ครูสาวชาวอุบล ถูกมิจฉาชีพ อ้างเป็นหน่วยงานราชการ-เจ้าหน้าที่ธนาคาร ใช้ ‘เบอร์ธนาคาร’ โทรหา สูญเงินกว่า 1.2 ล้านบาท

สรุปตามความเข้าใจ คนร้ายแฮคมือถือ อาจจะเพราะให้ลูกสาวเล่นมือถือประจำ แล้วเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อเป็นธนาคารแต่เบอร์จริงไม่ใช่ แล้วหลอกให้โอนเงิน เม่าแพนิค

ครูสาว เล่าว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 68 ที่ผ่านมา มีเบอร์โทรจาก อบต.ท้องถิ่น ที่ตนเองได้ไปซื้อที่ดินไว้ โทรมาแจ้งว่า ที่ดินดังกล่าวมีปัญหาที่ทับซ้อนกับที่ดินข้างเคียง ขอให้ตนเองไปขอเอกสารที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี และนำไปยื่นที่ อบต. เพื่อจะเจรจากับเจ้าของที่ดินข้างเคียง จัดการรังวัดที่ดินใหม่ ซึ่งสายที่โทรมา รู้ข้อมูลที่ดินของตนเองหมด ว่าเป็นที่ดินในป่า มีการจดทะเบียน มีบ้านเลขที่ ทำให้ตนเองหลงเชื่อว่าที่ดินมีปัญหาจริง

จากนั้นอีกฝ่ายจึงให้เบอร์ที่ระบุว่าเป็นสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีมา แต่เมื่อตนเองโทรไป ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้ไปกรอกข้อมูลยื่นออนไลน์ และเริ่มมีพิรุธ ตนเองคิดว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ จึงตัดสินใจวางสายไป

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีอีกเบอร์โทรเข้ามา ตอนแรกตนเองไม่รับ แต่อีกฝ่ายก็โทรมาไม่หยุด จนตนเองเริ่มเห็นว่าเบอร์ดังกล่าวคุ้นตา เมื่อนำไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่าเป็นตรงกับเบอร์ของธนาคารชื่อดัง ตนเองจึงตัดสินใจรับสาย ซึ่งคราวนี้อีกฝ่ายพูดคล่องแคล่ว ไม่เหมือนมิจฉาชีพที่เคยโทรมา และบอกว่าโทรศัพท์มือถือตนเองโดนแฮ็ก ต้องรีบแก้ไข ประกอบกับจังหวะเดียวกัน โทรศัพท์มือถือของตนเองก็เริ่มมีอาการค้าง และช้าจริงๆ ทำให้ตนเองเชื่อและได้ทำตามที่อีกฝ่ายแนะนำ

โดยตอนแรก ก็บอกให้ตนเองเข้าแอพธนาคาร เข้าไปตั้งค่ารักษาความปลอดภัยต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงวงเงิน หรือการโอนเงิน และยังให้ตนเองเข้าไปเช็กแอพแปลกปลอมในโทรศัพท์ด้วย ทำให้ตนเองเชื่อโดยสนิทใจ ว่าเป็นการรักษาเงินในบัญชี

แต่จู่ๆ โทรศัพท์ก็ช้าลง จนพิมพ์อะไรไม่ได้ อีกฝ่ายจึงบอกว่า มิจฉาชีพเริ่มทำงานแล้ว ต้องรีบเอาเงินออกจากบัญชีธนาคารโดยเร็วที่สุด ด้วยการโอนไปที่บัญชีของบุคคลหนึ่ง ซึ่งธนาคารเตรียมไว้สำหรับการป้องกันมิจฉาชีพ จากนั้นให้ไปแจ้งความ และนำสลิปการโอนเงินไปรับเงินคืนที่ธนาคารสาขาได้ ตนเองหลงเชื่อ ยอมโอนเงินไป 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1.2 ล้านบาท

หลังตั้งสติได้ ตนเองได้โทรไปที่ธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีมิจฉาชีพ แต่ก็ไม่ทันได้ถามว่าเหตุใด ‘เบอร์ที่โทรเข้ามา’ จึงเหมือนเบอร์คอลเซนเตอร์ของธนาคารดังกล่าว จากนั้นก็ไปแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองอุบลราชธานี แม้ตำรวจจะรับแจ้งความ แต่ก็บอกว่าไม่น่าจะได้เงินคืน ทำให้ตนเองใจเสีย และเมื่อกลับมาตรวจดูแอพแปลกปลอมอีกครั้ง ตนเองก็พบแอพแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงถอนการติดตั้งแอพดังกล่าวไป ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าแอพดังกล่าวติดตั้งไว้ตั้งแต่ตอนไหน เพราะก่อนหน้านี้ ลูกสาวมักจะยืมโทรศัพท์มือถือของตนเองไปเล่นเป็นประจำ

Cr. FB สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว


เพิ่มเติม 13/1/68 8.32 น. เพียงเพิ่มชื่อในรายชื่อผู้ติดต่อของเหยื่อ ปกติจะใช้ชื่อคน แต่มิจฉาชีพใช้ชื่อ เป็นเบอร์ธนาคาร  สยอง

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่