไม่น่าดูสำหรับพนอเลยจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครที่ไม่ได้มาจากนักแสดงมืออาชีพแต่ดันมีบทบาทเยอะ มันจึงเกิดช่องว่างทางการแสดงขึ้นมา แน่นอนว่ามันส่งผลให้อารมณ์ของเรื่องมีปัญหา เห็นได้ชัดสุดๆ เลย คือ บอสใหญ่หรือลาสบอสของเรื่อง ซึ่งอาจจะบอกไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่บอกได้เลยว่าพลังทางการแสดงของเขาไม่สามารถแบกอารมณ์ในช่วงท้ายของหนังได้เลย

(11) ถ้าเป็นเมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อน “พนอ” อาจจะเป็นภาพยนตร์ที่โดดเด่นและมีความน่าดึงดูดมากกว่านี้ แต่สำหรับปี 2025 แล้ว หลายๆ อย่างของพนอยังดูเหมือนไม่หลุดพ้นจากความหลงยุค(ไม่ใช่เรื่องยุคสมัยในเรื่อง) แต่มันคือ แนวคิดการสร้างหนังที่ดูทื่อๆ และขาดเสน่ห์ความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งหากคิดในทางกลับกันว่า ถ้าพนอถูกสร้างขึ้นมาก่อนจะมีลองของแล้วละก็ เราคงไม่ได้มีตัวละครไอค่อนความสยองขวัญในโลกภาพยนตร์ของไทยที่ชื่อของ “ครูพนอ” แน่นอน

Story Decoder
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่