อาจารย์ของข้า หลวงตาของกู หลวงปู่ของฉัน

กระทู้สนทนา
♦ ในอนาคตหลังจากจบกรณี "เชื่อมจิต" ในศาลยุติธรรมอันเป็นที่สุดแล้วนั้น ผมคาดการณ์ว่า “การเผยแผ่ธรรมะ” ไม่ว่าจะผู้ใดก็ตาม จะต้องมีการอ้างอิงที่มาของแหล่งธรรมะที่นำมาสอนด้วย และผู้ฟังต้องสามารถตรวจสอบว่าได้ว่า ธรรมที่นำมาสอนนั้น ได้มากจากคำสอนของพระศาสดาจริง ๆ ซึ่งในการสอนธรรมะในอนาคตก็ต้องอ้างอิง “พระไตรปิฎก อย่างแน่นอน (เพราะศาลก็ใช้พระไตรปิฎกในการพิจารณาความ)
♦ และผมก็ยังเชื่อเพิ่มอีกว่าในอนาคต จะต้องมีกฎหมายควบคุมในการนำธรรมะในพระพุทธศาสนาที่จะมาเผยแผ่ในระบบคอมพิวเตอร์นั้น “จะต้องนำคำสอนขององค์พระศาสดามาเท่านั้น และต้องตรวจสอบกลับได้ด้วย” เหตุผลก็คือ ถ้ามีคนนำคำสอนที่ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกอย่างแท้จริงมาลงในระบบคอมฯ แล้วอ้างปาฏิหารย์ อ้างภพ อ้างชาติ ก็จะทำให้พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาแรงกล้า (สัทธินทรีย์แรง แต่ปัญญินทรีย์น้อย) ก็จะรีบเชื่อในคำสอนที่ผิดๆ ถูกๆ นั้นทันที ซึ่งผลเสียร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นก็คือ
1. เกิดการเสื่อมในพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีโทษร้ายแรงที่สุดในแง่จิตวิญญาณ (พระสัทธรรมคืออะไร มีอธิบายข้างล่างครับ)
2. เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีความผิดทางโลก
.....
♦ ดังนั้น เมื่อผมนำข้อมูลทางธรรมะลงระบบคอมฯ ผมจึงต้อง “อ้างอิง” ที่มาในพระไตรปิฎกเสมอ และผู้ที่สงสัยก็จะสามารถย้อนกลับไปตรวจสอบได้ตามต้องการว่าถูกต้องหรือไม่ 
♦ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ ผมโดนค่อนแคะเสมอว่า “เป็นพวกติดตำรา” แต่ผมนั้นเป็นพวกติดตำรา (พระไตรปิฎก) ก็จริง แต่ผมก็ปฏิบัติตามตำรานั้นด้วย และมีครูอาจารย์ที่ผมลงใจให้แล้วได้เมตตาดูแลแนะนำอยู่ ผมมีพระสัทธรรม 3 ครบ คือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม และปฏิเวธสัทธรรม (ไม่ได้คิดเองว่ามีครบ แต่ครูอาจารย์ท่านได้บอกผมไว้เอง)
♦ ส่วนท่านที่ไม่เคยคิดอ่านตำรา แต่ทำบุญมาก  รักษาศีลดี ฟังเฉพาะคำสอนของสาวกโดยไม่เคยคิดที่จะตรวจสอบเลยว่า สาวกท่านนั้นได้สอนตามคำพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็เลยเกิดการ “ถลำเชื่อ” ทั้งกายและใจไปว่า “อาจารย์ข้า หลวงตากู หลวงปู่ฉัน นั้นดีที่สุดแล้ว ฉันมาถูกทางแล้ว” ยิ่งมีฤทธิ์ทายใจได้ด้วยก็ถึงกับแต่งตั้งอาจารย์ข้าเป็น  “อรหันต์” ไปเลยก็มี ซึ่งฤทธิ์ทายใจได้นั้น คือ “อาเทสนาปาฏิหารย์” ซึ่งก็มีจริง เป็นฤทธิ์ของปุถุชน และพระพุทธเจ้าทรงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฏิหารย์นั้น (วลีที่ว่า “อึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง” นั้น มีเขียนไว้จริง ๆ ในพระไตรปิฎก ผมไม่ได้แต่งขึ้นมาเองนะครับ)
♦ พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้แล้วในการสอนของสาวกต่าง ๆ นั้น มักใช้หลักการที่เรียกว่า “มหาปเทส 4” ซึ่งมีความโดยสรุปดังนี้... (ส่วนข้อความเต็มของมหาปเทส 4 ผมจะทำลิ้งค์ไว้ให้ท้ายบทความนี้ครับ)
1. พุทธาปเทส (ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง)
2. สังฆาปเทส (ยกเอาพระสงฆ์ขึ้นอ้าง)
3. สัมพหุลัตเถราปเทส (ยกเอาพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้าง)
4. เอกเถราปเทส (ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นอ้าง)
♦ ถ้ามีสาวกมาสอนธรรมแล้วอ้างมหาปเทส 4 แบบนี้ แล้วเราจะตรวจสอบได้อย่างไร .. หลักการที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ก็คือ เมื่อได้ฟังธรรมจากสาวกแล้ว “เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตรเทียบดูในวินัย”
♦ ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้นพระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด (จำผิด) พึงทิ้งเสีย
♦ ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี. เธอทั้งหลาย พึงจำมหาปเทสนี้ไว้.
.....
♦ ถ้าเป็นยุคก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ต ก็คงต้องไปเปิดพระไตรปิฎกหาอ่านตรวจสอบกันไป ซึ่งพระไตรปิฎกมีทั้งหมดกว่า 20 ล้าน 3 แสนกว่าตัวอักษร ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลากี่เดือน กี่ปีถึงจะเจอคำตอบ แต่ยุคนี้แค่ใส่ข้อความที่ต้องการค้นหาในโปรแกรม Etipitaka กดปุ่ม Search ไม่เกิน 1 วินาทีก็ทราบคำตอบแล้ว.
♦ สรุป .. 
มีปริยัติ แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่พบปฏิเวธ
ไม่มีปริยัติ มีแต่ปฏิบัติ ก็ไม่พบปฏิเวธ
มีปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติ ก็จะพบปฏิเวธ
♦ “มหาปเทส 4” มักถูกใช้เสมอในการสอนของสาวก ผู้ฟังต้องไม่ชื่นชม ไม่คัดค้าน เรียนและจำคำสอนนั้นไว้ให้ดี แล้วนำมาเทียบกับพระสูตรและพระวินัย ถ้าตรงกันก็นำไปใช้ ถ้าไม่ตรงกันก็วางเสีย
♦ ขอทุกท่านเข้าใจในธรรม และเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปครับ
.....
♦ ลิ้งค์ความหมายเต็ม “มหาปเทส 4” 
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=166
.........................
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่