สภาผู้บริโภค จี้ OPPO – Realme เปิดชื่อผู้อยู่เบื้องหลังแอปกู้เงินเถื่อน อึ้ง 5 ปี รายได้ 2 บริษัท เกือบแสนล้าน

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9680000003820#google_vignette

สภาผู้บริโภคกดดัน OPPO – Realme เปิดชื่อผู้อยู่เบื้องหลังแอปกู้เงินเถื่อน Fineasy ร้องหน่วยงานรัฐเร่งตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค แนะผู้เสียหายจ่ายแค่เงินต้น ค้นข้อมูลพบ 2 บริษัท 5 ปีรายได้เกือบแสนล้าน

จากกรณี ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้แจ้งเตือนอันตรายจากแอปพลิเคชันเถื่อนที่อยู่นอก Play Store ของทาง Google โดยเฉพาะแอปฯ ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy’ ที่ฝังมาพร้อมระบบปฏิบัติการหลังการอัปเดตสมาร์ทโฟน Oppo และ realme
โดยทางสภาองค์กรผู้บริโภคให้ข้อมูลว่าแอปฯ ดังกล่าวไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้ และยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ ขณะเดียวกัน การที่แอปฯ นี้ฝังตัวอยู่ในระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถควบคุม ป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว หรือถอนการติดตั้งได้ด้วย
 
ล่าสุดวันนี้ (13 ม.ค.) นาย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เรียกร้องให้บริษัท OPPO และ Realme เร่งเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแอปกู้เงินเถื่อน “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” ที่แอบติดตั้งมากับสมาร์ทโฟน โดยให้เปิดเผยว่าใครเป็นผู้พัฒนาแอปฯ และใครเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเงินกู้ดังกล่าวด้วยพบข้อมูลจากผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภคว่า มีการปล่อยกู้เงินโดยเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและมีการติดตามทวงถามหนี้โหดที่ผิดกฎหมาย
และยังพบว่าผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถถอนการติดตั้งแอปฯ เหล่านี้ได้เอง เนื่องจากติดตั้งมาในระบบ (System App) ส่งผลให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลและอาจนำไปสู่การถูกคุกคามทางการเงิน
 
สภาผู้บริโภคเสนอให้ทั้ง 2 บริษัทปรับปรุงระบบปฏิบัติการหรืออัปเดตแอปฯ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถถอนการติดตั้งได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเดินทางไปศูนย์บริการ เนื่องจากขณะนี้พบเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคว่าการปลดล็อกแอปฯ ทำได้เฉพาะที่ศูนย์บริการขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างภาระให้ผู้บริโภค หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ควรจ่ายเงินเยียวยาค่าเดินทางค่าเสียเวลาให้ผู้บริโภค 2,000 บาทต่อรายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่ศูนย์บริการ 
“แม้ทั้งสองบริษัทจะออกแถลงการณ์ว่าจะแก้ไขปัญหาโดยการลบแอปฯ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม สภาผู้บริโภคจึงตั้งคำถามว่า การที่ OPPO และ Realme ไม่เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดนั้น อาจเป็นเพราะมีผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือส่วนแบ่งรายได้ร่วมกับผู้พัฒนาแอปฯ กู้เงินเถื่อนหรือไม่ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรแสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน” อิฐบูรณ์ ระบุ

สำหรับผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อของแอปกู้เงินเถื่อน “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” หรือเป็นหนี้จากแอปฯ เหล่านี้ สภาผู้บริโภคแนะนำให้ชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น หากถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือพบว่ามีพฤติกรรมทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ สามารถแจ้งร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ โดยติดต่อสายด่วน 1502 หรือผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th

พร้อมกันนี้ รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่จะมีการประชุมร่วมกันในช่วงบ่ายของวันที่ 13 มกราคม 2568 เร่งกำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค และดำเนินการตรวจสอบบริษัท OPPO – Realme และลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงผู้พัฒนาแอปฯ

โดยเฉพาะ กสทช. ควรมีบทบาทที่ชัดเจนในการเข้ามากำกับดูแลซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีซิมบ็อกซ์ (Sim Box) เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ที่สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภค ไม่ใช่กำกับดูแลเพียงแค่เรื่องสุขอนามัยด้านการใช้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น
ตามอำนาจหน้าที่ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลสิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ.2566 กำหนดชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลและความปลอดภัยของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสภาผู้บริโภคจะดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายต่อไป หากยังไม่ได้รับการตอบสนองจากบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรายได้ 5 ปี ของทั้ง 2 บริษัท จากข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด
 ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท จดทะเบียนตั้งแต่ วันที่ 5 มี.ค.2552

ปี 2562 รายได้ 18,583,286,794 บาท กำไร 167,924,094 บาท
ปี 2563 รายได้ 16,601,468,742 บาท กำไร 192,419,222 บาท
ปี 2564 รายได้ 19,113,195,721 บาท กำไร 165,902,794 บาท
ปี 2565 รายได้ 18,369,397,362 บาท กำไร 125,951,136 บาท
ปี 2566 รายได้ 15,009,781,879 บาท กำไร 88,896,009 บาท

บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ realme ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท จดทะเบียนตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค.2562

ปี 2562 ยังไม่มีรายได้ ขาดทุน 221,220 บาท
ปี 2563 รายได้ 9,681 บาท ขาดทุน 1,182,744.03 บาท
ปี 2564 รายได้ 15.91 บาท ขาดทุน 5,082,964 บาท
ปี 2565 รายได้ 1,854,981,773 บาท ขาดทุน 50,983,883 บาท
ปี 2566 รายได้ 4,751,711,132 บาท ขาดทุน 717,077,784 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่