เช้านี้ วันไหว้สิ้นปี (ก๊วยหนี่โจ่ยะ) ต้อนรับปีมังกรทอง

 
เช้านี้ (9 กพ.67) วันไหว้แล้วค่ะ  เห็นเป็ดไก่อารมณ์หวนไปคิดถึงสมัยเด็กๆทันที   ... พอไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษเสร็จ อาอึ้ม (คุณแม่) ก็จะนำเป็ดไก่ (สมัยก่อนไหว้ทีหลายตัวมาก) มาสับเป็นชิ้นใหญ่ๆ น่องเป็นน่อง อกเป็นอก  ทอดกรอบๆแล้วก็โรยเกลือเค็มปะแล่ม.ปะแล่ม มันช่างยั่วน้ำลายอาหมวยตัวน้อยนัก  ดูทีวีก็ถือไปดูด้วยหนึ่งน่อง  จะออกไปวิ่งเล่นก็ติดไปเป็นเพื่อนด้วยอีกหนึ่งน่อง..กลับเข้าบ้านก่อนอาบน้ำก็ขออีกสักหนึ่งน่อง....
........................

แม่นันดีใจนะคะที่ผลิตภัณฑ์ Nanthinee Homemade ได้เป็นส่วนหนึ่งในการไหว้บรรพบุรุษของแต่ละบ้านด้วย  
 
ในเช้าวันไหว้ จะเตรียมไหว้เจ้าที่ (ตีจู๋เอี๊ย) ประจำบ้าน  ด้วย "ซาแซ"  (เนื้อสัตว์สามอย่าง) ของหวานและผลไม้   บางบ้านก็จัดชุดใหญ่ หรือ โหง่วแซ (เพิ่มให้เป็นห้าอย่าง) พร้อมด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง สมัยเด็กๆ แม่นันจำได้ว่าเวลาไหว้เจ้าที่ทุกครั้ง อาอึ้มจะให้หยิบ "หงึ่งเตี๋ย" กระดาษใบใหญ่ๆพับครึ่ง ตรงกลางมีสีทองและมีกระดาษสีแดงแปะอยู่ด้วย และต้องมี   "หละเจ็ก" เทียนไม้สีแดงหนึ่งคู่ ไว้จุดปักกระถางธูป ไหว้เสร็จก็ให้นำ "หงึ่งเตี๋ย" ไปเผา 
 
พอสายๆหน่อย ก่อนหรือสักสิบโมงก็จะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ บนโต๊ะก็จะมีอาหารชื่อมงคลหลายๆอย่างเป็นหลัก และอาหารที่บรรพบุรุษชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด หรือต้มซุปต่างๆ ของหวาน และผลไม้ พร้อมทั้งกระดาษเงิน กระดาษทอง ไหว้เสร็จลูกหลานก็จะสนุกสนานกับการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง มีแบงค์ใบใหญ่ๆมูลค่าเป็นพันล้าน หมื่นล้านด้วย เผาไปให้บรรพบุรุษท่านได้ใช้ ตามความเชื่อต้องเผา "อ่วงแซจี๊" หรือ "ใบเบิกทาง" ก่อนทุกครั้ง เพื่อเบิกทางให้สิ่งของเราไปถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ... แม่นันว่าธรรมเนียมเล็กๆน้อยๆเหล่านี้มีเสน่ห์นะคะ สอนให้มีสติ ทำอะไรก่อนหลังเป็นขั้นเป็นตอนไป 
 
สมัยก่อนตอนแม่นันเด็กๆ มีความรู้สึกว่าการไหว้ในวันตรุษจีน หรือวันสาร์ทต่างๆ มันช่างยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากไหว้บรรพบุรุษแล้ว ยังปูเสื่อยาวๆตรงประตูบ้าน จัดอาหารคาวหวาน ขนมเข่ง ขนมเทียน เยอะแยะไว้ไหว้สัมภเวสี มีการปักธูปหนึ่งดอกบนอาหารทุกจาน อะไรจะสนุกเท่าการได้ปักธูปของเด็กตัวน้อยๆสมัยนั้น ไม่มีล่ะค่ะ .สมัยนี้บางบ้านก็ยังคงไว้ซึ่งการไหว้แบบนี้นะคะ ... อาตั่วแจ้ (พี่สาวคนโตของแม่นัน) ก็ยังคงปฎิบัติอยู่  
 
ไหว้บรรพบุรุษ เผากระดาษเงินกระดาษทองเสร็จสรรพ สมาชิกในครอบครัวก็จะนั่งล้อมวงทานอาหารกัน ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ที่อิ่มอร่อยและมีความสุขที่สุด ตกเที่ยงคืนหรือเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น (ตรุษจีน)  "ไฉ่สิ่งเอี๊ย" เทพเจ้าแห่งโชคลาภและความมั่นคั่ง จะลงมาประทานพร ให้โชคให้ลาภแก่มนุษย์โลก ซึ่งท่านจะลงมาเพียงปีละครั้ง  เป็นการต้อนรับปีใหม่ (ตรุษจีน) อย่างอุดมสมบูรณ์ และมั่งคั่งที่สุด 
.
พูดถึงตรุษจีน ถ้ามี Time machine ย้อนเวลากลับไปได้ แม่นันอยากกลับไปเป็นเด็กน้อยในวันนั้น เดินจูงแขนอาอึ้ม (คุณแม่) พากันขึ้นรถสามล้อ ออกไป "ไป๊เจีย" (สวัสดีปีใหม่) ญาติผู้ใหญ่ตามบ้านต่างๆ 
 
เป็นความทรงจำ.เป็นช่วงเวลาที่สวยงามในวัยเด็ก ที่แวบขึ้นมาในขณะเขียนเรื่อง "วันตรุษจีน" อยู่ค่ะ คิดว่าหลายๆท่านก็คงคิดถึงวันนั้น .. "โน๊วอ่า..ไหล่ เซียวหู่ อาอึ้ม เปา ซี้ไก่กา คื้อ ไป๊เจี๊ย อาโกว" (ลูกจ๋า..มาช่วยแม่ห่อส้มสี่ใบไปสวัสดีปีใหม่คุณป้ากัน") ได้ยินเรื่องเที่ยวเด็กน้อยในวันนั้นหูผึ่งขึ้นมาทันทีค่ะ โดยเฉพาะเวลาที่จะได้ใส่ชุดสวยไปนั่งรถสามล้อ เวลาคนขับบิดที..ใบหน้าเด็กน้อยก็จะได้โต้ลมสนุกสนานที่สุด ที่สนุกกว่าคือถ้าโชเฟอร์บิดแรงกว่านั้น..ก้นเราก็จะกระเด้งลอยออกจากเบาะ จับไม่ดีมีโขกหลังคารถแน่ค่ะ 
 
วันตรุษจีนถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน ตามประเพณีจีนจะต้องนำส้มสี่ผล มาห่อด้วยผ้าเช็ดหน้า จับปลายมุมผ้าเช็ดหน้าทั้งสี่มุมผูกเข้าด้วยกัน แล้วก็นำไปสวัสดีปีใหม่ พร้อมขอพรจากญาติผู้ใหญ่ แม่นันชอบตอนนี้ล่ะค่ะ เพราะเวลาญาติผู้ใหญ่ได้รับห่อส้มพร้อมคำสวัสดีปีใหม่จากเราแล้ว ก็จะแกะปลายผ้าออก หยิบส้มออกมาหนึ่งลูกหรือสองลูก แล้วใส่ผลใหม่กลับคืนในห่อผ้า ผูกให้เรียบร้อย ยื่นกลับพร้อมอวยพรให้พวกเรา ซึ่งก็มักจะขึ้นต้นด้วยคำกล่าวสวัสดีปีใหม่ (ซิงเจี่ย หยู่อี่ ซิงนี้ ฮวกไช้) แล้วก็ล้วงกระเป๋าหยิบเอาซองอั่งเปาสีแดง/ สีชมพูออกมาแต๊ะเอียให้อาหมวยน้อยคนนี้ ถ้าในบ้านที่เราไปเยี่ยมมีเด็กอยู่ด้วย อาอึ้มก็ต้องให้อั่งเปากับเด็กในบ้านด้วยเช่นกัน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆมีความสุขที่สุด ขากลับได้อั่งเปามาหลายซอง ได้ของเล่นเป็นดาบไม้ยาวๆปลายสีแดง ได้ป๋องแป๋งด้วย เดินหมุนป๋องแป๋งไปตลอดทาง
 
โตขึ้นมาถึงวัยเรียนหนังสือ พอถึงวันตรุษจีนที คุณครูก็จะให้หยุดทีละหลายๆวัน สมัยนั้นถือวันตรุษจีนเป็นวันหยุดพิเศษให้เหล่าอาตี๋อาหมวยในประเทศไทยทั้งหลายได้ไปกราบไหว้บรรพบุรุษ หยุดทีห้าหกวันเลยค่ะ วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว และเที่ยวต่ออีกยาวๆ เหล่าเพื่อนคนไทยก็พลอยได้อานิสงข์ไปด้วย ได้กินเป็ดกินไก่หลังตรุษจีนของบ้านเพื่อนกันอิ่มแปร้ 
 
ตอนเด็กๆแม่นันเคยถามอาอึ้มว่า ผู้ใหญ่ต้องให้อั่งเปาเด็กๆทุกปีเลยเหรอคะ ถ้าหนูโตแล้ว เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว จนหนูแต่งงานแล้ว ก็ยังได้อั่งเปาเหมือนเดิมเหรอคะ (ถามเหมือนในโลกนี้มีนางคนเดียว เด็กคนอื่นๆทั้งโลกจะไม่ได้เกิด ฮ่าฮา) 
อาอึ้มตอบว่า "บ๊อหน่อ อู่คังข่วยจ่อ, อู่กังจือ, จู่เตียะ แต้ะ อั่งเปา ไห่แป่ไอ๊. โหะซุงหม่วย" (ไม่ใช่อย่างนั้น พอหนูโต มีงานทำ มีเงินเดือน ก็ต้องให้อั่งเปาพ่อแม่ น้องๆหลานๆ เราเองก็จะไม่ได้อั่งเปาจากใครแล้ว เพราะถือว่าเราโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์แล้ว)
 
อาอึ้มพูดไว้ไม่ผิดเลยค่ะ ....ในวันตรุษจีนปีหนึ่ง แม่นันขับรถจากกทม.เพื่อจะนำอั่งเปาไปให้อาอึ้มที่บ้านสามพราน ขณะกำลังจะถึงหน้าบ้าน หลานๆได้ยินเสียงรถอาอี๊/อาโกวคนนี้ เด็กๆต่างวิ่งกรูออกมาหน้าบ้านพร้อมตะโกนให้ได้ยินแต่ไกล "ซิงเจี่ย หยู่อี่ ซิงนี้ ฮวกไช้ อั่งเปา ตั่วๆ ไก๊" 
 
แม่นันเห็นแล้วก็อดชำเลืองซองในกระเป๋าตัวเองไม่ได้ ขำเด็กๆด้วย แม่นันจึงแกล้งเบรครถแล้วขับถอยหลังช้าๆ ประมาณว่า "ถอยดีกว่า" 
 
เด็กๆวิ่งไล่ตาม..โบกไม้โบกมือไม่ให้กลับ อาอึ้มเดินตามหลานๆออกมา แม่นันเห็นใบหน้าเปื้อนยิ้มของอาอึ้ม.. เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่น่าจดจำมากค่ะ
 
โห.หลานแม่นันเยอะมาก เยอะจริงๆ ตรุษจีนทียั้วเยี้ยไปหมดเลย ...ปีที่แล้วนั่งนับกับอาหลักแจ้ (พี่สาวคนที่หก) นับวนไปวนมาเรามีหลานเหลนถึง 46 คนแล้ว (ยังไม่รวมที่เกิดใหม่อีกปีนี้นะคะ) พระเจ้า...เยอะจริง
 
แม่นันมีพี่น้อง 10 คน แม่นันคนเล็กค่ะ หลานคนโตอายุเท่าแม่นัน ลูกแม่นัน (อาตั่วตี๋ โซ้ยตี๋) มีศักดิ์เป็นอากู๋/อาเจ็กตั้งแต่อยู่ในท้อง นึกแล้วก็ขำจริงๆค่ะ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่