ชามลายครามของชาวดิน...

ข้าวต้ม กับ ชามลายครามของชาวดิน
22 มีนาคม 2019  

ตั้งแต่ลูกชายคนเล็กของผมรู้ความ ทุกปีช่วงเช็งเม้งแกชอบจะขอตามผู้ใหญ่ไปไหว้อากงที่สุสาน
โดยหลานคนอื่นไม่มีใครปรารถนานัก เพราะต่างกลัวความร้อนของสภาพอากาศช่วงเมษา ทั้งเบื่อที่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด....

ผมมาเข้าใจลูกเอาทีหลังว่า แกอยากไปไหว้อากง ด้วย..

“ ติดใจในรสชาติของข้าวต้มที่ทางสุสานจัดเลี้ยงแขก ”

ลูกว่า...  ข้าวต้มที่สุสานเลี้ยงอร่อยกว่าที่ป่าป๊าหุงต้มให้       
  
( หลังจากฟังคำลูก ผมจึงต้องไปหาซื้อข้าวใหม่ถึงตลาดคลองเตย เพื่อมาใช้หุงข้าวต้มเลี้ยงคุณหนู... )
 
คำบอกของลูกทำให้ผมได้คิดย้อนถึงภาพเก่าๆ ยามไปไหว้คุณพ่อที่สุสานเมื่อครั้งละอ่อน

ผมจำได้ว่า “ เวลานั้นผมไม่ชอบกินข้าวต้มร้อนๆ ที่เค้าจัดเตรียมให้เลยครับ ”

ผมมารู้สึกว่า “ กินข้าวต้มอร่อย ” หลังจากที่พาคุณแม่ไปไหว้บรรพชนสมัยที่จีนเพิ่งเปิดประเทศอีกครั้ง

ความรู้สึกนั้นไม่ใช่เกิดเพราะการพาแม่ไปเมืองจีนแล้ว ผมเกิดความรักหรือพิศวาสวัฒนธรรมจีนๆอะไร

แต่การได้ไปกินข้าวที่คุณภาพไม่สู้ดีนัก ทั้งไม่มีกลิ่นหอมเลย

มันทำให้ผมได้รู้จักความดีเด่นของข้าวที่ผมกินตั้งแต่เด็ก โดยตัวเองไม่เคยรับรู้ความนุ่มหอม อร่อยของข้าวไทยเลย

...

เมื่อสามสี่สิบปีก่อน ฝ่ายบริหารสุสานจีนจะใช้ “ ชามข้าวต้มลายคราม ” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมารับรองแขก
ที่ปัจจุบันผมไม่เห็นชามข้าวต้มลักษณะนั้นในตลาดบ้านเราเลย

เช้าวันนี้ผมได้เห็นชามข้าวต้มลายครามจากบทความของคุณ Yeoh AH Kaw แอดมินเพจ 潮人潮语
ท่านเรียบเรียงเรื่องข้าวต้ม ในวัฒนธรรมแต้จิ๋ว มาให้เรียนรู้
แต่ด้วยเหตุที่ความบางตอนอ่านแล้วสับสน ผมจึงลองค้นความเพิ่มเติม 
ก็ไปพบคลิปและบทความของ “ 陳詠敏 นักข่าวประจำสำนักข่าวผิงกั่ว ” ที่ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นที่มา
ใครที่อ่านจีนได้ บทความน่าสนใจมากครับ...
    
บทความนอกจากจะกล่าวถึงความผูกพันของคนแต้จิ๋วกับข้าวต้มแล้ว 

ท่านยังพูดถึงชามลายครามที่ชาวแต้จิ่วนิยมใช้ในบ้าน ทั้งที่เมืองจีน และการสั่งนำไปใช้ในประเทศแถบอาเซี่ยน รวมทั้งในบ้านเรา

แต่ภายหลังชามลายครามระดับชาวบ้านถูกตีตลาดด้วยชามตราไก่ที่ทำในบ้านเรา จนล้มหายไปจากตลาดเครื่องถ้วยชาม

ในอดีตแหล่งผลิดชามลายครามของชาวดินดั้งเดิมอยู่ในตำบล ต้าผู่ ( 大埔县 )

หรือกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องกระเบื้องที่ผลิตโดยชาวฮากกา ที่มีคนแต้จิ๋วเป็นลูกค้าหลัก

ชามลายครามจากต้าผู่มีราคาไม่แพง ชามหนา เนื้อดินหยาบ

ซึ่งเป็นข้อดีที่ใช้ใส่ข้าวต้มแล้วไม่ร้อนมือ แถมใช้คงทนไม่แตกบิ่นและยังล้างทำความสะอาดง่าย
   
ลวดลายบนชามที่เป็นลายครามมีเพียงสองลายวางสลับกันเรียกลายดอกไผ่ ( 竹花形 ) ท่านว่า
  
- ลายที่คล้ายดอกไผ่ตูม คืออักษร ติง หรือเต็ง ( 丁 ) หมายถึง ลูกหลาน บริวาร
  
- ลายที่ซับซ้อนคล้ายดอกไผ่บาน คือ อักษรซิ่ง หรือเฮง ( 興 )  หมายถึง โชคลาภ

ดังนั้นชามลายครามจากต้าผู่ จึงมีชื่อที่เป็นมงคลว่า ชามรุ่งเรือง หรือ เฮงอ่วงอั้ว ( 興旺碗 )

ด้วยทุกครั้งที่ปากจรดชามข้าว ก็เหมือนกับการได้รับพร ว่า

.

ให้ประสพโชคลาภ และมีบุตรหลานข้าทาสเป็นกำลังช่วยในการทำงาน...

.

.

https://web.facebook.com/plu.danai/posts/pfbid02oUhQZuQBuX5LyQ2Y7riNd3w5WnqpTMV9tjdHKgd2A9FCm3ZfYZNQpFZeGzwYCCfrl?_rdc=1&_rdr 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่