ทิ้งวุฒิปริญญาโทเมืองไทย มาเรียนสายอาชีพที่เยอรมนีในวัย 40 ปี!! Ep2.| ระบบการเรียนสายอาชีพและรายได้ระหว่างเรียน

หลังจากที่ดิฉันตัดสินใจเลิกส่งใบสมัครงานตามบริษัทต่างๆ ที่โดนปฎิเสธมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เพื่อหันมาสมัครเรียนสายอาชีพเป็น “ผู้ดูแลเด็กอนุบาล” หรือที่เมืองไทยเราเรียกว่า “ครูอนุบาล” นั่นเองค่ะ การเรียนสายอาชีพที่เยอรมนี เรียกว่า Ausbildung (เอ้าส์-บิว-ดุ้ง) ที่สำคัญ ….เรียนฟรีไปเลยจ้าา!! 🎉…แต่ก็นั่นแหละค่ะ สุดท้ายก็ต้องเข้าตลาดแรงงาน เสียภาษีเข้ารัฐอยู่ดี ..ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ..แนวคิดเข้าท่าดีเน๊อะ 😄 .. อย่างแรก ดิฉันต้องตัดสินใจว่าอยากสมัครเรียนระบบไหน ซึ่งการเรียนครูอนุบาล (Ausbildung als Erzieher) นั้นมีให้เลือกอยู่ 2 ระบบด้วยกัน นั่นคือ

1. Praxisintergrierte Ausbildung (PIA)
2. Konsekutive Ausbildung

ระบบที่ 1: PIA เป็นการเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน เรียกว่า Duale Ausbildung ใช้เวลาเรียน 3 ปี มีรายได้ระหว่างเรียน โดยไปโรงเรียนเพื่อเรียนทฤษฎี 2 วันต่อสัปดาห์ จำนวน 20 ชั่วโมง และไปทำงานปฎิบัติงานจริงที่โรงเรียนอนุบาล อีก 3 วันต่อสัปดาห์ จำนวน 20 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในกรณีนี้ มีสัญญาการจ้างงาน และเสียภาษีให้รัฐบาล จึงได้รับสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานทุกประการค่ะ
รายได้ระหว่างเรียนสายอาชีพก่อนหักภาษีและประกันสังคม (Brutto) คือ 

เรียนปีที่ 1 :  1.290,69 € = 49,046 THB
เรียนปีที่ 2:   1.352,07 € = 51,378 THB
เรียนปีที่ 3:   1.453,38 € = 55,228 THB
เรียนจบทำงาน : 3.303,85 € = 125,546 THB
*อัตราเงินเดือนนี้ มีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ค่ะ*

ระบบที่ 2: Konsekutive เป็นการเรียนทฤษฎีในโรงเรียนอย่างเดียว เรียกว่า Schulische Ausbildung ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปีเช่นกัน แต่ 2 ปีแรกนั้น เรียนทฤษฎีที่โรงเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ ยังไม่ได้ปฎิบัติงานจริง จึงยังไม่มีรายได้ แต่สามารถขอสนับสนุนทางการเงินจาก Aufstieg-Bafög ได้โดยไม่ต้องคืนเงินค่ะ จำนวนเงินที่ได้รับขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคนค่ะ เช่น สามีมีรายได้เท่าไหร่? มีลูกไหม? เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือไม่? ฯลฯนอกจากนี้ การเรียนระบบนี้ จำเป็นต้องฝึกงานปีละครั้ง ครั้งละ 6 สัปดาห์ เรียกว่า Blockpratikum ส่วนปีที่ 3 ต้องฝึกงานทั้งปี เรียกว่า Anerkennungsjahr ในสถานที่ทำงานและทำโปรเจคสำหรับ Kolloquium เพื่อจบการศึกษาค่ะ ซึ่งปีที่ 3 นี้มีรายได้จากการฝึกงานแล้วค่ะ 

รายไดัฝึกงานปีที่ 3: 1.627,02 € = 61.826 THB

สุดท้ายดิฉันตัดสินใจเลือกเรียนระบบที่ 1 เพราะมีรายได้ระหว่างเรียนทั้ง 3 ปีนั่นเองค่ะ ก่อนสมัครเรียน จะต้องหาสถานที่ฝึกงานให้ได้ก่อน จากนั้นถึงจะเอาสัญญาการจ้างงานไปสมัครเรียนที่โรงเรียนค่ะ ดิฉันโชคดีที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยทั่วไป จึงได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่หาสถานที่ฝึกงานในโรงเรียนอนุบาล (KITA) ใกล้บ้านให้ค่ะ 
เอกสารติดตัวไปสมัครเรียน คือ  1. วุฒิการศึกษาที่เทียบวุฒิแล้วจากสถาบันที่เยอรมนี 2. ใบประกาศนียบัตรด้านภาษาระดับ B2-C1 3. ใบรับรองพฤติกรรมจากอำเภอที่เยอรมนี  4. เอกสารตรวจร่างกาย ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน (Masern) และ 5. สัญญาจ้างงาน มายื่นที่โรงเรียน ครูที่รับสมัครเรียนแจ้งว่า ระดับภาษาของดิฉันแค่ B2 ยังไม่พอนะ ต้อง C1 แต่ว่าเข้าไปเรียนก่อนได้ … ภาษาเยอรมันอีกแล้ว…จะบ้าตาย!! กว่าจะได้เรียนเพื่อประกอบอาชีพนี่ คงแก่ไปซะก่อนล่ะมั้ง!!😩 
ดิฉันกลับมาพิจารณาตัวเองว่า ควรกลับไปเรียนภาษาเยอรมันก่อนให้ได้ C1 หรือเรียนครูอนุบาลไปเลยดี แล้วค่อยๆ ปรับภาษาไป.. สุดท้ายตัดสินใจเป็นไงเป็นกัน ลุยเรียนครูอนุบาลเลยล่ะกัน สอบตกค่อยเรียนซ้ำชั้นเอา ปรับภาษาที่โรงเรียนสายอาชีพนี่แหละ เราจะได้เรียนรู้คำศัพท์เฉพาะทางด้วย.. เอาล่ะ..สู้โว้ย…✌️
ใน Ep หน้าจะมาเล่าให้ฟังนะคะ ว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนสไตล์เยอรมันเป็นแบบไหน ..ดุดัน..หฤโหดจริงค่ะ!! ..จะไปต่อหรือพอแค่นี้!! 😅
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่