การปฏิรูประบบราชการ: รัฐบาลปี2539-2540 VS รัฐบาลปี2544-2549 ผลงานรัฐบาลไหน?

กระทู้สนทนา


สาร
ฯพณฯ สุขวิช รังสิตพล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ 

การปฏิรูประบบราชการเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งต้องดำเนินการเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี2020   ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งเริ่มใช้เมื่อ 1ตุลาคม 2539  เป็นแผนปฏิรูปสังคมและจัดระเบียบประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 

นอกจากปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบสาธารณสุข มีความจำเป็นในยุคโลกาภิวัฒการปฏิรูปราชการเป็นเงื่อนไขอีกประการหนึ่ง ในการปฏิรูประเทศไทย เพื่อเป้าหมายในการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  การปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้านข้างต้น จะนําไปสู่การพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และนําประเทศให้ไปสู่การแข่งขันกับประชาคมโลกได้ในทุกมิติ  เพราะการปฏิรูประบบราชการ เป็นกลไกหนึ่ง ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ยาวนานกว่า 700 ปีแล้ว หลังจากบรรพบุรุษของเราก่อตั้งประเทศนี้ขึ้น  แต่กลับมีการปฏิรูประบบราชการเพียง2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการปฏิรูประบบราชการโดยการนําระบบจตุสดมภ์มาใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประมาณพุทธศักราช 1991- 2072 
ครั้งที่ 2 ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศักราช 2435 เมื่อครั้งยังเป็น สยามประเทศ ในศตวรรษที่ 19  ปัจจุบันปีพุทธศักราช 2540 และศตวรรษที่ 20 กำลังจะสิ้นสุดลงใน3ปี

อีกทั้งประเทศไทยได้เริ่มอภิวัฒน์การศึกษาไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2538 ในรัฐบาลที่ผ่านมา ด้วยแผนแม่บทนโยบายปฏิรูปการศึกษายุคโลกาภิวัฒน์2538:เพื่อเตรียมพร้อมพลเมืองไทยสำหรับศตวรรษที่ 21
จึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปราชการให้มีความทันยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020

รัฐบาลจะดําเนินการปฏิรูประบบราชการให้มีสมรรถนะแข็งแกร่ง  และเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศ โดยจะเปลี่ยนนโยบายการปกครองประเทศจากการรวมอํานาจเข้าสู่ส่วนกลางในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นการกระจายอานาจ โดยการเปิดระบบราชการสู่กระบวนการประชาธิปไตย และการปรับบทบาทของรัฐให้สอดคล้องกับความเจริญของภาคเอกชน และความเจริญของประชาคมโลก
ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบราชการไทยให้มีระบบการบริหารและการบริการที่รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม และให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชนมากที่สุด อีกทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนให้มีโอกาสและมาตรฐานการดํารงชีวิตที่ดีขึ้น มีระเบียบวินัย และตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม
ตลอดจนเพื่อส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับระหว่างประเทศ และเป็นผู้นําในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านการ ส่งเสริมสันติภาพ สิทธิมนุษยชน การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความร่วมมือ กับประชาคมโลก
ในรายละเอียด แผนแม่บทนี้ประกอบด้วยหลักการใหญ่สองหลักการ หลักการแรก คือ    การปรับบทบาทภารกิจ และขนาดของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติ 12 วิธีการ 
และหลักการที่สองคือ การปรับปรุงระบบการทํางานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติ  10 วิธีการ ในแต่ละวิธีการจะมีเป้าหมายระยะเวลาในการดําเนินการกําหนดไว้โดยแจ้งชัด          
ในภาพรวมการดําเนินการตามแผนแม่บทนี้จะมีระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้แผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการมีความเป็นพลวัต สามารถพัฒนาปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมวิธีการ ในการปฏิรูปได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือตามสภาพปัญหาที่เผชิญ อีกทั้งเพื่อให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการเมืองและแผนพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้การปฏิรูประบบราชการมี ความเป็นรูปธรรมและเป็นนโยบายถาวรที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศต่อไปในแต่ละคณะจะต้องรับผิดชอบ         ในการสานต่อให้บังเกิดผลอย่างต่อเนื่อง
แผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการนี้มีการจัดทําประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้บริหารสูงสุดของทุกหน่วยงานภาครัฐและประชาชนมาแล้ว ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีมาโดยลําดับ
จึงกล่าวได้ว่า การสร้างการยอมรับในแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการนี้ได้ประสบความสําเร็จในระดับหนึ่ง
ขั้นตอนต่อไปคือ การนําแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการไปปฏิบัติให้บังเกิดผล  ด้วยความสนับสนุน ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งเกี่ยวข้อง ทั้งประชาชน  สื่อสารมวลชน ภาคเอกชน ภาคราชการ เอกชน และ  ฝ่ายการเมือง 
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแปลงแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการไปสู่แผนปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาประเทศไทย
ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ ข้าพเจ้าขอขอบคุณ คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ ที่ปรึกษาวิชาการ กรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกท่านซึ่งได้เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ ร่วมกันทํางาน จนกระทั่งเราสามารถจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการฉบับแรกในปีประวัติศาสตร์ ของประเทศไทย

              ฯพณฯ สุขวิช รังสิตพล
              รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
              ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่