[รีวิวหนัง] Doctor Strange in the Multiverse of Madness: หมอแปลกในความสยองขวัญที่เป็นรสชาติแปลกใหม่ของ MCU

จนถึงวันนี้คงมีน้อยคนมากๆ ที่จะเป็น "ลูกค้าหน้าใหม่" ที่ซื้อตั๋วด้วยความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปชมภาพยนตร์จากจักรวาล MCU อันมีฐานแฟนคลับมากมายทุกเพศทุกวัย จนเป็นเรื่องปกติที่ภาพยนตร์จะประสบความสำเร็จด้านรายได้แทบทุกเรื่องเพียงแค่มีโลโก้ของสตูดิโอ MARVEL ติดหน้าหนัง ฉะนั้นการมาของ Dr.Strange 2 หรือในชื่อไทย "จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย" จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างสุดๆ สำหรับแฟนๆ จักรวาล MCU ที่จะได้ท่องไปใน "พหุจักรวาล" ที่มีความเป็นไปได้อันไม่รู้จบไปพร้อมกับจอมเวทย์ผู้เคร่งขรึมอย่างสตีเฟ่น สเตรนจ์

หลังจากร่ายเวทย์มนต์จนเกิดช่องว่างของพหุจักรวาลหรือมัลติเวิร์ส (Multiverse) ดร.สตีเฟ่น สเตรนจ์ ได้ช่วยเหลือ อเมริกา ชาเวซ สาวน้อยที่มีพลังสามารถข้ามจักรวาลได้แต่ยังอยู่เหนือการควบคุม จากสิ่งมีชีวิตลึกลับที่หมายปองพลังนี้ของเธอ ดร.สเตรนจ์ จึงไปขอความร่วมมือจาก หว่อง และวันด้า แมกซิมอฟฟ์ เพื่อปกป้องเธอจากอันตราย แต่หารู้ไม่ว่า ศัตรูของทั้งคู่นั้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ดร.สเตรนจ์ จึงต้องหาทางปกป้องชาเวซ ด้วยตัวเองและท่องไปยังพหุจักรวาลเพื่อหาคำตอบของเรื่องที่เกิดขึ้น

แม้จะเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ แต่ Doctor Strange in the Multiverse of Madness กลับมีบรรยากาศของความสยองขวัญสั่นประสาทอบอวลอยู่ตลอดทั้งเรื่อง อันเป็นลายเซ็นต์เด่นชัดของ แซม ไรมี่ ผู้กำกับที่เริ่มต้นจากงานสยองขวัญสุดคลาสสิกอย่าง Evil Dead (1981) ตามมาด้วยงานทุนสูงอย่างไตรภาค Spider-Man (2002-2007) ฉบับ Tobey Maguire ก่อนจะหวนคืนสู่ความสยองสุดบ้าคลั่งใน Drag Me to Hell (2009) และงานแอคชั่นแฟนตาซี Oz the Great and Powerful (2013) ซึ่งในครั้งนี้แซม ไรมี่ก็เลือกใช้เอกลักษณ์การสร้างความสยองขวัญที่เขาถนัด โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนกล้องที่รวดเร็วและบ้าคลั่ง การใช้ภาพ Close-up บรรยายความเจ็บปวดและความรู้สึกของตัวละคร และมุกตลกร้ายที่ผสานกันอย่างรวดเร็วกลายเป็นงานภาพเฉพาะตัวของเขานั่นเอง ยังไม่รวมถึงสิ่งของและเรื่องราวของตัวละคร เช่น นาฬิกาที่เป็นมากกว่าเครื่องบอกเวลา คัมภีร์ศาสตร์มืดตัวแทนแห่งความชั่วร้าย หรือเรื่องราวของชายผู้ซึ่งต้องต่อสู้กับตัวเองและมือของเขา(ใครดู Evil Dead2 ต้องร้องอ๋อแน่ๆ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ แซม ไรมี่ เคยใช้มาในภาพยนตร์ก่อนหน้าของเขาแล้วทั้งสิ้น อาจจะพูดได้ว่า Doctor Strange in the Multiverse of Madness เป็นผลงานที่ตกผลึกทางความคิดของเขาแล้วอย่างหมดจด ถึงขนาดที่หยิบจับสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในภาพยนตร์ได้อย่างเรียบเนียน ไม่ทำลายเนื้อเรื่อง และยังสร้างรสชาติแปลกใหม่ให้กับจักรวาล MCU ได้อย่างน่าพึงพอใจ (ซึ่งถ้าไม่ติดว่าเป็นเรท PG-13 คงจัดเต็มกว่านี้แน่นอน)
.
นาฬิกาเป็นสิ่งที่ แซม ไรมี่ มักใช้สื่อถึงภาวะวิกฤตของตัวละคร

ภาพระยะ Close-up บริเวณใบหน้าที่มักใช้บรรยายความรู้สึกของตัวละคร

การเมคอัพที่ชวนให้นึกถึงผีดิบใน Evil Dead

.
ด้วยเรื่องราวความเป็น "พหุจักรวาล" คงไม่มีตัวละครไหนที่จะเหมาะสมกับเรื่องนี้ไปกว่าผู้ใช้เวทย์ทั้งสองแห่ง MCU ดร.สเตรนจ์ และ สการ์เล็ต วิทช์ ที่ดูเป็นองค์ประกอบที่สุดแสนจะลงตัวในการขับเน้นพลังและงานด้านภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจและงดงามปนความพิศวงไปพร้อมๆกัน ในขณะที่การใช้เวทย์มนต์ของสเตรนจ์และพลังของสการ์เล็ต วิทช์ ก็แทบจะตื่นเต้นจนไม่อยากละสายตาแล้ว และยิ่งในคราวนี้กับเรื่องของมัลติเวิร์ส ทั้งการออกแบบโลกคู่ขนานที่ต่างกันออกไปในแต่ละที่ หรือมิติบางอย่างที่ดูน่าอัศจรรย์ มันคือการสร้างจินตนาการและเนรมิตให้ออกมาเป็นภาพบนจอได้อย่างยอดเยี่ยม ราวกับได้ผจญภัยไปพร้อมๆ กับเหล่าตัวละครในเรื่อง จนกล้าพูดได้ว่างานภาพใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness นี้ มีความทะเยอทะยานและมีความสร้างสรรค์ที่สุดเรื่องหนึ่งในจักรวาล MCU เลยก็ว่าได้
.
มิติที่แปลกประหลาดแต่ก็งดงาม

สถาปัตยกรรมชวนพิศวง

สภาพที่อธิบายไม่ได้

โลกคู่ขนานที่สภาพบ้านเมืองและผู้คนที่ต่างออกไป

พลังของหมอแปลกที่ดูสวยงามและแปลกประหลาดไปพร้อมๆกัน

.
ด้วยความที่เป็นภาคต่อตัวภาพยนตร์จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการปูพื้นตัวละคร หรือแนะนำตัวละครหลักของเรื่องทั้ง ดร.สเตรนจ์ หว่อง หรือกระทั่งวันด้า แมกซิมอฟฟ์(สการ์เล็ต วิทช์) เพราะว่าตัวละครเหล่านี้ล้วนแต่มีการพูดถึงมาหมดแล้วในภาคก่อนหรือในซีรี่ย์ นั่นทำให้สามารถเดินเรื่องได้เร็วตั้งแต่ประมาณ 10 นาทีแรกของเรื่อง และด้วยจุดแข็งของมาร์เวลด้านการเล่าเรื่องที่ทำได้ดีมาตลอด ในการเล่าเรื่องยากๆ ให้ดูง่ายไม่ซับซ้อน ทำให้แม้จะมีเส้นเรื่องที่ชวนงง ทั้งเรื่องตัวละครที่ต้องถูกส่งไปยังต่างจักรวาล ตัวละครที่ตามล่าโดยการใช้มนต์ย้ายจิตตัวเองไปยังจักรวาลอื่น หรือแม้แต่ผลกระทบของการข้ามจักรวาล สิ่งเหล่านี้กลับถูกเล่าออกมาเข้าใจง่าย ดูรู้เรื่อง สนุก และมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการจะสื่ออะไร จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมภาพยนตร์ของมาร์เวลจึงเป็นที่ถูกใจของผู้คนมากมาย
.
(สการ์เล็ต วิทช์ ตัวละครที่ควรดูซีรีย์ Wandavision เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจในการกระทำของเธอ)

นอกจากเรื่องการเปิดพหุจักรวาลแล้ว เรื่องราวของการค้นหาตัวตนก็เป็นสิ่งที่เป็นใจความสำคัญของเรื่องไม่แพ้กัน ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการลงลึกเข้าไปสำรวจจิตใจของสเตรนจ์ในประเด็นของความรักและการเป็นฮีโร่ของเขา และสภาพจิตใจของวันด้ากับเรื่องลูกๆของเธออันเป็นเหตุของการตัดสินใจที่เกิดขึ้น จุดนี้ต้องยกให้เป็นความฉลาดในการใช้ประเด็น "ตัวตนจากโลกคู่ขนาน" ในการสะท้อนตัวตนของทั้งคู่ แม้ว่าจะเป็นจอมเวทย์ที่เก่งกาจเพียงไหน สเตรนจ์ก็ยังมีด้านที่อ่อนไหว อ่อนแอ และด้านที่ต้องเรียนรู้จากคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีด้านที่แสดงความเข็มแข็งจนเรา เรียกเขาได้ว่า "ซูเปอร์ฮีโร่" ได้เต็มปากอยู่ ส่วนวันด้าที่ดูเหมือนจะเป็นสเตรนจ์ในเวอร์ชั่นที่แพ้ภัยตัวเอง จะพูดอีกอย่าง คือ วันด้าไม่มีคุณสมบัติของฮีโร่จึงใช้พลังนั้นเพื่อตัวเอง จนนำหายนะและความสูญเสียมาสู่คนรอบข้าง นี่ดูจะเป็นการสร้างมิติให้ตัวละครได้อย่างกินใจและลงตัวมาก

ด้านการแสดง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ยังคงเป็นสตีเฟ่น สเตรนจ์ ได้อย่างหมดจน แม้จะต้องข้ามไปเจอตัวเองในอีกจักรวาลก็ยังสร้างคาแรคเตอร์ที่แตกต่างได้ ที่รู้สึกได้ว่าการแสดงของเขาขับเน้นปมในใจเรื่องคนรักอย่าง ดร.คริสติน ที่ประสบความล้มเหลว และพยายามมองหาตัวเธอในต่างจักรวาลเพื่อหวังว่าจะมีจักรวาลไหนที่เขาและเธอจะได้ครองคู่กัน ความอ่อนแอของสเตรนจ์เล็กๆนี้ก็ถูกแสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม กลายเป็นตัวละครที่สมจริงขึ้นจากภาคก่อนมาก ด้าน อลิซาเบธ โอลเซน (Elizabeth Olsen) เองก็ไม่ยอมน้อยหน้าอย่างที่บอกว่าตัวละครทั้งสองมีปมในใจคล้ายๆกัน วันด้า แมกซิมอฟฟ์ เดิมทีตัวละครนี้ไม่ใช่ตัวร้าย แต่ด้วยอำนาจและความหลงผิดจึงทำให้เธอเป็นแบบนี้ เชื่อว่าไม่มีใครโกรธ เกลียดตัวละครนี้ได้ลง แต่ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำ ซึ่งอลิซาเบธ โอลเซน แสดงออกมาได้ยอดเยี่ยมในแววตาที่มีทั้งความเศร้าและความโกรธแค้นเอาไว้ในคราวเดียวกัน

ส่วนตัวละคร อเมริกา ชาเวซ รับบทโดย โซชิตล์ โกเมซ (Xochitl Gomez) แม้จะไม่ได้มีซีนเล่นใหญ่โตมากมาย แต่ก็มีเสน่ห์ขึ้นกล้องเป็นอย่างดีน่าจะมีอนาคตกับจักรวาลนี้ได้อีกนาน ทางด้าน หว่อง เบเนดิกต์ หว่อง (Benedict Wong) ก็มีบทที่มากขึ้นจากภาคก่อน และเป็นกำลังสำคัญของเรื่อง และสุดท้าย ราเชล แมคอดัมส์ (Rachel McAdams) ที่รับบทเป็น ดร.คริสติน อดีตคนรักของสเตรนจ์ ที่การแสดงของเธอสร้างมิติให้กับสเตรนจ์เป็นอย่างมาก แม้จะไม่ได้มีพลังวิเศษแต่ก็เป็นตัวละครที่น่าจดจำไม่แพ้คนอื่นๆ เลย
.
สรุป Doctor Strange in the Multiverse of Madness เป็นภาพยนตร์จาก MCU ที่ทั้ง่น่าตื่นตาตื่นใจกับงานด้านภาพ และมีกลิ่นอายความสยองขวัญอันแปลกใหม่จากแซม ไรมี่ ที่ลงตัวและกลมกล่อมอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่าย และตัวละครต่างๆ ในเรื่องก็ถูกเล่าอย่างมีมิติ จนไม่อาจปฏิเสธว่านี่เป็นภาพยนตร์คุณภาพอีกเรื่องจากมาร์เวลที่จะพาจักรวาลนี้ขยายเติบโตไปได้อีกไม่รู้จบจริงๆ

ฝากเพจด้วยนะครับ Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่