ทุกข์ก็คือทุกข์นั่นแหละ ถ้าเข้าใจเป็นอื่นมันจะงง

กระทู้สนทนา
จากที่เจ้าของกระทู้สังเกตมาสักระยะหนึ่ง เวลากล่าวถึงไตรลักษณ์
จะมีคนบอกว่าทุกข์ กับ ทุกขัง ไม่เหมือนกัน เพราะทุกขังมันเป็น...
อ่านดูแล้วเข้าใจก็จะคิดว่าอ๋อมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

ทว่าผมกลับคิดว่าแบบนั้นไม่น่าจะถูก คือเราเอาคำในภาษาไทย
ที่ใช้กันทั่วไป กับคำบาลีในพระสูตรที่ความหมายต่างกันมา
เปรียบเทียบกัน แล้วบอกว่าไม่เหมือนกันอย่างไร
ก็ทำได้ในแบบของคนทั่วไป แต่ถ้าจะอธิบาย
ทางธรรมแบบนั้นมันไม่น่าใช่ ผมจึงจะจับมันพลิกกลับมาที่เดิมอีกที

ทำไมผมถึงคิดแบบนั้น เมื่อก่อนก็คิดเหมือนคนอื่นๆ แต่พอตอบ
กระทู้แล้วนำข้อความในพระสูตรมาใส่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
แล้วก็ใส่วงเล็บว่าเป็นทุกขัง จากนั้นก็เริ่มรู้สึกตะหงิดๆ ว่าเอ
ถ้ามันต่างกันแล้วจะเขียนหรือออกเสียงว่า ทุกข เหมือนกันทำไม?

ถัดมาก็กลับไปดูพระสูตรอีก มีสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าถามภิกษุว่า
เป็นทุกข์หรือเป็นสุข !!?? เอาล่ะสิยิ่งงงเข้าไปใหญ่ ทุกขังที่ว่า
ไม่เหมือนกับทุกข์แต่ทำไมถามว่าเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

จากนั้นเจ้าของกระทู้ก็ลองคิดดูว่า เวลาเราเป็นทุกข์เป็นอย่างไร
ก็ได้คำตอบว่ามีสภาวะที่ถูกบีบคั้นเกิดขึ้นเราจึงเป็นทุกข์ ถ้าไม่มี
เราก็คงไม่เป็นทุกข์หรอก
เช่น อยู่กลางแจ้งนานๆเข้าก็ร้อนจนเริ่มทนต่อไปไม่ได้
เมื่อนั้นความทุกข์ก็เริ่มเกิด พอเกิดแล้วก็จะมีความรู้สึกความคิด
ที่อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ความร้อนหรือความไม่สบายตัว
นั้นหมดไปหรือเบาบางลง เช่น หลบไปอยู่ที่ร่ม ใช้ผ้าเย็นเช็ด
เอาพัดมาพัด ดื่มน้ำ เป็นต้น

สรุปง่ายๆก็คือทุกข์ในภาษาไทยที่เราใช้กันทั่วไปคือทุกขเวทนา
ซึ่งทุกขเวทนาก็คือ เวทนาที่เกิดจากทุกขังในไตรลักษณ์นี่แหละ
บีบคั้น ทำให้เราไม่สามารถทนอยู่อย่างเดิมได้ จำต้องทำอะไร
บางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว
สภาวะเดิมหายไปหรือคลายลง ความทุกข์ทางเวทนาก็ดับไป

จากนั้นผมก็ลองคิดต่อไปว่า ถ้าทุกข์เป็นอย่างนี้แล้วสุขเป็นอย่างไร
สุขต้องทนไหม ไม่เลย เราอยู่ไปได้เรื่อยๆ ถ้ารู้สึกว่าไม่เที่ยงไม่มั่นคง
เราจะยังสุขไหม ถ้ารู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ไม่เป็นไปอย่างต้องการ
ยังจะมีความสุขอยู่อีกไหม ก็คงไม่ ถ้าเช่นนั้นสุขในคำถามที่
พระพุทธองค์ถามภิกษุก็คือสภาวะตรงข้ามกับทุกข์นั่นเอง

ถ้าสรุป ทุกข์ และ สุข ให้สอดคล้องกับไตรลักษณ์ก็จะได้ดังนี้
ไตรลักษณ์ -ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อนัตตา
ตรงข้ามกับไตรลักษณ์ - เที่ยง เป็นสุข อัตตา

ทีหลังถ้าเห็นคำว่าทุกข์ในพระสูตรที่กล่าวถึงไตรลักษณ์ก็คงไม่งง
และไม่ต้องเปลี่ยนเป็นคำว่าทุกขังอีกต่อไปแล้วนะครับ
เพราะนั่นน่ะ ถูกแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่