แห่ขายที่ดินพ่วงโรงงาน เอกชนถอดใจ-สินค้าจีนตีตลาด

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://www.prachachat.net/economy/news-1546745

ติดตามข่าวสารน่าสนใจมากมายได้ที่
https://www.prachachat.net

สินค้าจีนถล่ม-ดอกเบี้ยพุ่งหนี้ท่วม “เอกชนไทย” ไม่ไหวแห่เทขายที่ดินพ่วงโรงงาน เปลี่ยนมือเจ้าของ หันนำเข้าสินค้าจีนมาขายแทน ทุบดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด ก.พ. ร่วง 2.84% ต่อเนื่อง 17 เดือน 3 อุตสาหกรรมเสี่ยง “ยานยนต์ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปาล์ม” จากตลาดซบ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-หนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง ด้านธุรกิจนิคม “โรจนะ-กนอ.” มองตรงเทรนด์ลงทุนไตรมาส 2 ทุนจีนเข้ามาคึกคัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้พบว่า มีผู้ประกอบการโรงงานจำนวนมากที่มีการปิดป้ายประกาศขายที่ดิน และขายที่ดินพ่วงโรงงานอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะโรงงานในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ที่มีจำนวนมากกว่า 20 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท อาทิ การประกาศขายโกดัง คลังสินค้าโรงงานพร้อมออฟฟิศ บนถนนเทพารักษ์ บางปลา บางบ่อ บางนา กม.19 พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นออฟฟิศขนาด 150 ตารางเมตร และเป็นโรงงานขนาด 1,850 ตารางเมตร ในราคา 30 ล้านบาท พร้อมให้เช่า 120 บาทต่อตารางเมตร โดยที่ผู้ให้เช่าจะลงทุนซ่อมแซมให้ด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่า มีบางรายขายโกดังโรงงานพร้อมกิจการ เช่น ใน ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พื้นที่ 500 ตารางเมตร ราคา 29 ล้านบาท รวมทั้งมีบางรายที่ประกาศขายโรงงานพร้อมใบอนุญาตประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม รง.4 เป็นต้น

เปิดสาเหตุเอกชนเททิ้งที่ดิน
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นายทะเบียนและรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวว่า การประกาศขายโรงงานจำนวนมากในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์หรือภาวะตลาดซบเซาทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ประกอบกับโรงงานผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวถูกดิสรัปต์จากสินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขันราคาถูก
โดยเฉพาะช่องทางการขายผ่านออนไลน์ และทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสู้สินค้านำเข้าจากจีนไม่ไหว หลายรายต้องปรับเปลี่ยนสภาพจากผู้ผลิตไปเป็นผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายเอง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายรายยังถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ จากรถสันดาปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนในแง่กำลังซื้อของประเทศในภาพรวมก็ไม่ดีนัก จากปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในเกณฑ์สูง ก็ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระที่เพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัว 2.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.77% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 2.88%

สาเหตุหลักจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 7 เป็นการหดตัวจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.83% จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัว ตลอดจนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.66% จากผลิตภัณฑ์ Integrated Circuits (IC) และ PCBA ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง
และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.23% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีผลปาล์มดิบลดลงกว่าปีก่อน การหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก หลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกอีกครั้ง ทำให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง

“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่อง และมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 19.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเป็นเดือนที่ 7
สาเหตุหลักมาจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยมีจำนวนการผลิต 46,928 คัน ลดลง 26.37% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีการผลิต 63,732 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกมี 86,762 คัน ลดลง 9.25% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผลิตได้ 95,612 คัน”

นักลงทุนจีนแห่เสียบนิคม
นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขัน หรือผู้ประกอบการประสบปัญหาจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
แต่ในฐานะที่โรจนะเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศมองว่าการปิดประกาศขาย จำนวนหนึ่งจะเป็นพื้นที่โกดังเก็บของที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม และเจ้าของที่ดินอาจพัฒนาขึ้นมาเพื่อขาย เพื่อรองรับนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาดูพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งนักลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และภาคอุตสาหกรรม

“โรจนะเองและอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมก็ยังมีการขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุนที่ไหลเข้ามาด้วยเช่นกัน ส่วนการขายโรงงานเก่า โกดังเก่า อาจจะเป็นส่วนน้อย เพราะถ้าเทียบภาพรวมคือยังมีการลงทุนสูง และเอกชนก็ขยายพื้นที่รองรับการลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้น การประกาศขายที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจเพราะภาวะเศรษฐกิจ และน่าจะอยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่”

สอดคล้องกับ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากการประเมินและข้อมูลที่พบ มีความเป็นได้สูงว่าโรงงานเหล่านี้ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจจนต้องปิดกิจการ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นกิจการของคนไทย หรือต่างชาติ
แต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการอาจจะเห็นโอกาสในการขายสินทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ เพราะที่ผ่านมามีสัญญาณชัดเจนว่ามีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการซื้อโรงงานเดิมเพื่อนำมาปรับปรุงใหม่

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรเลือกลงทุนสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากจะได้ทั้งสิทธิประโยชน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายและเช่าพื้นที่ทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม อยู่ที่ 6,096 ไร่ เพิ่มขึ้น 202% เป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 5,148 ไร่ และนอก EEC 948 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 475,560 ล้านบาท โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน

โดยโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมาตรฐานของโรงงานที่ตอบโจทย์กับความต้องการโดยเฉพาะโรงงานสำเร็จรูป ส่วนใหญ่นักลงทุนจะตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การเข้าถึงวัตถุดิบ ตลาดแรงงาน การขนส่ง รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ

โรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้ เช่น ระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ระบบน้ำประปาที่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรม ท่าเรือ ท่อจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระบบจ่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับในธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ระบบส่งสัญญาณและระบบสื่อสารคมนาคมที่มีคุณภาพ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1546745

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่