ทิ้งวุฒิปริญญาโทเมืองไทย มาเรียนสายอาชีพที่เยอรมนีในวัย 40 ปี!! Ep4.| ไปต่อหรือพอแค่นี้!!

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน Ep ที่แล้ว เราเล่าให้ฟังถึงการเรียนการสอนสไตล์เยอรมันไปแล้วนะคะ ส่วน Ep นี้จะเข้าสู่โหมดแสดงความรู้สึกของเราล้วนๆ จากการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเยอรมันเป็นครั้งแรกค่ะ 😊
ก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอมนั้น เราแอบกังวลอยู่หลายเรื่องค่ะ เช่น ระดับภาษาที่เรายื่นไปนั้นจะพอเรียนในห้องรู้เรื่องไหม? เพื่อนๆ เค้าจะคุยกับเราไหม?บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนจะเป็นอย่างไร? ก็คงนั่งฟังเลคเชอร์แหละมั้ง เดี๋ยวกลับไปทบทวนอ่านที่บ้านต่อ .. คิดอยู่ในใจ!! .. แต่พอเข้ามาเรียนจริงๆ แล้วนั้น…ช็อคค่ะ!! 😱 
เพราะสิ่งที่เราเจอไม่ได้แตกต่างไปจากเพื่อนๆ คนไทยที่มาโพสเล่าให้ฟังเลย เริ่มจากเรื่องที่หนักที่สุดคือ 

 1. ความกดดันด้านภาษา
ระดับภาษาที่เรายื่นสมัครเรียนไปคือระดับ B2 ค่ะ แต่พอเข้าไปเรียนในห้องเรียนจริงๆ แล้ว มันไม่พอค่ะ!! แทบร้องไห้เลยค่ะ 😭 เราแทบจะไม่เข้าใจเวลาที่ครูบรรยายหรือเพื่อนๆ ยกมือตอบคำถามครูในห้องเรียนเลยค่ะ ในทุกวิชาและทุกคาบเรียนจะเน้นการ discuss กันเยอะมาก แสดงความคิดเห็นกันอย่างหนักหน่วงซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูก เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยคำศัพท์เฉพาะทาง นอกจากจะต้องอ่านให้เร็ว พูดโต้ตอบให้ได้ พรีเซนต์ให้เป็นแล้ว การเขียนรายงานนี่หนักสุดเลยค่ะ รายงานเล่มเยอะมาก ทั้งงานเดี่ยว งานกลุ่ม ต้องฝึกเขียนรายงานให้เป็นโดยนำทฤษฎีมาปรับใช้ในการเขียนด้วย เช่น รายงานการสังเกตพฤติกรรมเด็กทั้งแบบส่วนบุคคล หรือ เป็นกลุ่ม เด็กสนใจอะไร? ความต้องการของเค้าคืออะไร?..เครียดมากค่ะ!! 😖 เราต้องกลับมานั่งแปลเนื้อหาวิชาเรียนอีกครั้งและทบทวนเนื้อหานั้นๆ ต่อที่บ้าน ซึ่งเราต้องใช้เวลามากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ เยอะมากค่ะ การที่โรงเรียนแจ้งเราว่า ควรนำประกาศนียบัตรระดับภาษา C1 มาสมัครเรียนจึงสมเหตุสมผลมาก เพราะการเรียนสาขาครูอนุบาลนี้ จะต้องเขียนรายงานเยอะโดยนำคำศัพท์เฉพาะทางมาใช้ เน้นเรียนทฤษฎีและนำไปต่อยอดในการปฎิบัติงานกับเด็กๆ ต่อในโรงเรียนอนุบาลค่ะ

2.การปรับตัวกับสังคมวัฒนธรรมในโรงเรียนเยอรมัน
ภาษาเดียวกันก็เป็นพวกเดียวกัน!!  คนเยอรมันเค้าจะชอบคุยกับคนชาติเดียวกันมากกว่า เพราะนิสัยคนเยอรมันนั้นชอบแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันไปมา ยิ่งความคิดเห็นไม่ตรงกันยิ่งคุยกันนานไปใหญ่ ให้เหตุผลกันอุตลุด แต่ไม่มีทะเลาะกันนะคะ!!😆 ด้วยเหตุนี้ เราได้แต่ยืนฟังเงียบๆ..เศร้าใจ..เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แล้วจะเอาอะไรไปแสดงความคิดเห็นแลกกับเค้ากันล่ะ..โธ่..ใส่กันไฟแลบขนาดนั้น!!😫
เรามีเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติคนหนึ่งชาวรัสเซีย อยู่เยอรมันมากว่า 30 ปี แต่เค้าเรียนได้แค่ 2 เดือน ก็ไม่ไหว ลาออกไป ทำให้เราไม่มีเพื่อนค่ะ เราเลยต้องนั่งคนเดียวข้างหน้า เวลาทำงานกลุ่ม เค้าจะจับกลุ่มกันเร็วมาก และทุกครั้งจะเหลือเรานั่งหัวโด่อยู่คนเดียวหน้าห้อง ไม่มีเพื่อนชวนเข้ากลุ่ม 😅 ซึ่งเราต้องคอยไปถามเพื่อนๆ แต่ละกลุ่มว่า เค้าได้สมาชิกครบหรือยัง ขอเข้ากลุ่มด้วยได้ไหม.. ความรู้สึกนี้ มันแย่เหมือนกันนะคะ ซึ่งหนีไม่พ้นค่ะ😓 เวลาพักเบรคเค้าก็จะจับกลุ่มคุยกันซึ่งเราก็พยายามไปนั่งฟังเค้าคุยกัน จับประเด็นว่าคุยอะไรกัน เราอยากมีส่วนร่วมบ้าง เลยตั้งคำถามพวกเค้าบ้าง แสดงความคิดเห็นบ้าง โต้ตอบเค้าบ้างเป็นครั้งเป็นคราว บางครั้งเราก็เล่าให้เค้าฟังเรื่องของเรา ประเทศไทย อาหารไทย ไปเรื่อยเปื่อยเพื่อพยายามรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องเอาไว้ค่ะ 

3.ระยะเวลาเรียนที่หนักและขาดเวลาส่วนตัวให้กับครอบครัว
วันจันทร์-อังคาร เราเรียนที่โรงเรียน วันละ 10 ชม. รวมทั้งสิ้น 20 ชม.ต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 08:10-16:35 น. (ชั่วโมงเรียนละ 45 นาที) ส่วนวันพุธ-ศุกร์ เราต้องไปทำงานที่โรงเรียนอนุบาลอีก 20 ชม. รวมทั้งการเรียนและทำงานทั้งสิ้น 40 ชม.ต่อสัปดาห์ มีวิชาเรียนทั้งสิ้น 10 วิชา+1 Praxisbesuch เป็นรายงานเล่ม 4 เล่มต่อปีหลังจากเรียนเสร็จกลับมาก็เหนื่อยเหลือเกินแล้วค่ะ ยังต้องมานั่งทวบทวนเนื้อหาเก่า ทำการบ้าน ทำรายงานเดี่ยว รายงานกลุ่ม เตรียมพรีเซนต์ เตรียมสอบข้อเขียนอีก ที่หนักเข้าไปอีกคือ ที่โรงเรียนไม่มีโรงอาหาร ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำดื่มขาย เราต้องทำอาหาร และเตรียมทุกอย่างไปเองให้พร้อม!! 😭
ส่วนเพื่อนคนเยอรมันเค้าเตรียมพวกขนมปังง่ายๆ สลัดไปทานกันในห้องค่ะ (ปัจจุบันติดตั้งตู้กดน้ำอัตโนมัติแล้วค่ะ แต่ราคาแอบแพงกว่าในซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก)
เสาร์-อาทิตย์ที่เมื่อก่อนได้ไปเดินเที่ยวเล่น ไม่มีแล้วค่ะ..เวลาชีวิตส่วนตัวให้ตัวเองและครอบครัวแทบไม่เหลือค่ะ..อันนี้บอกเลยค่ะว่าเครียดมาก!! เวลานอนน้อยลง..ความกดดันของเรา เหมือนลูกบอลที่โดนบีบอัดแรงๆ ซ้ำๆ จนในที่สุดเราก็..ป่วยค่ะ!! เราลาป่วยไป 3 อาทิตย์ เรียนๆ-หยุดๆ เพราะเหมือนมันหนักเกินกำลังเรามากไปค่ะ จนเราหันกลับมาพิจารณาตัวเองว่า เราควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี!!

4.ปรึกษาครูประจำชั้นเพื่อหาทางออกเราเริ่มเหนื่อยและท้อมาก จิตใจหดหู่เศร้าหมอง เริ่มไม่อยากไปโรงเรียนแล้วค่ะ เราจึงเข้าไปปรึกษาครูประจำชั้นเพื่อหาทางออก ซึ่งท่านน่ารักมากค่ะ บอกว่า เราเพิ่งมาอยู่ได้ไม่นาน ยังต้องเรียนรู้เรื่องภาษาและการปรับตัวเข้ากับสังคมเยอรมันในโรงเรียน หากเรียนไม่ไหว แล้วสอบตก เราสามารถลงเรียนซ้ำชั้นได้ ซึ่งหมายความว่า เราเรียน 3 ปี สามารถซ้ำชั้นได้ถึง 3 ครั้ง (แต่อันที่จริง ก็ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ แค่ปรับตัวสัก 1 ปี ก็น่าจะพอเรียนถูๆ ไถๆ ไปได้ค่ะ) หากสอบผ่านก็เลื่อนไปเรียนชั้นต่อไปได้
การคุยในครั้งนี้ทำให้เราปลดล็อกเลยค่ะ เราเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น และหาเวลาไปออกกำลังกายอีกครั้ง เราได้แจ้งครูประจำชั้นไปว่า ปีนี้เราขอปรับตัวก่อนและอยากลงเรียนซ้ำใหม่ปีหน้า จากนั้นเข้าไปคุยกับครูใหญ่ที่ รร.อนุบาลเช่นกัน ซึ่งทุกคนก็ยอมรับในการตัดสินใจของเราค่ะ และบอกเราว่า เราอาจจะไม่ต้องซ้ำชั้นก็ได้นะ ถ้าเราลดความกดดันตัวเองลง มีสิทธิ์สอบผ่าน😅
กลับมาที่งานบ้านงานเรือน การทำอาหารการกิน แม่สามีเสนอตัวทำกับข้าวให้ทานมื้อเย็นในวันจันทร์-อังคาร ทำให้เรามีเวลาทำการบ้านเยอะขึ้น เราเริ่มมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สามีช่วยเราตรวจสอบภาษาการเขียนรายงานและช่วยแก้ไขให้ พอเริ่มผ่อนคลาย การฟังในห้องเรียนเริ่มมีสมาธิ ฟังเข้าใจเยอะขึ้น คะแนนสอบต่างๆ รวมถึงรายงานส่งครูทำได้ดีมากขึ้น จนครูชมเลยค่ะ ว่าคาดไม่ถึงว่า เราจะสามารถกลั่นกรองเนื้อหาที่เรียนออกมาเป็นรายงานเป็นเล่มได้ จนได้เกรด 2+ มาครอบครอง (ขาดแค่ 1 คะแนน ได้เกรด 1-) เกรดในหลายๆ วิชาเราได้คะแนนดีกว่าคนเยอรมันอีกนะคะ ..แอบภูมิใจค่ะ 🥰 สรุปคือ เราไปต่อค่ะ สอบตกก็ซ้ำชั้นเอา ไม่อยากกดดันตัวเองมากเกินไปแล้วค่ะ 😊
ส่วน Ep5.|ทำงานในโรงเรียนอนุบาล จะเป็น Ep สุดท้ายแล้วนะคะ เราจะมาเล่าให้ฟังเรื่องการทำงาน 3 วันในโรงเรียนอนุบาลว่าเป็นอย่างไรบ้างนะคะ ❤️❤️❤️

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่