ทิ้งวุฒิปริญญาโทเมืองไทย มาเรียนสายอาชีพที่เยอรมนีในวัย 40 ปี!! Ep3.| การเรียนการสอนสไตล์เยอรมัน

ตอนที่แล้ว เราได้เล่าถึงระบบเรียนสายอาชีพและรายได้ระหว่างเรียนไปแล้วนะคะ Ep นี้จะขอเล่าเกี่ยวกับการเรียนการสอนสไตล์เยอรมันในห้องเรียนค่ะ 😄

ในห้องเรียนมีนักเรียนทั้งสิ้น 22 คน มีต่างชาติ 4 คน ซึ่ง 3 คนอาศัยอยู่และเติบโตที่เยอรมนี ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่ มีดิฉันคนเดียวค่ะที่เป็นต่างชาติใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษารอง โดยดิฉันเริ่มเรียนภาษาเยอรมันตอนอายุ 36 ปี แล้วทำ Ausbildung ตอนอายุ 40 ปี ส่วนที่เหลือเป็นคนเยอรมันทั้งห้องอายุระหว่าง 17-45 ปีค่ะ 😣
ในช่วงเริ่มทำ Ausbildung 3 เดือนแรกนั้น จะมีความกดดันในการเรียนสูง และการทำรายงานหนักหน่วงมาก เพื่อคัดคนที่ต้องการไปต่อจริงๆ ส่วนคนที่เรียนไม่ไหวจะทยอยลาออกไป ในคลาสของดิฉันมีคนลาออกไปแล้ว 3 คน วิชาที่เรียนปีแรกนั้นมีทั้งสิ้น 10 วิชา +1 วิชา เป็นรายงานการปฎิบัติงานในสถานที่ฝึกงานค่ะ 
👉วันจันทร์-อังคาร เรียนที่โรงเรียน วันละ 10 ชม. รวมทั้งสิ้น 20 ชม. ตั้งแต่ 08:10-16:35 น. (ชั่วโมงเรียนละ 45 นาที เบรคทุก 2 ชั่วโมง 10-15 นาที ไม่มีพักเที่ยง)
👉วันพุธ-ศุกร์ ไปทำงานที่โรงเรียนอนุบาลอีก 20 ชม. เวลาทำงานแต่ละวันไม่เหมือนกันค่ะ แล้วแต่หัวหน้างานกำหนด รวมทำงานและเรียนทั้งสิ้น 40 ชม.ต่อสัปดาห์ค่ะ

การเรียนการสอนสไตล์เยอรมันนั้น มีคุณภาพและวัดผลได้จริง ซึ่งดิฉันจะขอสรุปให้อ่าน ว่าครูวัดผลนักเรียนอย่างไรนะคะ 

เน้น discuss กันในคลาส
ในห้องเรียน ครูจะแจกเอกสารการเรียนและมีเวลาให้อ่านสักครู่ จากนั้น ครูจะถามโดยที่เราต้องคอยยกมือเพื่อตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น.. ในกรณีนี้ ดิฉันต้องอ่านและทำความเข้าใจให้เร็ว (ภาษาเยอรมันทฤษฎีล้วนๆ 😭) พยายามชิงยกมือตอบคำถามคนแรกๆ เพราะหลังจากนั้น เพื่อนๆ จะตอบกันเกือบทั้งห้อง ซึ่งไม่รู้ว่าเค้าตอบอะไรกันบ้างแล้ว ครูไม่ได้เขียนบนกระดาน บางครั้งฟังไม่เข้าใจแล้วจะตอบซ้ำกับเพื่อนได้ค่ะ นอกจากจะยกมือตอบคำถามและแสดงความคิดเห็นแล้ว ครูจะให้นักเรียน discuss กับเพื่อนๆ ในกลุ่ม จับกลุ่มกันเองหรือครูแบ่งให้ 2-3 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และให้อธิบายทีละคนในห้องเรียนว่าในกลุ่มเรามีความคิดเห็นอย่างไร โดยในกลุ่มจะจัดสรรและแบ่งกันว่าใครจะตอบเรื่องใดบ้าง (นี่เฉพาะในคลาสแต่ละชั่วโมงเรียนนะคะ ไม่ใช่การบ้านงานกลุ่มค่ะ) 

บางวิชาไม่มีสอบข้อเขียน
ในบางวิชาไม่มีสอบข้อเขียน แต่ได้คะแนนจากการพูดในคลาส เช่น การยกมือตอบครูในห้องเรียน คะแนนพรีเซนต์ในหัวข้อที่ครูกำหนดให้ทั้งงานเดี่ยว งานกลุ่ม รวมถึงทำรายงานเป็นเล่มส่งด้วย ซึ่งเป็นการเรียนแบบการสื่อสาร 2 ทางค่ะ ว่าเข้าใจในหัวข้อนั้นๆ อย่างแท้จริง เป็นวิธีการสร้างเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเชี่ยวชาญให้กับนักเรียนค่ะ ไม่ได้นั่งฟังครูเลกเชอร์เฉยๆ หากครูให้เอกสารมาล่วงหน้า รวมถีงงานพรีเซนต์หรือรายงานต่างๆ ดิฉันต้องกลับบ้านมานั่งแปลอีกครั้ง หาข้อมูลเพิ่มเติมและทบทวนเนื้อหาต่อที่บ้าน เพื่อในคลาสถัดไปจะได้ยกมือตอบคำถามได้ ทุกครั้งที่มีการพรีเซนต์และทำรายงานส่ง เราจะได้คะแนนทุกครั้ง จากนั้น ครูจะเรียกไปคุยทีละคนแบบส่วนตัว ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ มีข้อชื่นชม-ข้อควรปรับปรุงตรงไหน เกรดของเยอรมันนั้น เริ่มต้นที่ 1-6 ซึ่งเกรด1 คือ ดีที่สุด ส่วนเกรด 6 คือ ไม่ผ่านค่ะ

การศึกษาด้วยตนเอง (Selbstlernphase)
หลังเรียนไปได้ครึ่งปี จะมีการทำ Selbstlernphase  เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองผ่าน Scenerio ในหัวข้อที่ครูให้มา โดยที่ครูจะเป็นคนเลือกแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ให้ทำงานร่วมกัน ซึ่ง Scenerio ที่ให้มาเป็นหัวข้อเดียวกันทุกกลุ่ม มีระยะเวลากำหนดชัดเจน เช่น 3 อาทิตย์ และระบุว่า งานที่เราจะต้องส่งมีอะไรบ้าง ทุกวันจะต้องทำการบันทึก (Protokoll) ส่งครูว่ามีความคืบหน้าอะไรบ้าง ในช่วงนั้น จะไม่มีการเรียนการสอนในห้องเลยค่ะ
ถึงเวลาพรีเซนต์ จะมีครู 4 คนนั่งหลังห้องให้คะแนนพรีเซนต์และรายงานเล่ม มันคล้ายกับการแข่งขันกันว่าใครมีเนื้อหาพรีเซนต์ที่กลั่นกรองได้ดีกว่ากัน หลังจากพรีเซนต์เสร็จ ครูให้เวลาปรึกษากันในการทำ Reflexion คือ เรามีความคิดเห็นว่า อะไรคือข้อดี-ข้อด้อยของกลุ่มในการทำพรีเซนต์ในครั้งนี้ แล้วมาคุยกับครูในสัปดาห์ถัดไป 

การวัดผลการปฎิบัติงานในสถานที่ฝึกงาน
นอกจากจะวัดผลในห้องเรียนแล้ว การปฎิบัติงานจริงในสถานที่ทำงานก็มีการวัดผลเช่นกัน เรียกว่า Praxisbesuch คือ การเยี่ยมเยียนที่ฝึกงาน อันที่จริงครูไม่ได้มาเยี่ยมหรอกค่ะ แต่มาวัดผลการปฎิบัติงาน โดยเราจะต้องนำทฤษฎีที่เรียนไป 1.ทำรายงานเสนอครูว่าจะทำเรื่องอะไร (Ausarbeitung) 2. แสดงการดำเนินงานร่วมกับเด็กๆ (Ausführung) รวมเรียกว่า Bildungsangebot ค่ะ ใน 1 ปีครูจะมาเยี่ยม 4 ครั้ง โดยครูจะมีใบงานมาให้ค่ะว่ามีหัวข้อที่ต้องเขียนอะไรบ้าง แล้วแต่ละข้อมีคะแนนเท่าไหร่ ซึ่งมันยิบย่อยมาก 😣 จากนั้น ดิฉันจะต้องปรึกษากับครูพี่เลี้ยงที่ดูแลเราระหว่างการทำ Ausbildung ในที่ทำงาน ว่าจะทำเรื่องอะไร เอารายงานให้ตรวจก่อนล่วงหน้า ครูพี่เลี้ยงจะคอมเมนต์แล้วให้กลับไปแก้มาใหม่ และให้สาธิตการดำเนินงานกับเด็กๆ ก่อนถึงวันจริงที่ครูมาเยี่ยม การที่จะทำงานร่วมกับเด็กอนุบาลที่เยอรมันไม่ง่ายซะทีเดียวค่ะ เราจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับเด็กๆ ก่อน จนเด็กๆ ไว้ใจเรา เค้าถึงจะยอมร่วมมือทำงานกับเราค่ะ 

ยิ่งเขียนยิ่งเยอะ 😅 มีอะไรอยากเล่าให้อ่านเยอะแยะเลยค่ะ เช่น ภาษาระดับ B2 ที่ดิฉันมีเพียงพอไหม? บรรยากาศการเรียนกับคนเยอรมันเป็นอย่างไร? ความรู้สึกของดิฉันจากการกดดันในการเรียน ฯลฯ แต่น่าจะยาวเกินไปล่ะ 😆

Ep4.|ไปต่อหรือพอแค่นี้ …เป็น Ep ที่ต่อเนื่องจาก Ep นี้นะคะ เป็นการแสดงความรู้สึกของดิฉันล้วนๆ จากการเข้าระบบการศึกษาของเยอรมันเป็นครั้งแรกค่ะ 😊
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่