สาระสำคัญจากนิราศวัดเจ้าฟ้า

กระทู้สนทนา
สาระสำคัญจากนิราศวัดเจ้าฟ้า

เราไม่สามารถพิสูจน์ความจริงว่านิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่แต่งเองหรือช่วยหนูพัดแต่ง
แต่มีสาระสำคัญที่ควรสนใจกว่า ดังนี้

บรมธาตุ
ในคำกลอน พัดเล่าว่าเมื่อผ่านวัดระฆังได้ "บังคมบรมธาตุ" ที่วัดนี้ มีเพียงพระปรางค์ริมแม่น้ำที่สมกับคำนี้
เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีในรัชกาลที่หนึ่ง
แต่คำกลอนแสดงว่าลูกทั้งสองของสุนทรภู่ต่างไกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้าของอัฐิ จึงมิใช่เจ้าฟ้าพระองค์นั้นเป็นแน่
กรมศิลปากรเชื่อว่าน่าจะเป็นอัฐิของเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในกรมพระวังหลังซึ่งถวายเพลิงศพ
เมื่อเดือน ๑๑ ปีวอก อัฐศก พ.ศ. ๒๓๗๙ (https://vajirayana.org/นิราศวัดเจ้าฟ้า-ฉบับตรวจสอบชำระ-พศ-๒๕๕๘/นิราศวัดเจ้าฟ้า)

น่าสังเกตว่า มีการใช้คำ "ถวายเพลิงศพ" กับเจ้านายองค์นี้ ต่างกับเณรพัดที่ใช้ศัพท์ระดับสูงสุด เช่น
"พระบาทบุษบงองค์อัปสร สู่สวรรคครรไล สมบัติขัตติยาทั้งข้าบาท ขัตติยวงศ์ เฝ้าแหน ฝ่าละออง ทูลลา ทูนกระหม่อม"
ล้วนเป็นศัพท์ที่พระชายาวังหลังซึ่งเป็นเพียงนางข้าหลวงของเจ้าฟ้าจันทวดีครั้งกรุงเก่า จะใช้ได้

ในชีวิตสุนทรภู่ มีโอกาสไกล้ชิตเจ้านายชั้นทูนกระหม่อมหญิงเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
ท่านได้เป็นพระอาจารย์เจ้าฟ้าราชบุตรทั้งสามพระองค์ (เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว เพลงยาวถวายโอวาท)
ความไกล้ชิดปรากฏในคำกลอนว่า "เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน"

เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สิ้นพระชนม์วันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจอ พ.ศ.๒๓๘๑ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้น ๑ 
มีศักดิ์จะเฉลิมพระอัฐิเป็นพระบรมธาตุ และประดิษฐานในพระปรางค์วัดระฆังได้

อายุเณรหนูพัด
เมื่อทราบข้อมูลชัดเจนเช่นนี้แล้ว นิราศเรื่องนี้ ย่อมกล่าวถึงเหตุการณ์หลังปี ๒๓๘๑ มิช้ามินาน 
ในขณะนั้น หนูพัดยังเป็นสามเณร อายุไม่ถึง ๒๐ ข้อนี้สอดคล้องกับบันทึกของกศร กุหลาบ ที่ว่า
"เมื่อ พ.ศ.2447 ตนได้พบกับ “นายพัด” บุตรชายของสุนทรภู่ ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 86 ปี"
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_189437

ถ้าเชื่อนายกุหลาบ เณรพัดจะเกิดปี ๒๓๖๑ แต่นายกุหลาบขึ้นชื่อเรื่องข้อมูลเท็จ จึงควรตรวจสอบสักหน่อย 
ในนืราศพระแท่นดงรัง สำนวนเณรกลั่น ซึ่งแต่งในปี ๒๓๗๖ เล่าการเดินทางไปกับสุนทรภู่บิดาบุญธรรม บุตรทั้งสองและคณะ
(https://vajirayana.org/นิราศพระแท่นดงรัง-ของสามเณรกลั่น/นิราศพระแท่นดงรัง)
เณรกลั่นเรียกบุตรที่สองของสุทรภู่ว่า "หนูตาบน้อย" ทั้งสามพี่น้อง คงมีอายุไม่ห่างกันนัก 
เพราะ "กับหนูตาบอาบน้ำปล้ำกันเล่น พี่เณรเห็นไล่โลดกระโดดหนี" น้อยที่สุดก็คือเกิดเมื่อบิดาบวช ๒๓๖๗ 
อายุถึงปีเดินทางไปพระแท่นฯ คือ ๙ ปี เณรพัดพี่ชายคงอยู่ในวัยเพิ่งโกนจุกบวชเรียน อายุ ๑๓-๑๔

ตามข้อสันนิษฐานนี้ พัดคงเกิดราว ๒๓๖๒-๒๓๖๓ ไกล้เคียงกับที่นายกุหลาบแจ้งไว้
เมื่อไปวัดแก้วฟ้า อายุ ๑๘-๑๙ เข้าวัยเกี้ยวสาว จึงเขียนกลอนว่า

ที่บางกระไน
"แต่ไม่มีกิริยาด้วยผ้าห่ม กระพือลมแล้วไม่ป้องปิดของขำ
ฉันเตือนว่าผ้าแพรลงแช่นํ้า อ้อยสองลำนั้นจะเอาสักเท่าไร
เขารู้ตัวหัวร่อว่าพ่อน้อย มากินอ้อยแอบแฝงแถลงไข
รู้กระนี้มิอยากบอกมิออกไย น่าเจ็บใจจะต้องจำเป็นตำรา ฯ"

ที่สามโคก
"พวกสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด แต่ขยาดอยู่ด้วยว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งห่มผ้าตารีเหมือนสีรุ้ง ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน
เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล
นี่หากเห็นเป็นเด็กถ้าเจ๊กจีน เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง"

นิสัยกลุ้มกริ่มเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ผู้รู้คิดไปว่าสุนทรภู่เป็นเจ้าของสำนวน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่