เปิด 6 ข้อสาย ‘กาแฟ’ ควรรู้ไว้ และ สีไข่แดงที่ต่างกันบอกอะไรได้บ้าง?

เปิด 6 ข้อสาย ‘กาแฟ’ ควรรู้ไว้ ดื่มตอนท้องว่างอาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย

ทำความเข้าใจให้ดีก่อน ดื่มกาแฟตอนท้องว่าง รู้หรือไม่อาจเกิดผลร้ายต่อร่างกายได้
แน่นอนว่า “กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของทั่วโลกที่หลายคนมักดื่มกันในตอนเช้า โดยจะช่วยให้เรากระปรี้กระเปร่า พร้อมที่จะออกไปทำงาน ไปกิจกรรมต่างๆ
แต่เคยรู้หรือไม่ว่า หากเราดื่มกาแฟขณะที่เราท้องว่างอยู่นั้น อาจทำให้มีอาการผิดปกติกับร่างกายได้
ด้วยเพราะกาแฟมีคาเฟอีน ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและฮอร์โมน
เราลองมาดูกันว่า ผลของการดื่มกาแฟขณะที่ท้องว่างจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
1.มีผลต่อการดูดซึมของแร่ธาตุ
กาเฟอีนจากกาแฟจะขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม สังกะสี และธาตุเหล็ก ดังนั้นการดื่มกาแฟจึงทำให้ร่างกายไม่ดูดซึมแคลเซียม และแร่ธาตุที่จะเข้ามาสู่ร่างกาย หรือดูดซึมน้อยมาก จนทำให้ได้รับแร่ธาตุไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายได้มากทีเดียว

2.ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
กาเฟอีนในกาแฟจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ หากดื่มในเวลาท้องว่างจะทำให้ระคายเคือง อีกทั้งในกาแฟจะมีตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำย่อยในร่างกาย ดังนั้นการดื่มกาแฟตอนเช้าขณะที่ท้องว่างอยู่ จึงทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย

3.มีอาการใจสั่น
กาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟ ถือว่าเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยในการกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาท ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น โดยหากได้รับกาเฟอีนในปริมาณที่มากเกิน จะทำให้ใจสั่น กระวนกระวาย และไม่มีสมาธิได้นั่นเอง

4.ความอยากอาหารลดลง
การดื่มกาแฟขณะท้องว่าง จะทำให้มื้อถัดไปรู้สึกไม่หิว ไม่อยากทานอะไรเลย และเมื่อเป็นแบบนี้ จะทำให้ร่างกายของเรานำพลังงานมาใช้ได้น้อย และทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดขาดสารอาหาร ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็คือ ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และระบบการเผาผลาญแย่ลง

5.ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
การดื่มกาแฟในตอนเช้าอาจทำให้เรารู้สึกอิ่ม แต่การดื่มในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ย่อมเสี่ยงต่อการทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ เนื่องจากในกาแฟมีส่วนผสมของนม น้ำตาล และครีมเทียมในปริมาณมาก

6.เสี่ยงโรคกระดูกพรุน
กาเฟอีน มีส่วนช่วยในกระตุ้นการขับปัสสาวะ แต่การดื่มกาแฟตอนท้องว่างจะทำให้เกิดการปัสสาวะบ่อย และเมื่อดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมไปกับปัสสาวะในปริมาณมาก และเข้าสู่ภาวะการเกิดโรคกระดูกพรุนได้... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4266818/



สีไข่แดงที่ต่างกันบอกอะไรได้บ้าง?

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าทำไมไข่แดงของไข่ไก่จึงมีสีแตกต่างกัน และมีผลหรือไม่ต่อคุณประโยชน์ทางโภชนาการ

ไข่ไก่เป็นวัตถุดิบยอดนิยมในการทำอาหาร และถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถรับประทานได้แทบจะทุกเพศทุกวัย ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้หรือผู้ป่วยบางโรค

ไข่ไก่ที่มีที่มาแตกต่างกันย่อมมีสีไม่เหมือนกันตั้งแต่สีของเปลือกไปจนถึงสีของไข่แดง แม้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ปีกและไข่ชี้ว่า ไข่แดงสีเข้มอาจไม่จำเป็นว่าจะดีกว่าไข่แดงสีอ่อน แต่สีที่แตกต่างกันเหล่านี้ก็บอกอะไรได้หลายอย่าง

“สีของไข่แดงอาจมีตั้งแต่สีเกือบขาวไปจนถึงสีแดง” ดร. ริชาร์ด แบลตช์ฟอร์ด นักวิจัยด้านสัตว์ปีกและผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าว “แต่สีในเฉดที่สุดขั้วนั้นพบเห็นได้ยากมาก”

ในภาควิชาสัตวศาสตร์ของดร. แบลตช์ฟอร์ดแบ่งเฉดสีของไข่แดงออกเป็น 16 สี โดยสีเบอร์ 16 เป็นสีเหลืองจนเกือบส้มซึ่งเป็นเฉดสีที่เข้มที่สุด เขากล่าวว่าคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าจะชอบไข่แดงที่มีสีเข้ม ๆ มากกว่า

สีของไข่แดงนั้นเกิดจากหลายปัจจัย และส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับอาหารที่ไก่กินเข้าไป ดร. ซูโนห์ เช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการสัตว์ปีกที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อสีของไข่แดงได้แก่ อาหารไก่, ปริมาณแซนโทฟิลล์ (สารประกอบสีเหลืองที่ส่งผลต่อสีของไข่แดง พบได้ในใบและเมล็ดพืช), การเข้าถึงทุ่งหญ้าสดและปริมาณข้าวโพดในอาหาร 

สีของไข่แดงบอกอะไรได้บ้าง? ดร. เจน ฮูชินส์ ผู้อำนวยการวิจัยโภชนาการที่ Egg Nutrition Center ของ The American Egg Board อธิบายว่า ไข่แดงที่มีสีเหลืองซีดบ่งบอกว่าไก่ได้รับอาหารที่มีข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวโพดสีขาวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไข่แดงที่มีสีเหลืองสดหรือสีเหลืองส้มบ่งบอกว่า ไก่กินข้าวโพดและ/หรือหญ้าอัลฟัลฟาเป็นส่วนใหญ่ 

สำหรับไข่แดงที่มีสีส้มเกิดจากการเติมกลีบดอกดาวเรืองหรือพริกแดงลงในอาหารไก่ นอกจากนี้ สีไข่แดงที่เข้มขึ้นอาจสะท้อนถึงสภาพที่ไก่ได้ออกไปหาอาหารกินเอง สามารถเข้าถึงพืชและแมลงต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อสีของไข่แดง 

แต่สีของไข่แดงไม่ได้บ่งบอกว่าถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่ากันเสมอไป คุณค่าทางโภชนาการของไข่ ซึ่งรวมถึงวิตามินที่ละลายในไขมันอย่างเอ,ดี,อี,เค ขึ้นอยู่กับอาหารที่ไก่กิน สุขภาพ สายพันธุ์ อายุของไก่ และสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงไก่มากกว่าสีของไข่แดง 

ไก่ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้ามักจะผลิตไข่ที่มีสารอาหาร เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินในปริมาณที่สูงกว่า เนื่องจากพวกมันได้รับอาหารที่หลากหลาย ไม่ใช่เพราะสีของไข่แดงที่เข้มกว่า

อย่างไรก็ตาม สีของไข่แดงสามารถบ่งบอกได้ว่าไข่มีแคโรทีนอยด์มากเพียงใด ดร. ฮูชินส์กล่าวว่า แคโรทีนอยด์มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพดวงตาที่ดี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เบาหวาน และการอักเสบในร่างกาย “ไข่แดงส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสีเหลืองสดใสหรือสีเหลืองส้ม เนื่องมาจากสารแคโรทีนอยด์ ลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งโดยทั่วไปมาจากข้าวโพดในอาหารของไก่”

ฮูชินส์ยังเสริมว่า โดยทั่วไป ไข่แดงที่มีสีส้มหรือสีเข้มกว่าจะบ่งบอกถึงความเข้มข้นของแคโรทีนอยด์ที่สูงกว่า “อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องแคโรทีนอยด์แล้ว สีของไข่แดงไม่ได้บ่งบอกว่าไข่ใบนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าหรือน้อยกว่า” 

แต่ถ้าเป็นเรื่องของรสชาติ ปรากฏว่า ไข่แดงที่มีสีเข้มมักจะให้รสชาติที่ดีกว่า ไก่ที่กินอาหารที่มีแมลงและพืชหลากหลายชนิด เช่น ไก่ที่เลี้ยงปล่อยในทุ่ง มักจะทำให้ไข่แดงมีรสชาติเข้มข้นและอร่อยกว่า เบรียนา คิลลีน บรรณาธิการอาวุโสด้านอาหารของนิตยสารฟู้ดแอนด์ไวน์และเป็นเจ้าของฟาร์มไก่ในเมืองเชลเบิร์น รัฐเวอร์มอนต์ กล่าวว่า “ไข่ที่มีรสชาติดีที่สุดมาจากไก่ที่มีความสุขที่ได้หากินตามธรรมชาติ ได้กินหญ้า แมลง และเศษผัก อาหารไก่สามารถทำให้ไข่แดงมีสีส้มได้ แต่รสชาติไม่สามารถเทียบได้กับไข่แดงของไก่ที่ได้หากินตามธรรมชาติ”

ที่มา : foodandwine.com... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4269528/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่