รุ่นเก่า รุ่นใหม่ โครงสร้าง ปัจเจก

การเมืองไทยวันนี้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านขึ้นไปอีกระดับ ไทยรักไทยเคยมาเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยจากการเมืองนามธรรมที่การเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม พอเลือกตั้งจบคุณภาพชีวิตชาวบ้านก็เหมือนเดิม การพัฒนาเนิบๆไปตามระบบราชการ พอยุคไทยรักไทยเดินทางมาถึงก็เปลี่ยนการเมืองที่แข่งภาพลักษณ์ไปเป็นแข่งนโยบายไม่เคยพบเคยเห็นเท่าที่เคยมีมา ชาวบ้านสัมผัสได้ถึงการเมืองปากท้องได้ทันที แต่เมื่อเติมมากขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นประชานิยมเฟุ้งเฟ้อจนติดงอมแงม แม้ต่อมารัฐบาลปฏิวัติจะเข้ามาต่อคิดอะไรไม่ออกก็กู้ๆแจกๆไม่ปรับสมดุลเลย

วันหนึ่งคนหนุ่มสาวมองอยู่หลังเวทีการเมืองที่ผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงและขัดแย้งหนักทำให้แช่แข็งประเทศนานนับทศวรรษไม่มีทางลงจึงเสนอทางเลือกเรียกว่าพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยอีกครั้ง มองตัวการปัญหาอยู่ที่โครงสร้าง ที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดกล้าที่จะหยิบมาวางบนโต๊ะมาก่อนไม่ใช่แค่112 แต่เป็นทุนผูกขาด กระจายอำนาจ ผลประโยชน์ทหาร ฯลฯ

จุดเปลี่ยนตรงนี้เองทำให้เห็นการมองแตกต่างระหว่างรุ่นซึ่งคนรุ่นเก่า(ทัศนคติไม่เกี่ยวอายุ)มองปัญหาอยู่ที่คน(ปัจเจก)ถ้าสอนให้คนเป็นคนดีประเทศก็จะเจริญ แต่คนรุ่นใหม่(ทัศนคติไม่เกี่ยวอายุ)ถ้าแก้ปัญหาปลายเหตุไปเรื่อยๆบ้านเมืองก็พัฒนาแบบขอไปทีไปเรื่อยๆถ้าเปลี่ยนโครงสร้างดีๆปิดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกประเทศพัฒนาตามศักยภาพได้เลย

2แนวคิดนี้เหมือนหยินหยางต้องปรับสมดุลให้เหมาะตามช่วงเวลา บางช่วงปรับโครงสร้างอาจจะเยอะหน่อย พัฒนาปัจเจกก็ละไม่ได้ วันนี้เริ่มเห็นวิถีชีวิตที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นมองแต่สิทธิอย่างเดียวอยู่ในโลกโชเชียลทั้งวันทั้งคืนมีมากขึ้นเรื่อยๆ แก้ปัญหาแบบชี้นิ้วอย่างเดียว  การพัฒนาที่ดีจึงต้อง balance สังคมอยู่ตลอดเวลา หากไม่ทำไปพร้อมๆกันจะเกิดภาวะวิกฤติวัยกลางคนสังคมเข้าสู่ภาวะสับสนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกครั้ง ประชานิยมมากก็ไม่ได้ อำนาจนิยมอย่างเดียวก็ไม่ดี คีย์การพัฒนาไม่ว่ายุคสมัยใดคือการปรับสมดุลระหว่าง 2 แนวคิดที่ปะทะกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่