Mark Minervini เทรดรวยเพราะเกลียดการขาดทุน

โดย Zyo: https://www.facebook.com/zyobooks/

ออกตัวตั้งแต่ต้นบทความเลยว่าผมเป็นแฟนคลับของพี่มาร์ค มิเนอร์วินี (ก็ขนาดเรียกเขาว่าพี่ แสดงว่าคลั่งไคล้เอาเรื่องอยู่นะ)
ที่ผมชื่นชอบแกมากเพราะสตอรี่ชีวิตของแก ให้แรงบันดาลใจแก่ผมมาก
จนกล้ายืนยันได้เลยว่า ถ้าผมไม่ได้อ่านหนังสือของแก ผมคงไม่ได้อยู่รอดและอยู่นานในตลาดหุ้นมาถึงป่านนี้แน่
ผมเองก็เขียนบทความชื่นชมรวมถึงแกะวิธีการ/วิธีคิดและเทรดของแกแทบจะตลอดเวลา
(ปล. ผมมีอีบุ๊คฟรี เกี่ยวกับแกด้วยนะ ชื่อ Minervini's Gold Nuggets
อ่านฟรีได้ที่ https://www.mebmarket.com/ebook-277380-Minervinirsquos-Gold-Nuggets ครับ)

ว่าก็ว่าเถอะ หนังสือที่ผมเขียนเอง 9 เล่ม ก็ได้แรงบันดาลใจจากแกแบบเต็ม ๆ เลย

ผมชอบวิธีคิดของแกนะ มันโดนใจผมมาก ด้วยความที่เรามีพื้นเพครอบครัวที่ยากจนมาก่อน 
ทัศนคติผู้ชนะและความใฝ่สูงจึงผิดปกติทั่วไป
ใครเกิดมาจนแต่อยากรวยด้วยสองมือตัวเอง ศึกษาชีวิตแกครับ โคตรได้พลัง

ชอบที่แกบอกว่า "ทุกคนมีดีพอที่จะสำเร็จได้แน่ ถ้าเพียรมากพอ พยายามมากพอ และ มุ่งมั่นจริงจัง ไม่ชนะไม่เลิก" 
มันทำให้ผมเชื่อว่าความสำเร็จไม่ได้เป็นเรื่องชะตาฟ้าลิขิต แต่มาจากความแน่วแน่ของเราเอง

และชอบตรงที่ว่า แกเล่นหุ้นหมดตัวไปสองครั้ง แต่ไม่หมดใจ ไม่หมดไฟ หาทางเรียนรู้และพัฒนาตนเอง 
จนกลับไปเป็นผู้ชนะ ร่ำรวยมหาศาลได้ด้วยตัวเอง โคตรได้แรงบันดาลใจ "ถ้าพี่เค้าทำได้ ผมก็ต้องทำได้สิ"

ถ้าอยากได้แง่คิดแบบเต็ม ๆ ก็แนะนำให้อ่าน "เทรดอย่างพ่อมดตลาดหุ้น", "คิดและเทรดอย่างแชมป์เปี้ยน", "โมเมนตัมมาสเตอร์"
และ "ถอดความคิดเทรดเดอร์ผู้ชนะ" ได้เลยครับ ได้ของครบแน่


#"พี่มาร์เพราะเกลียดการขาดทุน" มีที่มายังไง?
เรื่องนี้มันเกิดขึ้นในช่วงแรกที่แกเข้าวงการเทรดเลยครับ เป็นเม่ามือใหม่เหมือนเราทุกคนนี่แหละ 
แกมีความฝันอยากรวยให้ได้(เพราะบ้านจนเหลือเกิน) อยากรวยเสียให้เข็ด มีเงินใช้ทั้งชาติไม่หมด
แกเรียนจบแค่ม.ต้น นะครับ เพราะฐานะทางบ้าน 
แต่ด้วยความที่มีความตั้งใจอยากรวย จึงไม่ทิ้งการอ่าน 
แกอ่านหนังสือหนักและจริงจัง แถมได้ความรู้มากกว่านักเรียนเสียอีก

มันทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ จิม โรห์น ที่ว่า

 “Formal education will make you a living, self-education will make you a fortune.”
"การศึกษาในโรงเรียนนั้นแค่ช่วยให้คุณมีงานมีเงินเลี้ยงตัวให้รอด แต่การศึกษาด้วยตนเองจะช่วยให้คุณมั่งคั่ง" 
พี่มาร์คมาแนวนี้เลยครับ

ถึงกระนั้น แม้จะอ่านหนังสือมากมายหลายร้อยเล่ม โดยเฉพาะแนวทางการลงทุนแบบพื้นฐาน(หรือวีไอนี่แหละ) 
แต่ด้วยธรรมชาติของการเรียนรู้ในศาสตร์ที่ยากที่สุดในโลกอยากการลงทุน - ในปีแรก ๆ แกก็แทบไม่ได้ความรู้อะไรที่เป็นสาระสำคัญพอต่อการทำเงิน
ที่สำคัญก็คือ ไร้ประสบการณ์ ขาดทักษะ ไม่มีความเชี่ยวชาญ
พูดง่าย ๆ คือ "ยังดีไม่พอที่จะทำเงินได้ เพราะใหม่มาก" 
พูดง่าย ๆ แบบปากจัดคือ คือ "อยากรวยแต่ยังโง่อยู่"
แกจึง "พึ่งพา" คำแนะนำจาก โบรกเกอร์ 
เขาแนะนำหุ้นตัวไหนดี ก็ซื้อตาม แบบซื้อหวย

ปรากฎว่าไปเจอหุ้นตัวซวยเข้าสิ แค่ตัวเดียวก็หมดตัวเลย 
เพราะมันเป็นหุ้นปั่น ที่สำคัญโบรกเกอร์ก็เชียร์ว่าตัวนี้ดี ยิ่งลงต้องซื้อเพิ่ม จะได้ของดีราคาถูกลง(มายาคติทำลายพอร์ตแบบวีไอ)
ปรากฎว่า มันยังคงลงต่อ จนไปจมที่เศษสลึง
แกหมดตัวจากหุ้นปั่น แค่ตัวเดียว

แกบอกว่า "ร้องให้แบบที่ไม่เคยร้องมาก่อน" เพราะเงินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่เสียไป มาจากการยืมคนอื่น
พอเจ็บก็จำสิครับ แกตั้งปณิธานเลยว่า "ต่อไปฉันจะพึ่งพาตัวเอง ทำการบ้านเอง รับผิดชอบตัวเอง ไม่ซื้อหุ้นตามใครอีกแล้ว"


และไม่นานเกินรอ พี่มาร์ค ก็ Comeback จากที่ทำงานหาเงินก้อนใหม่ได้แล้ว
(แกเป็นมือกลองวงร็อค รับจ้างอัดตามห้องอัด แถมยังเป็นเจ้าของสตูดิโออัดเสียงด้วย)
แกก็มาในสูตรใหม่ คือ "เทรดด้วยตนเอง เลือกหุ้นเอง" 
แต่ยังซื้อขายเองไม่ได้ 
เพราะในยุคนั้น การซื้อขายหุ้นต้องโทรบอกโบรกเกอร์

ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโบรกเกอร์ ที่แกเลือกในการเทรดรอบใหม่ เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน 
สามารถเถียงกันได้ เห็นแย้งได้ บูลลี่กันได้
ดูเหมือนวิธีใหม่จะแก้ปัญหาเดิมได้อยู่นะ
แต่ปัญหาก็เกิดจนได้ เมื่อแกได้หุ้นตัวซวย แล้ว "ไม่กล้าบอกโบรกเกอร์ให้ขาย" 
แกอาย แกกลัวโดนทับถม(เหมือนสังคมพันทิพเลยว่ามั้ย?)

หุ้นตัวซวย เมื่อมันจบรอบแล้ว มันก็ลงรูด ๆ เลยน่ะสิ แกก็ทนกล้ำกลืน 
ได้แต่สวดภาวนาให้หุ้นมันเด้งกลับขึ้นมา แกจะได้ขายแล้วไปเยาะเย้ยโบรกเกอร์ ว่า "ฉันถูกแต่แกผิด"

แต่เมื่อถึงคราวซวย การภาวนาก็ไม่ช่วย หุ้นตัวนั้นยังคงลงต่อ
และแกก็หมดตัวเป็นครั้งที่สอง เพราะแค่ "กลัวเสียหน้า"
"แกขาดทุนเพราะกลัวเสียหน้า ให้อีโก้สำคัญกว่าการทำเงิน"
อีโก้ = ไม่ตัดขาดทุน

คราวนี้ไม่ร้องให้แล้ว แต่เจ็บใจตัวเอง
และด้วยความที่แกมี "ธาตุผู้ชนะ" อยู่ในตัว
แทนที่จะเอาแต่โทษโบรกเกอร์ โทษหุ้น แกกลับมาตรวจสอบตนเอง ว่าทำอะไรผิดไป
ก็พบว่า แกพลาด 5 เรื่อง

1. ซื้อหุ้นที่ราคาสูงกว่าจุดซื้อที่เสี่ยงต่ำมากเกินไป
2. ไม่ยอมตัดขาดทุนตอนที่เสียหายน้อย ๆ
3. ไม่มีการขายเก็บเงินกำไรในตอนที่ได้กำไรก้อนงาม 
แถมยังชอบปล่อยกำไรให้กลายเป็นขาดทุนอีกต่างหาก
4. เมื่อได้กำไรก้อนงามแล้ว แกไม่ได้รยกระดับตัดขาดทุนขึ้นไปที่ต้นทุน
5. ไม่มีการผ่อนหนักผ่อนเบา เข้า ๆ ออก ๆ บ่อยเกินไป
และอัดเงินลงทุนก้อนใหญ่ทุกครั้งโดยไม่ดูตลาดไม่สนใจความเสี่ยง
ปล. แกบอกว่า นี่เป็นความผิดพลาดที่มือใหม่ทั้งหลาย ทำกันเป็นปกติและซ้ำซาก 
ซึ่งเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงมาก ๆ เพราะไม่มีการเคารพความเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย

Drew a line in the sand ตั้งปณิธานกับตัวเอง
จุดเปลี่ยนสำคัญที่แกพูดถึงบ่อย ๆ คือ "การตั้งปณิธาน" ในการเปลี่ยนแปลงตนเอง

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ ไม่ใช่ว่าขาดพรสวรรค์หรือไร้ศักยภาพ แต่มาจากขาดความแน่วแน่!
คุณต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ก่อน จากนั้นทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงทันที


ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ผมตัดสินใจและ Drew a line in the sand 
ผมให้สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ยอมให้ขาดทุนเกิน 8% เด็ดขาด
(ถ้ามันไม่ปิดกระโดดลงซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของผม 
ซึ่งในกรณีนี้ผมจะใช้ราคาที่ดีที่สุดถัดไป) 
และตลอด 30 ปีจากนั้น ผมยังคงซื่อสัตย์ต่อคำสัญญานั้น"


เพื่อที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในตลาดหุ้น 
คุณต้องตัดสินใจทันทีว่า การทำเงินสำคัญกว่าการเป็นคนที่ทำอะไรถูกเสมอ 
คุณต้องไม่ทำตามอีโก้ของคุณ อย่าให้อีโก้มีส่วนร่วม!
นั่นเริ่มต้นด้วยการตัดการขาดทุนทั้งหมดอย่างเคร่งครัดในตอนที่มันยังเสียหายน้อย 
และจะไม่ยอมให้ขนาดความสูญเสียของคุณขยายใหญ่เกินกว่ากำไรเฉลี่ยของคุณ 
นั่นคือเส้นที่ผมวาดบนผืนทรายเมื่อต้นทศวรรษที่ 90... และผมไม่เคยข้ามมันเลยสักครั้ง! 
คุณคิดว่ามีนักเทรดกี่รายที่สามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาได้แบบนี้?
มีแค่เฉพาะ Market Wizards และผู้ชนะ US Investing Champions เท่านั้น 
มีคนน้อยมากที่คิดและพูดแบบนี้ได้"



พอรู้ว่าตนเองทำพลาดอะไร แกก็กลับไปหาเงินก้อนใหม่ เพื่อเอาใหม่ กลับมาสู้อีกครั้ง
ประเด็นนี้น่าสนใจนะ ในเรื่องของใจสู้ ถ้าเป็นคนส่วนใหญ่ เสียขวัญไปแล้ว 
ทำไมพี่มาร์ค จึงไม่ยอมแพ้ ไม่ถอดใจ?
แกบอกว่า แกยังเชื่อว่าตลาดหุ้นยังเป็นโอกาส สามารถช่วยให้แกร่ำรวยได้แน่ เพียงแต่ว่าในตอนนั้นแกยังไม่ดีพอเอง ถ้าแกเก่ง แกเชี่ยวชาญ แกสำเร็จแน่ ตลาดหุ้นกำลังท้าทายแก และแกอยากจะชนะให้ได้

แกให้เหตุผลว่า
"ผมไม่เคยหมดศรัทธาต่อตลาดหุ้น เพราะเชื่อว่าตลาดหุ้นให้โอกาสทำเงินกับผมทุกวัน
เพียงแค่ว่าผมต้องทำการบ้านให้หนักขึ้นเพื่อระบุโอกาสนั้นให้ได้
นอกจากนี้ผมจะไม่ยอมเทรดตามความเห็นของคนอื่นอีก
ถ้าผมเทรดตามแนวทางของตัวเอง ผมจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด"

และ

"ความท้าทายที่สุดของผมคือ การเป็นผู้ชนะ
ผมอยากเป็นอันดับหนึ่งของอะไรสักอย่าง
ผมอยากเป็นนักเทรดระดับสุดยอดของโลก
ถ้าคุณสามารถเป็นคนระดับสุดยอดได้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป
เพราะมันจะมาหาคุณแบบง่ายๆ"


เมื่อเป้าหมายชัด ว่า ไม่ชนะไม่เลิก อะไร ๆ ก็ง่ายขึ้น
พี่มาร์ค ก็วางแผนวิธีการไปถึงเป้าหมายนั้น
เรื่องแรกคือ "จัดระเบียบตัวเองตัวเอง" ด้วยการ
1. ยอมรับว่าคุณยังห่วยอยู่ ข้อนี้แกเน้นมาก มันเป็นด่านแรกที่ต้องเปิดใจยอมรับให้ได้
2. แต่ก็เชื่อว่าคุณสำเร็จได้แน่
3. หาคนที่เก่งในเรื่องนั้น
4. ฟังเขา อย่าเถียง
5. เลือกกระบวนการที่พิสูจน์แล้วว่าเวิร์ค เลือกอันเดียว ทิ้งตัวอื่นไป
6. ลงมือทำทันที อย่ารอเวลาที่ใช่จึงค่อยทำ
7. ให้ความสำคัญกับการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ
8. ทลายคอมฟอร์ทโซน ทำเรื่องยากเรื่องที่จำเป็นต่อความสำเร็จให้ได้
9. มองความผิดพลาดเป็นบทเรียนสำคัญ
10. ทำฝันให้เป็นจริงก่อนเป็นเรื่องแรก

Third time Lucky
การกลับมาครั้งที่สามนี่เอง ที่แกเจอแนวทางที่ใช่
ด้วยการไปเจอหนังสือของปู่โอนีล CANSLIM เข้าคอร์สสัมนาของพี่เดวิด ไรอัน และหนังสือที่ให้แนวทางทำนองเดียวกัน
แกประทับใจมาก จึงเปลี่ยนสไตล์ จากซื้อหุ้นตามพื้นฐาน เปลี่ยนเป็น ใช้กราฟ+พื้นฐาน 
นั่นคือ เลือกหุ้นจากพื้นฐาน แต่จุดซื้อขายใช้กราฟ
ซึ่งแกก็ไม่ได้เอามาใช้ทั้งดุ้นนะครับ แกก็เอามาปรับปรุงปรับแต่ง สร้างระบบคัดกรองหุ้นของตัวเอง 
จนกลายเป็น SEPA และได้ VCP เป็นซิกเนเจอร์ของตนเอง

ขณะเดียวกันแกก็ได้สร้างกฎการเทรดของตนเองขึ้นมาด้วย

1. ต้องถือเงินสด รอหน้าเทรดที่เหมาะสม ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเทรด
2. เทรดโดยมีจุดตัดขาดทุนเสมอ จำกัดความสูญเสียให้น้อยไว้ก่อน
3. อย่าขยันเทรด/เทรดหนักในช่วงตลาดเป็นอันตราย
4. ขายเก็บกำไรเป็นเงินสดเมื่อได้กำไรก้อนงาม
5. อย่าปล่อยให้กำไรกลายเป็นขาดทุน - ขายที่เท่าทุนเป็นอย่างน้อย
6. อย่าซื้อหุ้นขาดทุน(ผู้แพ้)เพิ่มเด็ดขาด


กฎหลักการเทรดหลักของผม...
1. ตัดขาดทุนทั้งหมดให้เสียน้อยไว้ก่อน
2. อย่าถัวเฉลี่ยเมื่อขาดทุน
3. บุกหนักจัดเต็มเมื่อการเทรดของผมได้ผลเท่านั้น
4. ไม่ปล่อยให้กำไรที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นการขาดทุน
5. ลงเงินเดิมพันเมื่อเห็นโอกาสชนะเท่านั้น


พอทุกอย่างลงตัว เงินและชื่อเสียงก็ตามมา
ช่วงกลางของปี1990s (เข้าปีที่ 7 ของเส้นทางการเทรด) แกก็ได้รับการยอมรับและชื่อเสียง เพราะร่วมการแข่งขันการเทรด United States Investing Championship และได้รับรางวัลชนะเลิศ

ปลาย 1990s: มีชื่อในวงการเทรดขจรไกล
- สัมภาษณ์ลงหนังสือ "Stock Market Wizards" ของ Jack D. Schwager ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและการยอมรับในฐานะนักเทรดชั้นนำ

แถมเวอร์ชันเสียงของผมเองครับ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่