ค้นคว้าหาหุ้นโลก: โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตั้งแต่ต้นปี 2567 ผมได้วาง “Playbook” ของการลงทุนของผมไว้ว่า ผมจะปรับพอร์ตการลงทุนระยะยาวของผมให้ประกอบไปด้วยหุ้นเวียตนามประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งจะเป็น “กองหน้า” ที่จะใช้ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะผมจะเลือกหุ้นเอง

ซึ่งจะเป็นหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ซึ่งก็คือหุ้นที่จะเติบโตระยะยาวและมีความสามารถในการแข่งขันสูงและยั่งยืน และผมก็เริ่มทำตั้งแต่ต้นปี มีการขายหุ้นตัวเล็ก ๆ ราคาถูกที่ผมถือมายาวนานไปทั้งหมดนับร้อยตัว และใช้เงินที่ได้ซื้อหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ขนาดใหญ่ไม่เกิน 10 ตัว ซึ่งประมาณ 5 ตัวใหญ่ที่สุดคิดเป็นกว่า 75% ของพอร์ตไปแล้ว

หุ้นกลุ่มที่สองอีกประมาณ 1 ใน 3 จะเป็นหุ้นกลุ่มใหม่ที่ผมไม่เคยมีเลยและเป็นหุ้นที่ผมเรียกว่า “หุ้นโลก” เพราะเป็นหุ้นของบริษัทที่มักจะ “ขายสินค้าไปทั่วโลก” คนทั่วไปมักจะรู้จักและคุ้นเคยกับสินค้า รวมถึงผมเองที่ต้องใช้ บางทีเกือบทุกวัน เช่น ดูหนังของ Netflix ใช้โปรแกรมสารพัดในคอมพิวเตอร์ หรือเห็นคนใช้เครื่องแต่งกายจากแบรนด์หรูระดับโลก เป็นต้น

ผมวางแผนว่าภายในปี 2567 ผมน่าจะสามารถลงทุนเม็ดเงินจนครบในหุ้นโลกได้ โดยกลยุทธ์ที่ใช้นั้น ผมจะซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมหรือ ETF ประมาณไม่เกิน 10 ตัว ซึ่งตัวใหญ่ที่สุด 5-6 ตัวควรจะมีขนาดรวมกันมากกว่า 75% ของพอร์ตนี้เช่นเดียวกับพอร์ตหุ้นเวียตนามและพอร์ตหุ้นไทย เพราะผมคิดว่าพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงในระดับนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติได้โดยที่จะมีความเสี่ยงที่พอรับได้

การเลือกหุ้นลงทุนแต่ละตัวหรือกองทุนที่เป็น ETF แต่ละกองนั้น ผมจะทำผ่านการซื้อ DR หรือ DRx หรือกองทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพราะนั่นจะทำให้ผมไม่ต้องเสียภาษี Capital Gain เมื่อขายหุ้นแล้วได้กำไรได้ แต่นั่นทำให้ผมมีหุ้นหรือหลักทรัพย์ให้เลือกจำกัด เฉพาะหุ้นตัวใหญ่ ๆ และมีชื่อเสียงระดับโลกที่บริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินในตลาดหุ้นไทยนำมาออกเป็น DR หรือ DRx หรือทำเป็นกองทุนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ผมดูแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะจำนวน DR และ DRx ที่มีอยู่ดูเหมือนจะมีมากพอและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศแม้ว่าจะไม่นำกลับมายังประเทศไทยอย่างที่เคยเป็น ซึ่งน่าจะทำให้คนที่คิดจะไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งหมดต้องมาลงทุนผ่าน DR ในอนาคต

ตั้งแต่ต้นปี ผมจึงต้องเริ่มวิเคราะห์ว่าหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศตัวไหนน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน และก็พบว่าน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่ก็คือหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปตะวันตก และกลุ่มหุ้นของจีน นอกจากนั้นก็อาจจะมีหุ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่โดดเด่น เช่น หุ้นอินเดียและหุ้นเวียตนามที่มีการทำ DR ในตลาดหุ้นไทยด้วย

ในความเห็นของผม หุ้นอเมริกานั้นมีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และก็ยังเติบโตได้แม้ว่าจะไม่สูงมากนักอานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจอเมริกาและโลกกำลังชะลอตัวลงจากช่วงที่เติบโตเร็วในหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของหุ้นเหล่านั้นก็สูงขึ้นมาก อยู่ในระดับ “All Time High” แม้ว่าจะมีการปรับตัวลงมาบ้างในช่วงเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกว่าการเข้าไปลงทุนมีความเสี่ยงไม่น้อย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สำหรับ “VI พันธุ์แท้” อย่างผม ที่ลงทุนระยะยาว ผมเกลียดที่จะซื้อหุ้นที่ “กำลังร้อนแรง” ใน “ตลาดกระทิง”

ผมกลัวว่า ถ้าซื้อเข้าไปแล้ว ตลาดปรับตัวลงแรง ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไร และหุ้นร้อนแรงตกลงมาหนักมาก อาจจะ “หลายสิบเปอร์เซ็นต์” การลงทุนนั้นก็จะ “เจ็บปวดมาก” เพราะเข้าไป “ผิดเวลา” ต้นทุนของความผิดพลาดก็คือ อาจจะต้องรอไปหลายปีกว่าหุ้นจะกลับมาที่เดิม

หุ้นจีนนั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เป็นช่วงเวลาที่หุ้นตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน อานิสงค์จากเศรษฐกิจที่มีปัญหาและตกต่ำมานาน ประกอบกับการที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายที่ลดความเป็นทุนนิยมลงและหันกลับไปเป็นสังคมนิยมมากขึ้น นอกจากนั้น สงครามการค้ากับอเมริกาและประเทศโลกเสรีที่พัฒนาแล้ว ได้ทำให้มีการถอนทุนจากประเทศจีนและตลาดหุ้นจีน ส่งผลให้หุ้นจีนตกลงมาต่อเนื่อง ราคาหุ้นชั้นดีรวมถึงหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีราคาถูก “เป็นประวัติการณ์”

และนั่นคือสิ่งที่ “VI พันธุ์แท้” อย่างผมสนใจและคิดอยากจะเป็นจุดเริ่มของการลงทุนในกลุ่ม “หุ้นโลก”
ประเด็นต่อมาคือเรื่องของ “Timing” หรือเวลาที่จะเข้าลงทุน ซึ่งก็มีสองเรื่องที่หน่วงผมไว้ทำให้ไม่ได้เริ่มจนถึงวันนี้ก็คือ เรื่องแรก เม็ดเงินที่จะใช้ ยังมีไม่พอเพราะผมขายหุ้นไทยไปน้อยมาก ผมรอ “ก๊อกสุดท้าย” คือวันที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปสูงพอที่ผมจะขายหุ้นจำนวนมากได้ และถึงแม้ว่าดัชนีและราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาบ้างนับจากต้นปี ผมก็ยังคิดว่าผมอยากได้ราคามากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีเงินพอที่จะ “เริ่ม” ลงทุนในหุ้นโลกได้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำเพราะ
เรื่องที่สองก็คือ ถึงวันนี้ อีกประมาณ 40 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าไหน ๆ ก็รอมาตั้งนานแล้ว ผมก็อยากจะรอต่อไปอีกซักเล็กน้อยเพื่อที่จะดูว่าความเสี่ยงของตลาดหุ้นหลังจากวันนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป มีโอกาสเหมือนกันว่าถ้าคนที่เป็นประธานาธิบดีเป็นคนหนึ่ง โลกอาจจะวุ่นวายมากขึ้นได้จากสงครามการค้าและอื่น ๆ ซึ่งจะกระทบต่อตลาดหุ้นโลก-- และตลาดหุ้นจีน

ในระหว่างที่รอนั้น แค่เพียงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน ทางการจีนก็ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมถึงการผ่อนคลายทางการเงินหลาย ๆ มาตรการรวมถึงการลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งในทรัพย์สินที่จับต้องได้และในตลาดหุ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่หงอยเหงามานานก็วิ่งขึ้นแบบ “ระเบิด” ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ดัชนีหลัก ๆ ของทุกตลาดในจีนและฮ่องกงปรับตัวขึ้นไปกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

ความรู้สึกของผมก็คือ ผมคง “ตกรถ” หรืออาจจะไม่ได้ซื้อหุ้นจีนเพื่อลงทุนรอบนี้ถ้าหุ้นที่ขึ้นไปแล้วไม่ถอยลงมา แม้ว่าหลายคนรวมถึงตัวผมเองก็มีความคิดว่า ราคาหุ้นจีนตอนนี้ก็ “ยังไม่แพง” ถ้ามองจากค่า PE ที่ยังไม่สูงอยู่ดีแม้หุ้นจะขึ้นไปมาก แต่จะทำใจได้ยังไงที่จะต้องซื้อแพงขึ้นไปอีกประมาณเกือบ 20% และก็เช่นเดียวกับหุ้นอเมริกาและหุ้นยุโรปที่ก็ดูยังไม่แพงมากแม้ว่าหุ้นจะขึ้นมาเรื่อย ๆ และราคาอยู่ในช่วง “All Time High”
ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสียดายที่ไม่ได้คิดหรือทำเรื่องการลงทุนในหุ้นโลกเร็วกว่านี้ เงินสดประมาณ 5-6% ที่ถือมานานและควรจะเริ่มเข้าไปลงทุนในหุ้นจีนและหุ้นที่ถูกกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนเช่น หุ้นหลุยส์วิตตองที่ราคาตกต่ำมาช่วงหนึ่ง กลับไม่ได้ทำ เพราะกลัวว่าหลังจากเลือกตั้งในอเมริกาจะมีปัญหาหนักและหุ้นจะตกลงไปอีก

พอถึงจุดนี้ คืออาจจะเป็นจุดที่ไม่สามารถซื้อหุ้นโลกที่จะปลอดภัยได้เลย สิ่งที่คิดก็คือ ผมอาจจะต้อง “รอต่อไป” รอจนกว่ามีหุ้นโลกที่เหมาะสมที่จะซื้อ และก็รอต่อไป รอจนกว่าจะสามารถขายหุ้นไทยให้ลดลงจนเหลือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด และถ้าจะมีเงินสดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ “ช่างมัน”

และก็คิดเสียว่าในช่วงนี้ วอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็ถือเงินสด “มหาศาล” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเบิร์กไชร์ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก และก็ไม่เสียดายอะไรเลยที่ไม่ได้ลงทุนในช่วงที่คนอเมริกันบอกว่าควรจะลงทุนมากที่สุด ตราบที่เขาไม่เห็นว่าหุ้นถูกและคุ้มค่าที่จะลงทุน

28 ก.ย 2567
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อ้างอิง https://www.blockdit.com/posts/66f7dd5a17538a3da3d3eee2

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่