JJNY : 5in1 โรมแจงปมชั้น14│ปกรณ์วุฒิบี้รบ.│ล่มสอบที่เขากระโดง ซีกรบ.วอล์กเอาต์​│ขุนคลังรับศก.โตต่ำ│สื่ออ้างอาจก่อการร้าย

โรม แจงเหตุ เชิญทักษิณมาตอบเอง ปมชั้น 14 ย้อนถามรบ. จะทำให้มีพิรุธทำไม แค่ชื่อหมอยังตอบไม่ได้
https://www.matichon.co.th/politics/news_4896624
 
 
‘โรม’ ลั่น ถามแค่ชื่อหมอ-คนที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้รับคำตอบ เลยต้องเชิญ ‘ทักษิณ’ เจ้าตัวมาเอง ตอบปมรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ ย้อน ‘ทวี’ ถ้ารัฐบาลทำถูกทำไมสังคมสงสัย ยันไม่ได้หาเศษหาเลย บอกมาชี้แจง หากป่วยจริงก็จบ จะมีพิรุธทำไม ตอบให้ข้อมูลกฎหมายก็ผิด สอนมวย PDPA ยกเว้นสภา-กมธ. ตรวจสอบ
 
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า การที่กรรมาธิการมั่นคงฯ ตรวจสอบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการหาเศษหาเลย
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องหาเศษหาเลย มันไม่ใช่เรื่องเล็กที่เราจะมองข้ามได้ ตนคิดว่าตัวชี้วัดสำคัญไม่ใช่กรรมาธิการอย่างเดียว แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือภาพรวมของสังคมที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้มาโดยตลอด ถ้าเรามองด้วยใจเป็นธรรมเรื่องของนายทักษิณผ่านมาพอสมควร แต่ทำไมสังคมยังติดใจ ยังสงสัย ยังมีคำถาม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ ดังนั้น การที่กรรมาธิการได้แสวงหาข้อเท็จจริงนี้ ทั้งในแง่มุมกฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจเรา ในแง่ของการเมือง กรรมาธิการก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องถามและตรวจสอบรัฐบาล ถ้าฝั่งรัฐบาลทำให้ถูกต้อง รัฐบาลไม่มีอะไรที่ปกปิด ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลในเรื่องนี้ ตนคิดว่ารัฐบาลทำได้ง่ายๆ คือการให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้
 
สุดท้ายผลพิสูจน์ออกมา คุณทักษิณป่วยจริง มีความจำเป็นที่จะต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจจริง มีความจำเป็น ที่จะต้องรักษาตัวชั้น 14 นานขนาดนี้ แล้วต้องอยู่ที่ชั้น 14 เท่านั้น มีความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าสุดท้ายมันก็จะเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ ถ้าสามารถตรวจสอบได้ มันก็จะเป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ คนที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อได้รับคำตอบมันก็จบ แต่ปัญหาก็คือว่าทำไมต้องทำให้เรื่องนี้ดูมีพิรุธ ทำไมต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการ ทำไมถึงต้องพยามอ้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย PDPA ต่างๆ ซึ่งเป็นการอ้างที่ผิด เพราะกฎหมาย PDPA เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าไม่รวมถึงการทำหน้าที่ของสภาและกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการหาเศษหาเลย ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่เป็นเรื่องที่กรรมาธิการเรามีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา เราในฐานะตัวแทนประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าตกลงแล้วภายใต้รัฐบาลนี้ กระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างไร เลือกปฏิบัติให้สิทธิพิเศษกับใคร
เมื่อถามว่า นัดต่อไปจะมีเนื้อหาสาระอะไร และทำไมต้องถึงขนาดเชิญนายทักษิณ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าสัปดาห์ที่แล้วเราได้ข้อมูลที่เพียงพอมันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อ หรือเชิญนายทักษิณ แต่ต้องยอมรับว่าเราได้รับความร่วมมือน้อยมาก รวมไปถึงข้อมูลที่มีการพูดกันในกรรมาธิการต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าข้อมูลที่ให้เราก็ให้น้อย
 
กระทั่งก็ถามชื่อหมอ ชื่อคุณพยาบาลต่างๆ เรายังไม่ได้รับคำตอบเลย ข้อมูลหลายส่วนเป็นข้อมูลที่เป็นการพูดภาพรวม เป็นการพูดกว้างๆ เป็นการพูดหลักการทั่วไป แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ทำให้ข้อมูลให้กรรมาธิการเข้าใจ ผมก็เลยคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อในครั้งนี้ ซึ่งการพิจารณาต่อในครั้งนี้ เราก็พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานชี้แจง ทำไมถึงต้องเชิญคุณทักษิณ ในเมื่อถามหมอ ถามคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับคำตอบ ก็คงต้องถามคนป่วย คนที่เขาบอกว่าเขาป่วยดู ซึ่งถ้าเราได้คำตอบที่ชัดเจน ผมคิดว่ามันก็จบ แค่นั้นเอง” นายรังสิมันต์กล่าว



เอกชนพร้อมแล้ว แต่รัฐช้ามาก! ปกรณ์วุฒิ บี้ รัฐบาล เร่งผลักดัน Cell Broadcast
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_9503242

เอกชนพร้อมแล้ว แต่รัฐช้ามาก! ปกรณ์วุฒิ บี้ รัฐบาลเร่งผลักดัน Cell Broadcast รับมือภัยทันท่วงที เหน็บ อย่าให้ความขัดแย้งพรรคร่วม กระทบภารกิจประโยชน์ประชาชน
 
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2567 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์หรือทวิตเตอร์ ถึงกรณี Cell Broadcast (ระบบแจ้งเตือนประชาชนเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน) ระบุข้อความว่า 

เอกชนพร้อมแล้ว แต่หน่วยงานรัฐยังช้ามาก
 
เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานในฐานะ กมธ.การสื่อสารโทรคมนาคมฯ ณ บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อรับชมความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast ในการแจ้งเตือนประชาชน ในภัยฉุกเฉินต่างๆ
 
จากการทดสอบและพูดคุย ได้รับทราบว่า ทางเอกชนค่อนข้างมีความพร้อมในการใช้ระบบนี้มากแล้ว และในสัปดาห์หน้าจะมีการทดสอบระบบการใช้งานจริง ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จ.ภูเก็ต
 
ดังนั้น ระบบ Cell Broadcast ของประเทศไทย ณ ตอนนี้ จึงเหลือเพียงแค่ความพร้อมในฝั่งภาครัฐ คือ ส่วน CBE หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น Command Center ของระบบนี้ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ และได้ทราบข้อมูลมาว่า ยังอยู่ในช่วงระหว่างพิจารณาการประกวดราคา ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็ต้องมาทดสอบร่วมกับเอกชนอีกครั้ง และทาง ปภ. แจ้งว่า จะใช้งานได้จริง ประมาณเดือน มิ.ย.- ก.ค. ปี 68
 
หากเราย้อนไป เมื่องบ 68 ที่มีการของบ Cell Broadcast ซ้ำซ้อน ระหว่าง ปภ. กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งท้ายที่สุดกระทรวงดีอีก็ได้ถอนงบส่วนนี้ออกไป ด้วยเหตุผลทั้งอำนาจตามกฎหมาย และงบประมาณที่เคยตั้งไว้ตั้งแต่ งบ 67 นั้น การให้ ปภ. เป็นเจ้าภาพ จะมีความพร้อม คล่องตัว และรวดเร็วมากกว่า ซึ่งทางตนและพรรคประชาชนก็เห็นด้วย
 
แต่มาถึงปัจจุบัน ตนก็ยังกังวลว่า ทั้งๆ ที่มีการตั้งงบโครงการนี้มาเป็นปี จนหมดปีงบ 67 และเข้าสู่ ปีงบ 68 มากว่าครึ่งไตรมาสแล้ว โครงการนี้ก็ยังมีความคืบหน้าที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จนไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่า จะสามารถสำเร็จได้ในเดือน มิ.ย.- ก.ค. 68 อย่างที่หน่วยงานได้ให้คำมั่นไว้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงก็ควรจะพร้อมในการใช้งานในเวลาไล่เลี่ยกับเอกชน ที่ ณ ตอนนี้พร้อมแล้ว
 
และในอีกไม่นานก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่ฝุ่น PM2.5 จะเพิ่มสูงแล้ว รวมไปถึงหากล่าช้ากว่ากลางปีหน้าก็ยังมีภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ฯลฯ ที่อาจไม่ได้รับการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือ ยังไม่รวมถึงเหตุร้ายแรงที่ไม่คาดคิดต่างๆ ที่ระบบ Cell Broadcast อาจจะสามารถใช้เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้

ผมต้องขอเรียกร้องให้นายกฯ รมว.ดีอี และรมว.มหาดไทย พูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ทางกระทรวงมหาดไทยกับดีอี ผลักดันเรื่องนี้ร่วมกันเป็นวาระเร่งด่วน ให้ระบบ Cell Broadcast ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้ทันท่วงทีกับภัยต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าอย่างทันท่วงที อย่าให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมาทำให้ภารกิจที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนต้องหยุดชะงักลง” นายปกรณ์วุฒิกล่าว
 
https://x.com/Earth_MFP/status/1856554409981030642
 


ล่มสอบที่เขากระโดง กมธ.ที่ดิน องค์ประชุมไม่ครบ ส.ส.ซีกรบ.วอล์กเอาต์​ ไม่พิจารณาด้วย
https://www.matichon.co.th/politics/news_4896484

ล่มสอบที่เขากระโดง ”กมธ.ที่ดิน“ เผย องค์ประชุม​ไม่ครบก่อนขอมติ​ หลัง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลวอล์กเอาต์​ “พูนศักดิ์” เชื่อ ยังมีเวลาขอมติอีกครั้งสัปดาห์หน้า​
 
เมื่อเวลา 13.40 น.วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ที่รัฐสภา กรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ., นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ., นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ. แถลงภายหลังการประชุม กมธ.ในประเด็นข้อพิพาทเขากระโดง
โดยนายพูนศักดิ์กล่าวว่า เนื่องจากสมาชิกของทาง กมธ.ไม่ครบองค์ประชุม​ จึงไม่สามารถขอมติที่จะนำเรื่องเขากระโดงเข้าสู่วาระการพิจารณากรรมาธิการได้ แต่เชื่อได้ว่าขณะนี้ยังมีเวลาที่จะขอมตินำเรื่องที่ดินเขากระโดงเข้าสู่กรรมาธิการอีกครั้ง
 
ขณะที่นายเลาฟั้ง​กล่าว่า พรรคเห็นว่าเรื่องนี้​เป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งแง่เรื่องกฎหมายและเรื่องการปฏิบัติ​ ซึ่งจะมีการแถลงในรายละเอียดอีกครั้งผ่านสื่อของพรรคในวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านอย่างละเอียด​ เพื่อการสื่อสารที่ชัดเจน และเรื่องนี้มีแผนที่จะนำมาพิจารณา เรื่องเขากระโดง​เปรียบเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มีความแหลมคม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม กมธ. เมื่อมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพื่อขอมติ พบว่ามี ส.ส.ของฝั่งรัฐบาล ทั้งที่อยู่ในที่ประชุมและประชุมออนไลน์ ต่างพากันออกจากห้องประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ส่งผลให้ไม่สามารถขอมติได้



"ขุนคลัง" รับ ศก.ไทยโตต่ำ หนี้สาธารณะใกล้เต็มเพดาน เหลือช่องกู้ 3 ล้านล้านใน 4 ปี
https://siamrath.co.th/n/580107

"ขุนคลัง" รับ ศก.ไทยโตต่ำ กดจีดีพีปีนี้เหลือ 2.7% หนี้สาธารณะใกล้เต็มเพดาน เหลือช่องกู้ 3 ล้านล้านใน 4 ปี

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.67 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Navigating Economic Challenges : 
The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาการลงทุนลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP จากก่อนหน้านี้ที่ 40% ของ GDP ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลง โดย GDP เฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น ขณะที่ในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ที่ 2.7% ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา
 
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-0.8% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน และสะท้อนไปยังสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 89-90% ของ GDP โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ซึ่งยอมรับว่ามีความน่าเป็นห่วง ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหามีหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้รัฐจำเป็นต้องเร่งนำงบประมาณมาอุดหนุนจุนเจือ ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 65-66% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 12 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่า GDP ของประเทศอยู่ที่ 18-19 ล้านล้านบาท จากเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP สะท้อนว่าพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาลมีอยู่ค่อนข้างจำกัด โดยรัฐบาลยังเหลือความสามารถในการกู้เงินเพิ่มเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มการลงทุนได้อีกราว 3-4% เท่านั้น คิดเป็นวงเงินที่ 3 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี หรือเฉลี่ยรัฐบาลสามารถกู้เพื่อชดเชยขาดดุลได้ปีละ 7.5 แสนล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5%
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่