[ตำนานชั้น 14] ว่าด้วยกติกาการพักโทษ, การรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ

ขอนำเสนอข้อมูลความรู้จากกรมราชทัณฑ์ จากที่ก่อนหน้านี้เคยนำเสนอเรื่อง บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมภายในเรือนจำ-การควบคุมผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำไปแล้ว



. . .

ความจริงระเบียบกรมราชทัณฑ์มีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังอยู่แล้ว โดยไม่ต้องกลัวว่าถ้าเข้าเรือนจำแล้วจะไม่ปลอดภัย สำหรับคนชรา คนป่วย เรือนจำจะมีการแยกแดนหรือแยกสถานที่สำหรับคุมขัง หรืออย่างน้อยๆไปถูกคุมขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็ยังดี ไม่ได้ลำบาก มีแพทย์มีพยาบาล เพียงแต่ไม่อิสระเพราะยังเป็นเรือนจำ ออกไปไหนไม่ได้

ส่วนกรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยมากจนไม่สามารถรักษาได้ในเรือนจำหรือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตามระเบียบผู้บัญชาการเรือนจำหรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้อนุญาตให้ออกไปพักรักษาตัวโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าผลัดเปลี่ยนเวรกันไปควบคุม และมีการใช้เครื่องพันธนาการตามเหมาะกับสภาพและวัยผู้ต้องขัง (เช่นกุญแจข้อเท้า)

*แทบจะทุกวันหรือทุกสัปดาห์จะมีผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอก (ในเขตกรุงเทพ) ซึ่งโรงพยาบาลที่รักษาผู้ต้องขังอยู่เป็นปกติคือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (นครปฐม)
-ผมมีตัวอย่างสำเนาเอกสารมากมายเรื่องการนำส่งผู้ต้องขังแต่ละคนรักษา แต่ไม่ขอเอามานำเสนอถ้ากรมเขาไม่อนุญาต-

. . .

สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมนักโทษต้องมีการจำแนก ต้องแยกแดน ต้องไม่เท่าเทียม ?

ก็ด้วยเหตุผลคือ ‘ความยุติธรรม’ มันเลยต้องไม่เท่าเทียม เพราะผู้ต้องขังแต่ละคนมีภูมิหลังพฤติกรรมต่างกัน เช่นบางประเภทเป็นอาชญากรโดยอาชีพ อาชญากรโดยสันดาน ก่อเหตุเข้าคุกออกคุกทั้งชีวิต ประเภทก่อเหตุทำร้ายต่อยตีเกเรโดยเป็นสันดานต่อเนื่อง เรียกว่าอยู่สังคมภายนอกไม่ได้เลย ต้องอยู่คุกสถานเดียว กับคนอีกส่วนนึงติดคุกเพราะก่อเหตุครั้งเดียวหรือน้อยครั้ง อาจฉ้อโกง ทำร้าย หรือผิดต่อชีวิตโดยเหตุบันดาลโทสะ ไม่ได้เป็นอาชญากรโดยสันดานหรือพฤติกรรมต่อเนื่อง แล้วจะเอาไปอยู่รวมกันอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร ก็จะเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

กรมราชทัณฑ์มีการจำแนก แยกลักษณะ-ประเภทผู้ต้องขัง ทั้งเรื่องเพศ (ชาย/หญิง/ข้ามเพศ-แปลงเพศ), คนป่วย, คนชรา, พฤติกรรมก่อน-หลังจำคุก โดยจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเรือนจำ พยาบาล และนักจิตฯ เป็นกรรมการพิจารณาจำแนกลักษณะ

ราชทัณฑ์ไทยตั้งมาตรฐานไว้ในระดับสูงพอควรเลยก็ว่าได้ เรียกว่าพอจะเข้ามาตรฐาน Mandela Rules ควบคุมดูแลนักโทษตามความเหมาะสมกับโทษ คดีและพฤติกรรม

ไม่มีอย่างที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่าให้สิทธิ์คนรวยคนมีอำนาจไม่ต้องเข้าคุก เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะนักการเมือง, เสื้อเหลือง-เสื้อแดง, นักธุรกิจยิงเสือดำ, ตำรวจ, นักข่าวช่อง 3, ดารานักร้อง, คดีจำนำข้าว หรือเศรษฐีเจ้าของกิจการจำนวนมาก ทุกคนล้วนติดคุกจริง แต่พอมีกรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่เกิดจากการแหวกกติกาของผู้รับผิดชอบไม่กี่คนก็กลายเป็นข้อครหาทำให้ราชทัณฑ์ไทยแปดเปื้อนได้

ไม่ใช่แค่คนดังเหล่านี้ แต่นักโทษความผิดรอบแรกทั้งหมด คนไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไม่มีเส้นสาย รวมถึงคนแก่ คนป่วย ล้วนได้รับการจัดให้อยู่ตามแดนที่เหมาะสม มีหน้าที่ที่เหมาะสม (ในคุกแต่ละคนจะมีงานมีหน้าที่) คนป่วยบางกรณีต้องอยู่สถานพยาบาล หรือไม่ก็โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยจะมีการแยกออกจากนักโทษที่ความผิดหลายรอบ หรือนักโทษที่มีปัญหาทำผิดวินัยทะเลาะวิวาททำร้ายกัน

((มีงานวิจัยว่าการเอาคนทำผิดกฎหมายไปขังคุกรวมกันหรือการลงโทษหนักๆไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดี แต่ทำให้มีพฤติกรรมเลวร้ายมากขึ้น))

การที่เอาคนเข้าไปรับโทษแล้วปล่อยออกมาสู่สังคม มันต้องมีการพัฒนาพฤตินิสัย ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือการจำแนกให้อยู่แดนที่เหมาะสมกับโทษ คดีและพฤติกรรม

*กรณีคนประเภทที่เคยมีผลงานดี เป็นนักการเมือง หรืออดีตนักกีฬา หรืออดีตนายก ก็ถือเป็นบุคคลที่สร้างชื่อเสียงมีคุณงามความดีต่อประเทศ ไม่ใช่อาชญากรอาชีพ เพียงทำผิดกฎหมายมารับโทษ ก็จะมีการจำแนกให้อยู่แดนที่เหมาะสม มีงานที่เหมาะสม

*อย่างกรณีนักข่าวช่อง 3 ก็เคยมีหน้าที่ทำข่าวในเรือนจำ หรือหลายๆคนที่มีความรู้ความสามารถ ก็ช่วยงานเจ้าหน้าที่ได้ ใครที่มีความสามารถทำหนังสือ ทำวิดีโอ ทำภาพ-ออกแบบ ก็สามารถช่วยงานเหล่านี้ได้

*มาถึงตรงนี้ กรมราชทัณฑ์ก็ไม่ควรทำแอ๊บ คอยหลับๆหรี่ๆตา หรือกระเติ๊กกระต๊ากกลัวการถูกวิจารณ์ ควรเผยตามตรงว่า นักโทษที่มีความสามารถพิมพ์ดีด-ใช้โปรแกรมคอมเป็น ก็สามารถจับคอมช่วยงานได้ นักโทษที่มีความสามารถถ่ายรูปแต่งภาพ ก็สามารถช่วยได้ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะใช้อินเตอร์เน็ต ! อธิบายไปเลยง่ายๆว่า ‘ภายในเรือนจำไม่มีอินเตอร์เน็ต’ ! จะมีการใช้อินเตอร์เน็ตเฉพาะเจ้าหน้าที่ภายนอกเรือนจำ ส่วนภายในใช้แค่งานออฟไลน์ หรือใช้ส่วนของห้องเยี่ยมญาติผ่านไลน์ และส่วนของห้องออกศาลผ่านจอ (ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงโควิด) เป็นส่วนงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังออกศาล โดยจะมีการแลนสัญญาณจากภายนอก

*นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ยังถูกใช้สำหรับการเรียนการศึกษาและฝึกวิชาชีพ โดยอุปกรณ์สำหรับงานผู้ต้องขัง จะไม่เกี่ยวข้องกับงานทัณฑปฏิบัติและงานด้านความมั่นคงของเรือนจำ ถ้ากรมราชทัณฑ์อธิบายชัดๆแค่นี้คนก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องออกหนังสืออะไรมาคุมให้วุ่นวายและทำเป็นหรี่ๆตา เพราะคนภายนอกหรือสื่อเขาก็ไม่ได้มานั่งอ่านเอกสารคุณอยู่ดี  

-สำหรับนักโทษประเภทเกเร หรือพฤติกรรมความผิดซ้ำซาก ก็จะถูกจัดให้อยู่แดนที่มีแต่คนประเภทเดียวกัน งานลำบากหน่อย แล้วยิ่งถ้าประเภทกุไม่กลับ ควบคุมยากไม่อยู่ในระเบียบเลย เรือนจำก็จะทำเรื่องส่งไปควบคุมที่ซูเปอร์แม็กซ์ หรือเรือนจำประเภทมีบทลงโทษฝึกวินัยหนักเพื่อดัดนิสัย

((อันนี้ก็อาจไม่ตรงกับ Mandela Rules แต่เมืองไทยไม่มีสถานที่และบุคลากรรองรับการขังเดี่ยวนักโทษเกเรเหล่านี้เพียงพอ จึงยังคงมีเรือนจำโหดๆสำหรับคุมขังนักโทษเหล่านี้โดยรวม))

*การฝึกวินัยผู้ต้องขังของไทยยังใช้แบบโบราณคือระบบทหาร ยังคงไม่ปรับตามสากล แต่อยู่ในช่วงขั้นเริ่มต้นที่มีการพัฒนาพฤตินิสัยตามแนวทางนักจิตวิทยาเข้ามาใช้ควบคู่กันไปกับวิธีการเก่าๆ*

. . .

*ส่วนเรื่อง “ชั้น” ของผู้ต้องขัง ทุกวันนี้ต้องยอมรับตามตรงว่าของไทยยังถือว่าเป็น “ชั้นอุปโลกน์” ค่อนข้างไร้สาระ ที่มาแบ่งผู้ต้องขังออกเป็น 6 ชั้น และมีการเลื่อนชั้นตามรอบเวลา ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวและการทดสอบตรวจสอบจริงๆ เราก็เลยจะเห็นได้ว่าผลออกมาคือนักโทษ “ชั้นเยี่ยม” มีพวกเกกมะเหรกเกเรของสังคมจำนวนมาก แล้วก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทุกอย่าง ขณะที่เราจะพบนักโทษชั้น “ต้องปรับปรุงมาก” (ชั้นเลวสุด) กลับเป็นผู้ต้องขังพฤติกรรมเรียบร้อย ว่าง่ายสอนง่าย แต่ไม่ได้รับการเลื่อนชั้นตามพฤติกรรมเนื่องจากติดมาตราบางคดี จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆถึงแม้จะมีกำหนดโทษน้อยก็ตาม (ซึ่งเป็นผลมาจากการออกกฎกระทรวงที่บกพร่องปี 63)

*การออกกฎกระทรวงตามกระแสนาย “สมคิด พุ่มพวง” ปี 63 เป็นอีกหนึ่งความกระโตกกระตาก ที่ไม่ได้ช่วยให้ราชทัณฑ์มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือไม่เป็นผลดีต่อผู้ต้องขัง :

1. ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่มีแรงจูงใจให้ทำความดี

2. เป็นการเพิ่มโทษจากอำนาจศาล เมื่อศาลตัดสินแล้วว่าผู้ต้องหามีความผิดกำหนดโทษมากน้อยเท่าใด นั่นถือเป็นการเหมาะสมแล้วตามน้ำหนักของความผิด การปรับลดชั้นจากมาตราจึงเหมือนเป็นการเพิ่มโทษจากคำตัดสินของศาล

3. ยังไม่พอ ผู้ต้องขังบางมาตราดังกล่าว ยังต้องโดน พรบ.J-SOC เพิ่มเติมหลังพ้นโทษ ซึ่งก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโทษจากคำตัดสินของศาลเข้าไปอีก ฉะนั้นเมื่อออก J-SOC มาเพื่อติดตามควบคุมผู้พ้นโทษแล้ว การปรับลดชั้นตามกฎกระทรวง 63 ก็ควรแก้ไขยกเลิกไป

((ในส่วนนี้ไว้จะนำเสนอโอกาสอื่นต่อไป ซึ่งจะว่าด้วยเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ออกมาแล้วถูกนำมาใช้อย่างบิดเบี้ยว ไม่ทั่วถึงตามคำสั่งกรมฯและไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเรื่องของ การพักโทษ, โครงการกำลังใจฯ นักโทษที่อยู่กินในรีสอร์ทชั่วคราว ใช่ทุกคนที่เข้าเกณฑ์ตามโควต้าและคนที่ควรได้รับสิทธิ์จริงหรือ ?))



. . .




มาถึงกรณี ”การพักโทษ“ ไม่ว่าจะพักโทษกรณีปกติ และพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ต้องมีการประชุมโดยคณะกรรมการพักโทษเป็นผู้คัดเลือก สัมภาษณ์ตรวจสอบพฤติกรรมผู้ต้องขัง

ทีนี้กรณีนักโทษตำนานชั้น 14 ถ้าจะดูว่าการพักโทษมันถูกต้องครบขั้นตอนหรือไม่ มันก็ต้องไปตรวจสอบจากรายชื่อคณะกรรมการพักโทษชุดนั้นมีใครบ้าง ? ใครเป็นผู้บัญชาการเรือนจำที่เป็นผู้เซ็น ? สุดท้ายผู้อนุญาตพักโทษคืออธิบดีกรม จะเป็นลายเซ็นใหญ่สุด

ส่วน สนง.คุมประพฤติ จะมีหน้าที่เพียงควบคุมนักโทษติดกำไล EM จะเป็นผู้อนุญาตให้นักโทษออกนอกพื้นที่ตามขออนุญาต ทุกครั้งที่ออกนอกพื้นที่ ต้องมีการขออนุญาต สามารถดูเอกสารได้ ตรงนี้จะไม่เกี่ยวกับราชทัณฑ์

. . .

สำหรับประเด็นที่เคยมีการถกเถียงระดับสภาคือ การควบคุมนักโทษในสถานคุมขังนอกเรือนจำ ตรงนี้ต้องบอกว่ามันมีกฎหมายมีระเบียบมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีคำสั่งออกมาใช้

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ว่าจะจับเอานักโทษไปอยู่ในคุกอย่างเดียว มันมีตั้งแต่ขั้นตอนของกระบวนการตัดสิน มีข้อกฎหมายที่ตัดสินให้ติด EM จำกัดบริเวณ ให้อยู่แต่ในเขตบ้านหรือทำงานสาธารณะประโยชน์ชดใช้ความผิด หรือทำงานชดใช้ผู้เสียหาย อันนี้สำหรับนักโทษที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นอาชญากรโดยอาชีพหรือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ไม่ใช่นักโทษที่มีพฤติกรรมเป็นผู้ค้ายาเสพติด

ส่วนเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายตรงนี้ แต่เรื่องสถานคุมขังนอกเรือนจำ มันมี พรบ.ออกมาตั้งแต่ 2560 แล้ว โดยมีเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่จัดสถานที่ให้บ้าน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานประกอบการ เป็นสถานที่คุมขังนักโทษที่เหลือโทษไม่มากและไม่เกี่ยวกับคดียาเสพติด แต่ก็ยังไม่เคยนำมาใช้ซักที ไม่เคยมีระเบียบย่อยสั่งออกมา แต่พอมีอดีตนายกกลับมารับโทษ กลับมีหนังสือราชทัณฑ์ออกมาเพื่อรองรับ มันก็เลยถูกคัดค้านขัดขวางซะก่อนจากสื่อมวลชนและฝ่ายค้าน ทำให้นักโทษจำนวนมากเสียประโยชน์ไปด้วย ทั้งที่พวกเขาควรได้รับโอกาสคุมขังนอกเรือนจำตามโปรแกรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

. . .

กระทู้ก่อน ว่าด้วยเรื่องบุคคลภายนอกเข้าภายในเรือนจำ

https://ppantip.com/topic/43048063?sc=t5N5PKJ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่