กสทช.-สคส. สั่ง OPPO-Realme หยุดขายมือถือที่มีแอปปล่อยกู้

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9680000003785

สั่งหยุดขาย! มือถือ OPPO-Realme ล็อตที่มีแอปปล่อยกู้ 'สคส.' ลุยสอบเข้ม เดดไลน์ 2 บริษัทชี้แจงรายละเอียด 5 ข้อ ภายใน 16 ม.ค. 68 

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน กสทช. เชิญ 2 บริษัท คือ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme เข้าชี้แจง กรณีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนแบรนด์ OPPO และ Realme พบติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อความสุข หรือ Fineasy โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งาน ไม่สามารถควบคุม ป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และลบออกจากอุปกรณ์ได้ 
 
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สั่งการให้ทั้ง 2 บริษัทระงับการจำหน่ายโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อและแอปพลิเคชันอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่แจ้งหรือขอความยินยอมจากผู้ใช้งาน เพราะเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากยังพบการจำหน่ายโทรศัพท์เหล่านี้ อาจถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อกรณี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ผลิตปรับปรุงระบบอัปเดตซอฟต์แวร์ เพื่อเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถลบแอปพลิเคชันดังกล่าวออกจากเครื่องได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ
 
จากข้อมูลพบว่า การละเมิดดังกล่าวครอบคลุมสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2566 โดยแอปพลิเคชันที่เป็นปัญหาได้ถูกติดตั้งมากับเครื่องตั้งแต่โรงงาน ขณะที่โทรศัพท์รุ่นเก่า อาจได้รับการติดตั้งผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์ (OTA: Over-The-Air) โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ดังนั้น สคส. จึงกำหนดให้ 2 บริษัท ทำรายงานรายละเอียด ได้แก่ 1.ขอสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนของไทย ตามมาตรา 37(5) 2.พิจารณามาตรการทางกฎหมายติดตั้งแอปพลิเคชันตามมาตรา 23 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 3.ข้อมูลไม่ได้รับความยินยอมเปิดช่องทางให้ลบได้อย่างไร 4.เครื่องใหม่ต้องไม่มีแอปพลิเคชันอยู่ในเครื่อง และ 5.ใครเป็นผู้รับเงินกู้ แหล่งทุน โดยชี้แจ้งกลับมายัง สคส. ภายใน 3 วันหรือ 16 ม.ค.68 หากไม่ดำเนินการจะเป็นกรณีที่ฝ่าฝืนมาตรา 83 ของของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระวางโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

การลบแอปพลิเคชันที่เป็นปัญหานี้ จะดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ 1.ผู้ใช้งานสามารถอัปเดตซอฟต์แวร์ด้วยตนเองผ่าน OTA ซึ่งจะมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้สามารถถอนการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ละเมิดได้อย่างสมบูรณ์ และ 2.สำหรับผู้ที่ไม่สามารถอัปเดตผ่าน OTA ได้ จะมีช่องทางพิเศษในการให้บริการลบแอปพลิเคชันที่ศูนย์บริการ โดย สคส. ได้สั่งให้บริษัทจัดเตรียมขั้นตอนที่ชัดเจนและต้องดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน

ส่วนปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคบางราย เช่น การที่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานถูกนำไปใช้โฆษณาสินเชื่อ โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือการได้รับสินเชื่อที่ไม่ได้ตั้งใจใช้ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงิน โดยมีรายงานว่า ผู้ใช้งานบางรายตั้งใจขอสินเชื่อเพียง 50,000 บาท แต่กลับกลายเป็นหนี้สะสมสูงถึง 700,000 บาท สคส. ยืนยันว่า ผู้เสียหายสามารถยื่นร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ สคส. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและเยียวยาได้ทันที
 
ด้าน พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กล่าวว่า ทั้ง 2 บริษัท จะต้องแต่งตั้งตัวแทนในประเทศไทย เพื่อรับผิดชอบต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยตัวแทนต้องมีอำนาจเต็มและรับผิดชอบไม่จำกัดกรณี หากไม่ดำเนินการแต่งตั้งตัวแทน จะถูกปรับตามกฎหมาย และหากเกิดการฝ่าฝืนหรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอีกในอนาคต อาจมีโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง
"การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะนี้ เป็นภัยต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและจะเร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป" พ.ต.อ.สุรพงศ์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่