ริดสีดวงทวารหนัก โรคที่ควรระวังสำหรับผู้ที่ชอบเข้าห้องน้ำนาน

คุณเป็นคนที่ใช้เวลาในห้องน้ำนานไหม เคยนั่งเล่นโทรศัพท์ในห้องน้ำเพื่อฆ่าเวลาเพลินจนลืมเวลาหรือเปล่า แม้พฤติกรรมดังกล่าวดูเหมือนจะไม่มีอันตรายอะไร แต่การนั่งในห้องน้ำนาน ๆ ทำให้เสี่ยงเป็น “โรคริดสีดวงทวาร” ได้ ซึ่งโรคนี้สามารถสร้างความรำคาญได้ตลอดทั้งวัน และอาจต้องเสี่ยงเป็นโรคจนอาจได้รับการผ่าตัดอีกด้วย

ริดสีดวงทวารคืออะไร

เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวมพองหรือยืดตัว มีอาการยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก โดยสามารถแบ่งโรคนี้ออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

ริดสีดวงภายใน เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนักเกิดการโป่งพองแตกมีเลือดออก และไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกน้อยมาก แบ่งตามความรุนแรงเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ริดสีดวงยังมีขนาดเล็กอยู่ส่งผลให้มองไม่เห็น แต่มีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ

ระยะที่ 2 มีขนาดใหญ่มากขึ้นและเริ่มเป็นติ่งยื่นออกมาหากทำการเบ่งเพื่อถ่ายอุจจาระ แต่ในระยะนี้ติ่งสามารถหดกลับเข้าไปเองได้

ระยะที่ 3 เหมือนกับระยะที่ 2 แต่ในระยะนี้ผู้ป่วยต้องใช้นิ้วมือดันติ่งริดสีดวงกลับเข้าไป

ระยะที่ 4 ในระยะนี้ริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่เป็นติ่งที่ยื่นออกมาแบบถาวร ไม่สามารถหดหรือดันกลับเข้าไปได้แล้ว

ริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่างมีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก ริดสีดวงชนิดนี้สามารถสังเกตเห็นง่ายกว่าริดสีดวงภายในและมีอาการเจ็บปวดจากประสาทรับความรู้สึก

สาเหตุของริดสีดวงทวาร

มักเกิดจากแรงดันที่มีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติในเส้นเลือดทวารหนักจนมีอาการบวม ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้เกิดได้หลายประการ ได้แก่ 

- การยกของหนักบ่อย ๆ

- การนั่งถ่ายอุจจาระนาน การเบ่งอุจจาระแรง และการมีอาการท้องผูก

- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

- ท้องเสียบ่อย

- คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

- ผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทางทวารหนัก 

- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป

- มีโรคประจำตัวอื่นที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง ภาวะตั้งครรภ์ โรคอ้วน เป็นต้น

- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาการของริดสีดวงทวาร

- มีเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระ

- มีติ่งหรือก้อนที่ทวารหนักอาจมีอาการคัน ปวด เจ็บ บริเวณที่เป็นริดสีดวง

- นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะร่วมด้วย

ถ่ายเป็นเลือดบอกอะไรบ้าง

แม้อาการเริ่มต้นของริดสีดวง คือ การมีอาการถ่ายเป็นเลือด แต่อาการดังกล่าวอาจนำไปสู่โรคมะเร็งลำไส้ส่วนปลายที่อยู่ใกล้กับทวารหนัก ซึ่งจุดสังเกตง่าย ๆ คือ หากเป็นมะเร็งลำไส้จะไม่มีติ่งเนื้อยื่นออกมา มีอาการปวดบริเวณก้น และความแตกต่างอีกอย่างคือ เวลาขับถ่ายคนที่เป็นริดสีดวงทวารจะขับถ่ายเป็นปกติแล้วค่อยมีหยดเลือดออกมา แต่หากเป็นมะเร็งลำไส้จะถ่ายเป็นเลือดปนมากับอุจจาระ

การวินิจฉัยโรคริดสีดวง

- สอบถามประวัติของผู้ป่วย เช่น มีเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระ มีก้อนเนื้อที่ทวารหนัก โดยอาจมีอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้ 

- ตรวจร่างกาย  ตรวจดูขอบทวารหนัก แพทย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะส่วนใหญ่จะมีติ่งออกมาอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว 

- ตรวจขอบทวารหนักด้วยนิ้วมือ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ เช่น ก้อน หรือแผลในทวารหนัก

- การใช้กล้องขนาดเล็กส่องตรวจในทวารหนัก

- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยจะทำในผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคในลำไส้ใหญ่

ภาวะแทรกซ้อน

- เลือดออก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรือภาวะขาดเลือดจนความดันโลหิตต่ำ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ปากแห้ง มือเท้าเย็น เป็นต้น

- ลิ่มเลือดอุดตันในหัวริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อริดสีดวงเป็นก้อนเพราะมีก้อนเลือดอุดตันจับตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายใน ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด

- การบีบรัดของหูรูดทวารหนัก จนเกิดภาวะขาดเลือดในหัวริดสีดวง เมื่อติ่งเนื้อไม่มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นจะทำให้เกิดภาวะขาดเลือดและเกิดการหดตัวของหูรูดทวารหนักจนเกิดอาการบวม อักเสบ และเน่ามีกลิ่นเหม็น

การรักษาโรคริดสีดวง

โดยส่วนมากโรคริดสีดวงจะสามารถรักษาให้หายเองได้ โดยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้

- การนั่งแช่ในน้ำอุ่น เพื่อลดการอักเสบและลดการขยายตัวของหลอดเลือดดำประมาณ 10-15 นาที โดยควรทำทั้งก่อนและหลังถ่ายอุจจาระ 

- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการเพิ่มอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น และดื่มน้ำให้มากขึ้น

- การกินยา โดยผู้ป่วยสามารถกินยาลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ หรือยาแก้ปวด

- เหน็บยา แพทย์จะสั่งยาเหน็บเพื่อรักษาให้อาการดีขึ้น

- การฉีดยา จะทำโดยการฉีดยาเข้าไปในชั้นใต้เยื่อบุ ทำให้เกิดพังผืดรัดเส้นเลือด โดยฉีดระดับเหนือหูรูดทวารหนัก แต่แพทย์จะไม่ฉีดสารเคมีเข้าริดสีดวงโดยตรง เพราะสารเคมีอาจจะเข้าเส้นเลือดและส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องและแน่นหน้าอกได้

- การใช้ยางรัด เป็นวิธีสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายในที่ยื่นออกมาที่มีขั้วขนาดเหมาะสมในการรัด โดยแพทย์จะใช้หนังยางรัดเพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ

- การจี้ริดสีดวง จะทำการจี้ริดสีดวงด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรืออินฟราเรด

- การผ่าตัด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะที่ 3-4 เพราะติ่งเนื้อจะมีขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บ หรือผูกหัวริดสีดวง นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือตัดเย็บเพื่อทำให้ติ่งเนื้อกลับเข้าไปในลำไส้ตรงอีกด้วย

การป้องกันตนเองจากริดสีดวง

- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักและผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องผูก

- ควรดื่มน้ำในปริมาณมากวันละ 8-10 แก้วเพื่อให้ขับถ่ายง่าย

- ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป

- หากพบว่ามีเลือดออกมากควรรีบพบแพทย์

- รักษาสุขอนามัย โดยการล้างก้นด้วยน้ำสะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรใช้กระดาษชำระที่แข็งจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้รูทวารหนักเกิดบาดแผลได้

- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เต็มที่ งดอาหารเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมง และทำความสะอาดบริเวณรอบรูทวาร รวมถึงอาจสวนล้างลำไส้เพื่อความสะอาดก่อนวันผ่าตัด

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง หากมีอาการปวดหลังการผ่าตัดควรรับประทานยาแก้ปวด ควรแช่ก้นในน้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาทีเพื่อทำให้บริเวณแผลสะอาด และควรนั่งบนเบาะรองที่มีรูเพื่อไม่ให้เกิดการกดทับบริเวณแผลผ่าตัดมากจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการริดสีดวงอักเสบเกิดซ้ำอีก

โรคริดสีดวงเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัว เพราะทุกคนต้องขับถ่าย แม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเองได้ก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก หากมีอาการผิดปกติ หรือคิดว่าตัวเองเป็นโรคริดสีดวงควรรีบเข้าพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยให้เป็นนานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่