JJNY : ‘ธนาธร’จวก งบสร้างสันติภาพ│ป้ามล-ทิชานำทีมร้อง ‘บิ๊กอุ้ม’│‘นิติพล’ซัดฝุ่นพิษยุค‘เศรษฐา’│เมียนมาขึ้นแท่นผลิตฝิ่น

‘ธนาธร’ จวก งบสร้างสันติภาพชายแดนใต้ปีละ 2.5 หมื่นล้าน แต่กลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4326738

‘ธนาธร’ จวกกลางวงเสวนา สร้างประชาธิปไตยไทยและสันติภาพให้ชายแดนใต้ ผ่านการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคง-คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ระบุ งบสร้างสันติภาพชายแดนใต้ปีละ 2.5 หมื่นล้าน แต่กลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง
 
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ ลานสานฝัน TK Park กรุงเทพฯ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมวงเสวนาในประเด็นการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคง การสร้างประชาธิปไตยไทย สู่สันติภาพชายแดนใต้ และการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่พื้นที่และประชาชน พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชน รวมถึงตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายธนาธร กล่าวว่า กลไกของกองทัพในปัจจุบันยังเป็นกลไกหลักในการผลิตซ้ำค่านิยมอำนาจนิยม ที่อาจส่งผลให้การสร้างความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายเป็นวาระที่ไม่ถูกพูดถึงในพื้นที่ โดยหากจะต้องแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องเริ่มจากการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องเริ่มจากการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคงและลดบทบาทของกองทัพในพื้นที่ เพื่อเพิ่มวาระทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนให้มากขึ้น

นายธนาธร กล่าวว่า งบประมาณในการจัดการเรื่องสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ในงบประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 25,000 ล้านต่อปี แต่กลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาพื้นที่ที่มากพออย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการลดบทบาทกองทัพในกระบวนการสันติภาพ และผลักดันให้พลเมืองเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและเชิงเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้กลับมาพัฒนา และขยายโอกาสในพื้นที่ให้ได้มากยิ่งขึ้น
 
โดยประเด็นนี้ สอดคล้องกับประเด็นในวงเสวนาเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพราะหากสามารถคืนสันติภาพให้แก่สามจังหวัดชายแดนใต้ จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็ย่อมนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมให้เกิดเป็นมูลค่าที่มากขึ้นได้ หรือกล่าวได้ว่า นี่จะเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศไทยและพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้ประชาชน
 
ด้านนายรอมฎอน กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่จะเป็นหลักประกันและเป็นพื้นฐานในการที่จะสามารถลดบทบาทของกองทัพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และสามารถนำไปสู่การยุบ กอ.รมน. ได้ แต่การนำเข้าร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภา ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำงานหนักในทางความคิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งในภาคประชาชนและในสภา แต่สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจจากรัฐบาล โดยเงื่อนไขในการคลี่คลายความขัดแย้งคือ ประเทศนี้ต้องเป็นประชาธิปไตย และทุกๆ การตัดสินใจของรัฐบาลพลเรือนต้องรับผิดชอบต่อชะตากรรมของประชาชน
 


ป้ามล-ทิชา นำทีมภาคีเครือข่ายเด็กและสตรีกว่า 100 องค์กร ร้อง ‘บิ๊กอุ้ม’ ใช้ยาแรงแก้ปัญหาคุกคามทางเพศ
https://www.matichon.co.th/education/news_4326733

ป้ามล-ทิชา ณ นคร นำทีมภาคีเครือข่ายเด็กและสตรีกว่า 100 องค์กร ร้อง ‘บิ๊กอุ้ม’ ใช้ยาแรงแก้ปัญหาคุกคามทางเพศ หลังศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต 6 จำเลย มุกดาหาร ข่มขืน รุมโทรมนักเรียน
 
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วย น.ส.อังคะนา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนภาคีเครือข่ายองค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัว 
กว่า 40 คน ยื่นหนังสือที่มีองค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัวและภาคประชาสังคม กว่า 100 องค์กร ร่วมลงชื่อ ถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อศธ. ภายหลังศาลจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ให้จำคุกจำเลย 6 ราย แบ่งเป็นครู 4 คน รุ่นพี่ 2 คน ตลอดชีวิต และให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งรวมกว่า 3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ฐานก่อเหตุข่มขืน รุมโทรม นักเรียน3 คนต่อเนื่องตั่งแต่ปี2562-2563 โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. ในฐานะโฆษกศธ. รับเรื่องแทน

นางทิชา กล่าวว่า การที่ศาลตัดสินถือเป็นความสำเร็จระดับปัจจัยเจก แต่หากต้องการให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างแท้จริง ศธ. ต้องส่งสัญญาณเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ทางเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในสถานศึกษา กว่า 100 องค์กร เห็นว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกับนักเรียนในความดูแลของศธ. และเกิดจากการกระทำของบุคลากรทางการศึกษาเอง สะท้อนถึงความรุนแรงทางเพศที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษาไทย เครื่องข่ายจึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
1. เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนที่เป็นการละเมิดกฎหมายให้ศธ. ทำหน้าที่เป็นเจ้าทุกข์ร่วมในการแจ้งความและฟ้องดำเนินคดีทางอาญา ประสานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครอง ช่วยจัดการให้ถึงความคุ้มครองสวัสดิภาพและได้รับการเยียวยาทางจิตใจโดยด่วน 
 
2. หากสอบสวนพบครูหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ให้ศธ.ลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอดถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยเด็ดขาด 

3. รัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของศธ.รีบดำเนินการเอาผิด ป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงช่วยเหลือผู้กระทำผิด ต้องรีบลงพื้นที่สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้เสียหาย ครอบครัว รวมถึงครู นักเรียนที่ไม่ได้กระทำผิด

นางทิชา กล่าวต่อว่า

4. เร่งจัดเวทีระดมสมองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการเชิงรุกในการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง สำหรับโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ 

5. ทบทวนการทำงานของศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) และพัฒนาให้มีความเป็นอิสระ เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย มีองค์กรภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง 

6. ให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก การเคารพความเสมอภาคมทางเพศ และมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ 
 
และ 7.ขอให้ประชาชน ผู้ปกครอง ช่วยจับตา สอดส่องความผิดปกติของครู นักเรียน และโรงเรียนที่อาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศ เพื่อให้เกิดการป้องปราม ตัดวงจรที่จะนำไปสู่ความเสียหาย
 
น.ส.อังคะนา กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ เคยมาที่นี่เมื่อหลายปีก่อน และพยายามจะให้การแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นจริง มีข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ เราคาดหวังและมีความหวังให้ศธ.มีกลไกทำงานขับเคลื่อนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเด็กๆ อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงทางเพศ ปี2564 จากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงทางเพศรวม 98 ข่าว กว่าครึ่งหนึ่งกลุ่มผู้ถูกกระทำอายุระหว่าง 11-15 ปี ร้อยละ 60 ผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก วัยรุ่นและนักเรียน ร้อยละ 16 ของข่าวผู้กระทำเป็นบุคลากรทางการศึกษา และเมื่อลงรายละเอียดพบว่า เครื่องดื่มแอลอฮอล์ ยาเสพติดเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อเหตุถึงร้อยละ38 และร้อยละ 19 ตามลำดับ สอดคล้องกับกรณีมุกดาหาร ที่พบว่าหลังบ้านพักครูจะพบกองขวดเหล้าเบียร์จำนวนมาก จุดที่น่าสังเกตุคือเหตุการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว ทำไมคนในพื้นที่จึงไม่เห็นความผิดปกติ ดังนั้นการมีส่วนรวมของชุมชน คนในพื้นที่ นักเรียนรวมถึงครูที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการจึงมีความสำคัญมาก
 
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการศธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข และแน่นอนว่าความสุขในสถานศึกษา และความสุขของผู้เรียนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังมีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน หรือมีการคุกคามทางเพศในสถานศึกษา ทั้งนี้กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดที่สุดในกระบวนการศึกษา ตลอดเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก ทุกวันจะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ ศูนย์ความปลอดภัย หรือ MOE Safety Center ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลโดยเร็วที่สุด
โดยจะมีบางกรณีที่คล้ายกับมุกดาหาร แนวทางของศธ. มีความชัดเจนว่า เมื่อมีประจักษ์พยายนชัด จะแยกผู้ล่วงละเมิดออกจากเหยื่อก่อน และสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยที่ยังไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ศธ.ใช้ยาแรงเพื่อที่จะป้องปรามผู้ที่ก่อเหตุในลักษณะนี้ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ศธ. ยินดีที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง


 
‘นิติพล’ ซัด ฝุ่นพิษยุค ‘เศรษฐา’ ไม่ต่างจาก ‘ประยุทธ์’
https://voicetv.co.th/read/BujsY2ElG

‘นิติพล’ สส.บัญชีรายชื่อ ‘ก้าวไกล’ ซัด ‘เศรษฐา’ แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ต่างจาก ‘ประยุทธ์’ แนะนำข้อเสนอที่เคยยื่นต่อ กมธ. มาปรับใช้ได้เลย
 
วันที่ 12 ธ.ค. นิติพล ผิวเหมาะ สส.แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายภาคเหนือ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยิ่งนานวันยิ่งสะท้อนตัวตนและรูปแบบการบริหารประเทศของรัฐบาลเศรษฐาว่า ไม่มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลประยุทธ์ คือชอบเล่นใหญ่เสียงดัง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาตามที่สั่งการได้เลย จากนั้นก็ปล่อยเบลอเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังที่เห็นได้ชัดไม่ว่ากรณีหมูเถื่อน ตั๋วตำรวจ หรือแม้แต่กรณีปัญหาจากฝุ่นพิษ PM2.5 
 
นิติพล กล่าวอีกว่า พอหมดหน้าฝนเข้าสู่หน้าหนาว อากาศเริ่มปิด แต่การเผาทางการเกษตรยังคงดำเนินต่อไปกลายเป็นฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ที่ขณะนี้กำลังลอยมาตามฤดูกาล จริงอยู่ที่ปัญหานี้แก้ไม่ง่าย แต่รัฐบาลเศรษฐาบริหารงานมาแล้วกว่า 100 วัน จึงมีเวลาเตรียมรับมือพิสมควร
 
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากไม่เห็นมีมาตรการอะไรออกมาให้ปอดได้รู้สึกได้โล่งบ้างแล้ว ยังแต่งตั้งบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาเป็นผู้รับผิดชอบปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจ พอเข้าสู่ช่วงอากาศปิด ฝุ่นควันก็เกิดขึ้นทันที นายกฯ ก็ทำตัวลอยเหนือปัญหา รอเปลี่ยนฤดูผ่านไปอีกปี บริหารวิกฤตฝุ่นแบบนี้แทบไม่มีอะไรต่างจากรัฐบาลก่อนเลยนิติพล กล่าว
 
นิติพล กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คณะกรรมาธิการของสภาฯ เคยศึกษาและมีข้อเสนอส่งไปที่รัฐบาลแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ ทุกข้อเสนอยังใช้งานได้ เพราะบริบทของปัญหายังเหมือนเดิม หากรัฐบาลมีความตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหานี้ ก็อยากให้นำไปใช้แล้วรีบออกมาประกาศมาตรการแก้ปัญหาให้ชัดว่าสิ่งที่จะทำมีอะไรบ้าง ทั้งมาตรการทำทันที รวมถึงมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้ประชาชนพอได้มองเห็นเป้าหมายบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้ทนและต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเองต่อไปแบบในขณะนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่