อสังหาฯจ๊าก! ภาษีที่ดินเต็มร้อย โอดเดือดร้อนยันตึกแถว ส่อง 10 ทำเลน่าเป็นห่วงบ้าน คอนโด 10 Mอัพ เหลือขายกว่า 2.9 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยจะมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2567 เต็มอัตราริอบเปอร์เซ็นต์ ว่า การที่เก็บภาษีที่ดินฯเต็มอัตราไม่มีลดหย่อน เท่ากับเป็นการซ้ำเติมธุรกิจที่ปัจจุบันยากลำบากอยู่แล้วให้เกิดผลกระทบหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจยังวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการถือครองแลนด์แบงก์และสต๊อกที่ดินยังเหลืออยู่ ยังมีธุรกิจโรงแรม ร้านค้าห้องแถวที่รายได้ยังไม่ฟื้นคืนจากสถานการณ์โควิด-19 จะต้องมีภาระจ่ายภาษีที่ดินเพิ่มและกลายเป็นต้นทุนส่งผ่านไปยังผู้บริโภค
 
นายวสันต์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 7 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ได้ยื่นข้อเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอให้รัฐพิจารณาส่วนลดภาษีของปี 2567 ในอัตรา 50% เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่วนระยะถัดไปขอให้แก้ไขอัตราในกลุ่มที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างพัฒนาหรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขาย รวมการบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ คลับเฮาส์ จากกำหนดให้เป็นประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย

“ตอนนี้มีคนถกเถียงกันมากว่าสรุปเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต ถามผม ผมว่าค่อยๆวิกฤตไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลไม่มีการทำอะไรหรือไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา จะยิ่งแย่ ซึ่งไม่ว่าจะวิกฤตหรือไม่วิกฤต ต้องมีมาตรการออกมากระตุ้น จะปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อน ถ้าเงินดิจิทัลวอลเล็ตล่าช้าไป ต้องหามาตรการใหม่มาแทน เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ “นายวสันต์กล่าว

https://www.matichon.co.th/economy/news_4389095

ส่อง 10 ทำเลอาการน่าเป็นห่วง บ้าน คอนโด 10 ล้านอัพ เหลือขายกว่า 2.9 แสนล้าน
ไม่ใช่แค่ตลาดที่อยู่อาศัยราคาต่ำ 3 ล้านบาท ที่กำลังเข้าสู่โหมดอันตราย ในส่วนของตลาดราคามากกว่า 10 ล้านบาท เป็นอีกกลุ่มที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังไม่แพ้กัน หลังจากผู้ประกอบการหนีตลาดต่ำ 3 ล้านบาท ที่ติดกับดักกำลังซื้อ กู้แบงก์ไม่ผ่านสูงถึง 60-65% หันมาบุกตลาดนี้มากขึ้น
 
มีการส่งสัญญาณจาก“วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ฉายภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนประเภทสินค้ายังเป็นบ้านเดี่ยว 71% รองลงมาอาคารชุด 18% บ้านแฝด 4% ทาวน์เฮ้าส์ 6% และอาคารพาณิชย์ 2% ขณะที่ยอดขายได้ใหม่ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส3 โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มียอดขายใหม่ 1,394 หน่วย เทียบกับปี 2565 ลดลง 17.9%

“ที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาทยังขายได้เรื่อยๆ แต่จำนวนยูนิตเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดมีมากกว่าความต้องการซื้อ หลังมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ถ้าเปรียบเหมือนสัญญาณไฟจราจร ตอนนี้กำลังเข้าโซนสีส้มและสีแดงที่ต้องระมัดระวัง เพราะลูกค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นตามซัพพลาย คนที่จะซื้อบ้านราคาระดับนี้ จะเลือกทำเลแลพสินค้าต้องเนี๊ยบจริงๆ”วิชัยกล่าวย้ำ 

เมื่อเอ็กซเรย์รายสินค้า“วิชัย”ระบุว่าอาคารชุดราคามากกว่า 10 ล้านบาท มีเปิดตัวใหม่น้อยมากในช่วงปี 2565-2566 ยังพบมียอดขายในปี 2566 ต่ำกว่าปี 2565 ในทุกไตรมาส โดยในไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดขายใหม่เพียง 166 หน่วย จากหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด 2,453 หน่วย อีกทั้งมียอดขายใหม่ลดลง 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลหน่วยเหลือขายของอาคารชุด ระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท ทยอยลดลงอย่างเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังโควิด ในปี 2564 โดยในไตรมาส 3 ปี 2566 มีหน่วยเหลือขาย 2,287 หน่วย มูลค่า 64,796 ล้านบาท จากที่เคยสูงถึง 3,171 หน่วย มูลค่า 90,648 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งลดลง 17.5%
 
ในส่วนของ”บ้านจัดสรร” มีเปิดตัวมากในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส4 ปี 2565 และไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566 ซึ่งแต่ละไตรมาสมีการเปิดระหว่าง 1,500 -2,700 หน่วย แต่ยอดขายจะอยู่ระหว่าง 958-1,432 หน่วย โดยไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดเปิดตัวโครงการใหม่ 2,238 หน่วย ขณะที่มียอดขายได้ใหม่เพียง 1,228 หน่วย เมื่อเทียบปี 2565 ลดลง 14.2% โดย 90% เป็นยอดขายบ้านเดี่ยว สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ ในไตรมาส 3 ปี 2566 มีหน่วยเหลือขายของบ้านจัดสรรราคามากกว่า 10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 10,909 หน่วย มูลค่า 230,836 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 54.8% ซึ่ง 85% เป็นบ้านเดี่ยว
“วิชัย”ยังชี้พิกัดทำเลที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีหน่วยเหลือขายมาก โดยในส่วนของอาคารชุด ได้แก่ สุขุมวิท คงเหลือ 1,086 หน่วย คาดใช้เวลาขายทั้งหมด 34 เดือน,สีลม สาทร บางรัก คงเหลือ 659 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 42 เดือน,ห้วยขวาง จตุจักร ดินแดง คงเหลือ 170 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 32 เดือน,บางพลี บางบ่อ บางเสาธง คงเหลือ 160 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 11 เดือนและพญาไท ราชเทวี คงเหลือ 119 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 15 เดือน

ส่วนบ้านจัดสรร อยู่ในทำเลเมืองนนทบุรี ปากเกร็ด คงเหลือ 1,330 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 45 เดือน, บางใหญ่ บางบัวทอง บางกรวย ไทรน้อย คงเหลือ 1,151 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 22 เดือน,คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง คงเหลือ 1,082 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 40 เดือน, บางพลี บางบ่อ บางเสาธง คงเหลือ 1,057 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 17 เดือนและหลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน คงเหลือ 1,033 หน่วย คาดต้องใช้เวลาขายทั้งหมด 27 เดือน

“จากข้อมูลยังพบว่าที่อยู่อาศัย 5-10 ล้านบาท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด เป็นตลาดยังมียอดขายทรงตัว โดยบ้านเดี่ยวมียอดขายได้ใหม่ 1,200-1,600 หน่วยต่อไตรมาส บ้านแฝดประมาณ 500-700 หน่วยต่อไตรมาส แต่พบว่ายอดเปิดตัวใหม่บ้านเดี่ยวเฉลี่ย 2,000 หน่วยต่อไตรมาส บ้านแฝด 800 หน่วยต่อไตรมาส สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้หน่วยเหลือขายของบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566 ส่วนทาวน์เฮาส์และอาคารชุดหดตัวอย่างชัดเจน ด้านที่อยู่อาศัยราคา 3-5 ล้านบาทมียอดขายได้ใหม่ที่มากกว่าหรือใกล้เคียงกับยอดเปิดตัวใหม่ ส่งผลให้หน่วยเหลือขายอยู่ในภาวะทรงตัวในทิศทางลดลง”วิชัยกล่าวสรุป

https://www.matichon.co.th/economy/news_4389146
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่