JJNY : เลิกเกณฑ์ทหาร สูงกว่าปี 66│ปชน.ชี้ รบ.ออกมาตรการไม่รัดกุม│สว.นันทนาแนะทักษิณ│น้ำท่วม-สินค้าจีนทุบตลาดฉุดเชื่อมั่น

'ธำรงศักดิ์โพล' ชี้ปี 67 คนอยากให้ยกเลิกเกณฑ์ทหาร สูงขึ้นกว่าปี 66
https://prachatai.com/journal/2025/01/111988

'ธำรงศักดิ์โพล' ชี้ปี 2567 เห็นควรยกเลิกเกณฑ์ทหาร 70.20% สูงขึ้นกว่าปี 2566 ส่วนที่ยังไม่ควรยกเลิกมี 18.51%

20 ม.ค. 2568 งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ จำนวน 4,310 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 8-21 เม.ย. 2567 โดยนักศึกษาปริญญาตรี-โท-เอก คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต 127 คน เก็บแบบสอบถามใน 47 จังหวัด  
 
ข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า ควรยกเลิก การเกณฑ์ทหาร ได้แล้วหรือยัง” ผลการสำรวจพบว่า (มี 4,295 คนตอบคำถามข้อนี้)
 
• ควรยกเลิก ร้อยละ 70.20 (3,015 คน) (สูงขึ้นกว่าการสำรวจเมษายน ปี 2566 มีร้อยละ 65.93)
• ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 18.51 (795 คน) (เท่ากับการสำรวจเมษายน ปี 2566 ร้อยละ 18.51)
• ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 11.29 (485 คน) (ลดลงจากการสำรวจเมษายน ปี 2566 ที่มีร้อยละ 15.56)
 
ผลการสำรวจพิจารณารายภาค

กรุงเทพฯ ควรยกเลิก ร้อยละ 69.0 ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 19.4 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 11.6
ภาคกลาง ควรยกเลิก ร้อยละ 68.6 ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 19.0 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 12.4
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรยกเลิก ร้อยละ 73.0 ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 18.8 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 8.2
ภาคเหนือ ควรยกเลิก ร้อยละ 57.4 ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 29.4 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 13.2
ภาคใต้ ควรยกเลิก ร้อยละ 74.5 ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 15.1 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 10.4
สามจังหวัดชายแดนใต้ ควรยกเลิก ร้อยละ 76.5 ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 13.4 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 10.1
 
คำอธิบายจากการเก็บข้อมูลเชิงลึก

ฝ่ายที่เห็นควรยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เช่น หมดยุคทหารเกณฑ์, ต้องเลิก รด. ด้วย, ทุกอาชีพต่างร่วมสร้างชาติ, สิทธิเสรีภาพของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด, กองทัพไทยมีขนาดใหญ่เกินกว่าความจำเป็นของประเทศ, กองทัพไทยถึงยุคต้องจิ๋วแต่แจ๋ว, มีทหารทำไม, คนทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อมีร่างกายจิตใจเป็นทหาร, ควรให้เยาวชนเอาเวลาไปสร้างสรรค์ชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัว, คนมีความหลากหลายจึงมีความสามารถและรสนิยมที่แตกต่างกันไป, ศตวรรษนี้เป็นยุคไฮเทคโนโลยีไม่ใช่ยุคทหารเกณฑ์, ทหารเกณฑ์คือช่องคอรัปชันของนายทหารในกองทัพ, ทหารเกณฑ์ไม่ใช่แรงงานฟรีแบบไพร่ทาสของนายทหาร, เกณฑ์ทหารเพื่อไปถูกฝึก-ซ้อม-ซ่อม-ลงโทษจนบาดเจ็บล้มตายไปทำไม
 
ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เช่น เกณฑ์ทหารคือการฝึกหัดให้คนไทยมีระเบียบวินัยเข้มแข็งกล้าหาญอดทนแข็งแรง, ทหารเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย, การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของคนไทย, ฝึกทหารเกณฑ์เพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลา, ชาติจะได้ไม่เสียกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นครั้งที่สาม, ชาติต้องการทหารไว้ปกป้องประเทศ, ทหารเกณฑ์มีไว้เพื่อความมั่นคงของชาติ, ไม่มีทหารเกณฑ์แล้วกองทัพจะอยู่ได้อย่างไร, ต้องมีทหารเกณฑ์ไว้เป็นแรงงานในการช่วยเหลือบ้านเมืองยามมีภัยพิบัติธรรมชาติ, ทหารเกณฑ์คือการบ่มเพาะให้คนไทยรู้รักสามัคคี, เกณฑ์ทหารคือการสร้างสำนึกในการรักชาติ 
 
ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถาม (เม.ย. 2567)
 
เพศ : หญิง 2,199 คน (51.02%) ชาย 1,891 คน (43.88%) เพศหลากหลาย 220 คน (5.10%)
อายุ : Gen Z (18-27 ปี) 2,194 คน (50.90%) Gen Y (28-44 ปี) 902 คน (20.93%) Gen X (45-59 ปี) 789 คน (18.31%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (60 ปีขึ้นไป) 425 คน (9.86%)
 
การศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 461 คน (10.70%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 1,053 คน (24.43%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 493 คน (11.43%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,079 คน (48.24%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 224 คน (5.20%)
 
อาชีพ : นักเรียนนักศึกษา 1,758 คน (40.79%)  เกษตรกร 374 คน (8.68%)  พนักงานเอกชน 457คน (10.60%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 472 คน (10.95%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 480 คน (11.14%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 403 คน (9.35%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 237 คน (5.50%) อื่นๆ 129 คน (2.99%)
 
รายได้ต่อเดือน : ไม่มีรายได้ 958 คน (22.23%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,031 คน (23.92%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,189 คน (27.59%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 611 คน (14.18%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 243 คน (5.64%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 278 คน (6.44%)
 
ข้อมูลพื้นฐานปี 2566 เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เม.ย. 2566 ใน 57 จังหวัด มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)
 
หมายเหตุ : 
 
1. งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยส่วนบุคคล ทัศนะจากงานวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น และขอบคุณเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาทุกคนเป็นอย่างสูงที่ช่วยเหลือในการวิจัยครั้งนี้


 
ปชน. ค้าน กม.คอมเพล็กซ์ ชี้ รบ.ออกมาตรการไม่รัดกุม หวั่นกลายเป็นแหล่งฟอกเงินเทา
https://www.matichon.co.th/politics/news_5008181

เด็กปชน. ออกโรงค้านกม. กาสิโน ชี้ ขาดมาตรการป้องกันการฟอกเงิน แนะกำหนดบ่อนถูกกฎหมายรายงานเส้นเงิน อัดรบ.กองหนุนทำตามนโยบายพ่อนายก หวั่น กาสิโนเขมรพาเหรดเปิดในไทย เหตุรบ.ตัดลดข้อเสนอกมธ.
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 มกราคม ที่รัฐสภา นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ส.ส.นนทบุรี พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขาดมาตรการป้องกันการฟอกเงินที่ชัดเจน แม้จะแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 
ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบาย แต่กลับไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของ ปปง. ในการตรวจสอบหรือกำกับดูแลธุรกรรมที่เกี่ยวกับกาสิโน ซึ่งอาจกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนผิดกฎหมายใช้ประโยชน์
 
นายนนท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะทำงานจำนวน 11 คน ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการฟอกเงินหรือการจัดการผลกระทบทางสังคมแม้แต่คนเดียว อีกทั้งยังพึ่งพาผู้ประกอบการระดับโลกโดยไม่มีการกำกับที่เพียงพอ การที่รัฐบาลมอบความไว้วางใจกับเอกชนโดยไม่มีการกำกับดูแลจากภาครัฐอย่างขัดเจน อาจถือเป็นการละเลยหน้าที่ของรัฐ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการฟอกเงิน
 
นายนนท์ กล่าวอีกว่า ขอฝากถึงรัฐบาลการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ และกาสิโน ควรทำให้รัดกุม รอบด้าน ไม่ให้เป็นแหล่งฟอกเงินของมิจฉาชีพ และรัฐบาลควรสร้างกลไกป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยกาสิโน ควรต้องมีการรายงานธุรกรรมการเงิน ควรกำหนดกฎหมายการทำ KYC ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก เป็นกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนลูกค้า รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า  หรือ CDD ประเมินความเสี่ยงและความโปร่งใสของลูกค้า
 
ผมเริ่มไม่แน่ใจว่ากฎหมายที่รัฐบาลผลักดันนี้ จะช่วยแก้ปัญหาหรือเพิ่มปัญหาให้กับประเทศ หรือบทบาทของรัฐบาลมีเพียงแค่สนับสนุนทุกอย่างที่พ่อนายกฯเสนอ โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา ขนาดมีกฎหมายการรายงานธุรกรรม สถาบันการเงินยังไม่ทำตามเลย แล้วนี่ทำกฎหมายกาสิโน แต่ไม่เขียนมาตรการไว้ในตัวบทกฎหมาย ใครที่ไหนจะทำให้คุณ รัฐบาลต้องทำให้ดีกว่านี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน” นายนนท์ กล่าว
 
ทั้งนี้ นายนนท์ ยังกล่าวด้วยว่า ในฐานะตนเคยร่วมเป็นกรรมาธิการรายงานศึกษาการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ของสภา ในรายงานผลการศึกษาที่เสนอไปยังครม.มีการข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาทิ ต้องมีขนาดใหญ่ โรงแรมหรูหราระดับ 5 ดาว มีสปา แหล่งบันเทิง ห้างร้านช้อปปิ้ง แต่จากที่ดูในบัญชีแนบท้ายร่างกฎหมายของครม.ได้ตัดลดสิ่งเหล่านี้ทิ้งแทบหมด และลดขนาดลงเพื่อให้ครบตามที่เสนอมาเท่านั้น ตนเกรงว่าสุดท้ายก็คงจะยกกาสิโนของกัมพูชามาไว้ที่บ้านเรา



สว.นันทนา แนะทักษิณดูเพื่อนบ้าน มีกาสิโนเป็นอย่างไร เชียร์แก้กม.ประชามติ ถามปชช.
https://www.matichon.co.th/politics/news_5008193

สว.นันทนา แนะทักษิณดูเพื่อนบ้าน มีกาสิโนเป็นอย่างไร เชียร์แก้กม.ประชามติ ถามปชช.
 
เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 20 มกราคม ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. กล่าวถึงกรณีการผลักดันกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า ขณะนี้เรากำลังศึกษาและรอดูรายละเอียดที่รัฐบาลดำเนินการ หากรัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้จริง เราพร้อมแสดงจุดยืน รวมถึงร่วมให้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นอนาคตของเยาวชนของชาติและทิศทางของประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจ
 
ส่วนที่มีการเสนอให้ทำประชามตินั้น น.ส.นันทนาระบุว่า เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ทำให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากใช้เงินเยอะ ถ้าบอกว่าเรื่องต่างๆ ต้องทำประชามติทั้งหมด เราเกรงว่าเงินจะหมดคลัง หากเป็นไปได้ก็อยากให้การทำประชามติเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าถึงง่าย ตราบใดที่การจัดทำประชามติมีมูลค่าสูง รายละเอียดมาก ซับซ้อน ก็ถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากแก้ไขในส่วนนี้ได้ เราเห็นด้วยที่จะมีการทำประชามติ
 
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากมีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คนไทยจะมีเงินเต็มกระเป๋า น.ส.นันทนากล่าวว่า ไม่ทราบว่านายทักษิณพูดในนามของใคร ตำแหน่งอะไร ถ้าบอกว่าเป็นแค่ผู้ช่วยหาเสียง ตนไม่แน่ใจว่าสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นแทนรัฐบาลได้ขนาดนี้หรือไม่ หากพูดในตัวแทนรัฐบาลคงจะต้องมีการตรวจสอบว่าสามารถทำได้หรือไม่ การที่ระบุว่าการทำเรื่องอบายมุขให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย จะทำให้ประเทศชาติร่ำรวย อยากให้มองประเทศเพื่อนบ้าน ที่นำเรื่องผิดกฎหมายขึ้นมาบนดิน เศรษฐกิจดีอย่างที่คาดไว้หรือไม่ ถ้าเรานำเรื่องอบายมุขขึ้นมาถูกกฎหมาดทั้งหมด ต่อไปประเทศเราอาจจะใกล้เคียงกับบางประเทศที่มีสินค้าส่งออกเป็นยาเสพติด เพราะถือว่าทำรายได้ได้ดี ตนมองว่าไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มต้นจากการเมือง รัฐธรรมนูญต้องดี นำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีและยั่งยืน ไม่ใช่การแจกเงินชั่วครั้งชั่วคราว หรือเอาอบายมุขขึ้นมา สุดท้ายเยาวชนของชาติไม่มีอนาคต
 
ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ส.ว. กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองมีการเสนอว่า “มีแต่ต้องมีการควบคุม” ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีก็มีการเสนอเรื่องดังกล่าว ส่วนตัวการนำเรื่องนี้ขึ้นมาบนดิน พร้อมกำกับเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลายประเทศที่เจริญแล้วก็มีการทำเช่นนี้ ดีกว่าปล่อยให้อยู่ใต้ดินและมีการเก็บส่วย หากกลัวช่องโหว่ทางกฎหมาย เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย มีบางข้อเสนอที่ไม่ได้ปล่อยทั้งหมด แต่มีเรื่องของการควบคุมกำกับที่สามารถตรวจสอบได้ ข้อกังวลรูรั่วในระบบเป็นโจทย์สารตั้งต้นในการสรรหาออกแบบที่ทำให้ตอบโจทย์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่