JJNY : 5in1 We Watch ค้านระเบียบกกต.│จี้รบ.ขอเปิดสภา│ก้าวไกลฝากเร่งสางปัญหา│หุ้นน้ำมันฉุดดัชนีติดลบ│ยูเออีฝนตกครั้งใหม่

We Watch ค้านระเบียบกกต. ‘เลือก ส.ว.’ แบบปิด หู ตา ปาก? คาใจ ให้แนะนำตัวแบบใด
https://www.matichon.co.th/politics/thai-senate-2024/news_4556569
 
 
We Watch ชวนค้านระเบียบกกต. ‘เลือก ส.ว.’ แบบปิด หู ตา ปาก? คาใจ ให้แนะนำตัวแบบใด
 
สืบเนื่องกระแสจับตาการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดย ส.ว.ทั้ง 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามบทเฉพาะกาล จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่ง ส.ว.ชุดใหม่นี้ จะมีจำนวนลดลงเหลือ 200 คน อย่างไรก็ดี เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่คัดค้านระเบียบดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการรับรู้ของประชาชนทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมถึงหาเสียงได้ (อ่านข่าว : กกต.ออกกฎเหล็กชิงส.ว. ห้าม ‘จ้อสื่อ-แจกใบปลิว’ ชวนลงสมัครไม่ได้ผิดกม. ‘ก้าวหน้า’ลั่นเดินหน้าต่อ)
 
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง คัดค้านระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567
 
สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ซึ่งวางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก (ส.ว.) เพราะหากไม่ปฏิบัติตามอาจมีบทลงโทษทางอาญาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปี ระเบียบของ กกต. ผู้ร่วมลงชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงมีความเห็นว่าระเบียบนี้เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และปิดหูปิดตาประชาชน มีความจำเป็นต้องคัดค้านและเรียกร้องให้มีการแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
1. ปิดปากผู้สมัคร
 
ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้เพียงการทำเป็นเอกสาร A4 ไม่เกิน 2 หน้า โดยมีข้อความเพียงข้อมูลส่วนตัว รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น แม้จะให้มีการแนะนำตัวทางออนไลน์ได้ แต่ห้ามเปิดเผยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครรับทราบ ด้วยแนวทางนี้ ในทางปฏิบัติผู้สมัครแทบจะไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ ข้อบังคับเช่นนี้ตัดการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการทางการเมือง โดยการออกระเบียบไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวหรือประกาศตัวต่อสาธารณะ แต่ให้คุยกันเองในวงเล็กๆ ด้วยข้อมูลที่จำกัดเท่านั้น
 
2. ปิดปากสื่อมวลชน
 
นอกจากห้ามผู้สมัคร ระเบียบ กกต.ฉบับนี้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและผู้เอาใจใส่สังเกตการณ์ในหลายประการ ทั้งการห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงห้ามให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อออนไลน์ ประกอบกับระเบียบยังนิยามคำว่า “แนะนำตัว” ไว้อย่างกว้างขวาง คือ “การบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก” ขอบเขตที่กว้างและไม่ชัดเจนนี้ ทำให้ไม่อาจทราบว่าการกระทำถึงขนาดไหนจะถือว่าเป็นหรือไม่เป็นการแนะนำตัวของผู้สมัคร ก่อให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนอาจเกิดเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความปลอดภัย เพราะแม้จะไม่ใช่ผู้สมัคร แต่หากการรายงานข่าวนั้นถูกตีความว่าเป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร อาจถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและมีโทษเช่นเดียวกันกับผู้สมัคร 

3. ปิดหูปิดตาประชาชน
 
ขอบเขตกฎหมายที่กว้าง ไม่ชัดเจน และโทษทางอาญาที่สูง ประกอบกับการที่ กกต.เองออกมาสื่อสารกับสาธารณะโดยตลอดว่าห้ามมีการหาเสียง แนะนำตัว ประกาศตัว หรือกระทำการที่เข้าข่ายจะมีบทลงโทษ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบังคับทางอ้อมให้ประชาชนและผู้สมัครจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของตนต่อกระบวนการเลือก ส.ว. ส่งผลต่อบรรยากาศการเลือก ส.ว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นขาดการมีส่วนร่วมและโปร่งใสเพียงพอ จนสวนทางกับกระแสสังคมที่กำลังเรียนรู้และสนใจกระบวนการเลือก ส.ว.
 
ดังที่เราได้เห็นผู้ประสงค์จะลงสมัครคัดเลือกต่างทยอยประกาศตัวให้สาธารณะและให้ผู้สมัครคนอื่นได้รู้จัก ระเบียบ กกต.ฉบับนี้มีผลทำให้เกิดบรรยากาศที่ผู้ประสงค์จะสมัคร ส.ว.ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแนะนำตัว เพราะไม่แน่ใจขอบเขตของการแนะนำตัว จนที่สุดทำให้บรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 78 ที่กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง
 
หากปล่อยไว้เช่นนี้ย่อมเป็นที่น่ากังวลว่าความน่าเชื่อถือของ ส.ว.ชุดใหม่ย่อมสั่นคลอนและไร้ซึ่งการยอมรับของประชาชน และที่เลวร้ายกว่านั้นหากปล่อยให้มีระเบียบที่ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนี้ ยิ่งจะลดทอนความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
 
1.ระงับการบังคับใช้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อรองรับหลักการของการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
2.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรกำหนดมาตรการและแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดกว้างเพื่อรับฟังเสียงประชาชนและสื่อมวลชนที่จะได้รับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น
 
วันที่ 3 พฤษภาคม 2567
We Watch
 
นอกจากนี้ We Watch ยังเชิญชวนประชาชนที่คิดเห็นตรงกัน ร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ ในช่องทางแสดงความเห็น หรือส่งข้อความโดยตรงมายังเพจ We Watch หรือร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. เรื่องคัดค้านระเบียบฯ แนะนำตัว ส.ว.ได้ ที่นี่



‘ชูศักดิ์-พริษฐ์’ จี้รัฐบาล ขอเปิดสภาสมัยวิสามัญ ดันแก้กม.ประชามติ หวังเดินหน้าได้
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_8212843

‘ชูศักดิ์-พริษฐ์’ แนะรัฐบาล เร่งขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ถกแก้พ.ร.บ.ประชามติ หวังอีก 6 เดือน เดินหน้าทำประชามติครั้งแรก
 
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์หลังร่วมชี้แจงที่ประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ว่า หลังจาก ครม.มีมติให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และต้องแก้ไขกฎหมายการทำประชามติ
 
เมื่อกฎหมายเสร็จสมบูรณ์ จึงเสนอร่างพ.ร.บ.จัดทำประชามติ ซึ่งจะเป็นร่างของครม.ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เนื้อหาและหลักการจะไม่แตกต่างกับร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เรื่องแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้เสียงข้างมากจำนวน 2 ชั้น หรือ Double Majority ที่ตกผลึกร่วมกันว่าจะใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์
 
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การเสนอกฎหมายประชามติจะทำโดยสองสภา คือเสนอผ่าน ครม.ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จากนั้นจะส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนนับจากนี้ หรือช่วงปลายปีมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการจัดทำประชามติครั้งแรก พร้อมย้ำว่าพยายามจะเร่งรัดนำกฎหมายเข้าสภาฯ และจะเปิดสมัยวิสามัญในเร็วๆ นี้
 
เมื่อถามกรณีบางฝ่ายระบุการทำประชามติครั้งที่ 2 อาจเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปลายปีนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องนำไปคิด
 
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พบว่ากรณีมีตัวแทนของรัฐบาลระบุจะเริ่มทำประชามติครั้งแรกได้ในเดือนปลาย ก.ค.หรือเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นการตีความตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ที่จริงมติครม.ดังกล่าวบอกว่าต้องให้ทำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้เสร็จและมีผลบังคับใช้ก่อน ครม.จึงจะมีมติอีกครั้งว่าจะให้เริ่มทำประชามติครั้งแรกได้เมื่อไหร่ และใช้คำถามประชามติว่าอะไร
 
ดังนั้น การทำประชามติครั้งแรกจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.หรือเดือนส.ค.นี้ จึงอยากให้คนในรัฐบาลสื่อสารเรื่องนี้ต่อประชาชนให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าอยากให้รัฐบาลขอเปิดการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ ซึ่งตอนนี้มีร่างของพรรคเพื่อไทยและของพรรคก้าวไกลรออยู่ ไม่ต้องรอพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่คาดว่าจะเข้าสภาฯ ในเดือนมิ.ย.นี้ ให้เสร็จก่อนก็ได้
 
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลอยากให้รัฐบาลทบทวนแนวคำถามการทำประชามติ โดยอยากให้เป็นคำถามที่เปิดกว้าง ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้ประชามติมีโอกาสผ่านได้มากกว่า และคนที่อยากให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นต่อเรื่องหมวด 1 และ 2 อย่างไร สามารถลงคะแนนเห็นชอบได้อย่างมีเอกภาพ
 
หลังจากประชามติผ่านความเห็นชอบแล้ว รัฐบาลยังมีสิทธิ์เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยล็อกไม่ให้สสร.มีอำนาจแก้ไขหมวด 1 และ 2 ได้ ดังนั้น เราจึงมีข้อเสนอนี้ด้วยความปรารถนาดี อยากเห็นการทำประชามติครั้งแรกผ่านได้ด้วยดี และการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ
 
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมายประชามติต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาด้วยนั้น ก็ต้องถาม กกต.ว่า สว.ชุดใหม่จะมาเมื่อไหร่ เพราะระเบียบของ กกต.เรื่องการคัดเลือกสว.ไม่ได้ประกาศชัดว่าจะต้องประกาศผลเมื่อไหร่ จึงขอ กกต.ให้ความชัดเจนกับสังคมในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายวางแผนการทำงานได้ราบรื่นขึ้น



ส.ส.ก้าวไกล ชี้ ไหม้รง.ระยอง-ภาชี เจ้าของเดียวกัน ฝากนายกฯเร่งสางปัญหา แนะจับตาใช้เงินประกันย้ายสารเคมี 
https://www.matichon.co.th/politics/news_4556208

ส.ส.ก้าวไกล ชี้ ไฟรง.ระยอง-ภาชี เจ้าของเดียวกัน ฝากนายกฯเร่งสางปัญหา แนะจับตาปมใช้เงินประกันย้ายสารเคมี

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 11.00 น.ที่ รัฐสภา นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ระยอง และ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส รวมถึงเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.ผ่านมา
นายชุติพงศ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบข้อมูลว่าโรงงานวินโพรเสส ที่ จ.ระยอง และโกดังเก็บสารเคมี ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มีเจ้าของกลุ่มเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ คือก่อนหน้านี้ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เคยเกิดเหตุเพลิงโรงงานสารเคมี และมีการสั่งย้ายสารเคมีภายในโรงงานออกทั้งหมด จากนั้นมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงงานที่ จ.ระยอง และล่าสุดคือเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังใน จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับผู้สั่งการทำได้แค่สั่งแต่ไม่มีแผนเผชิญเหตุ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่