จับตาคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่ใต้เสื้อคลุม “พลเรือน” จะล้างภาพ “กลุ่มนายพลผลประโยชน์” ได้หรือไม่

กระทู้ข่าว


คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ที่มา - https://mgronline.com/south/detail/9660000109164
 
ถือว่ารวดเร็วพอสมควรสำหรับ “รัฐบาลนิดหนึ่ง” กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยึดเยื้อมานาน โดยมาตรการดับไฟใต้ระลอกใหม่ได้ใช้เงินไปแล้วเกือบ 200,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังก้าวสู่ปีที่ 20 ในต้นปี 2567 หรืออีก 1 เดือนข้างหน้า
 
หลังมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการสันติภาพ” เพื่อระดมความเห็นหาแนวทางดับไฟใต้มาได้ 1 เดือน เวลานี้มีสรุปไว้แล้วในหลายประเด็นสำคัญ หนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ต่อจากรัฐบาลลุงตู่ชุดที่แล้ว หลังต้องหยุดชะงักมานาน
 
อีกทั้งมีการเสนอให้หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพเปลี่ยนจาก “ทหาร” มาเป็น “พลเรือน” ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ที่กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และปัญหาไฟใต้ก็เห็นด้วย เพราะสอดรับกับรัฐบาลพลเรือนที่มีนายเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกฯ และมีนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม
 
อย่างไรก็ดีมีข่าววงในระบุว่า ฝ่ายความมั่นคงพยายามที่ล็อบบี้ให้นายกฯ แต่งตั้ง “นายทหารนอกราชการ” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข แต่รัฐบาลไม่ยอมอ่อนข้อให้ เพราะให้ไปมากแล้วทั้งในเรื่องการไม่แตะต้อง “กอ.รมน.” รวมถึงไม่ยุบและไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”
 
ทว่าทหารก็ไม่ละความพยายามเสนอให้อดีตแม่ทัพภาค 4 “บิ๊กเดฟ” หรือ “บิ๊กเกรียง” คนใดคนหนึ่งเป็นนั่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสานต่องานเก่า แต่รัฐบาลไม่ตกลง เพราะกลัวภาพว่าอยู่ใต้อำนาจกองทัพ เช่นเดียวกับที่ไม่ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็น รมว.กลาโหม แต่ตั้งให้เป็นเลขานุการ รมว.กลาโหมแทน
 
หวยจึงมาออกที่ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ได้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแทน หลังต้องชวดเลขาธิการ สมช.ไป เพราะรัฐบาลต้องการปลอบใจ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ที่ไม่ได้เป็น ผบ.ตร. เพื่อให้ได้ระดับ 11 เท่ากัน ซึ่งกองทัพก็พอใจเพราะเป็น “เด็กในคาถา” อยู่แล้ว
 
พูดถึงนายฉัตรชัย บางชวด ที่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งเป็นอีกช่องทางแก้ปัญหาไฟใต้ตามแนวทางสันติวิธีนั้น ต้องยอมรับว่าแม้จะไม่ได้เป็นคีย์แมนในกระบวนการพูดคุยตลอด 9 ปีของรัฐบาลลุงตู่ แต่เขาได้ร่วมคณะในฐานะตัวแทน สมช.และถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญมาโดยตลอด
 
นายฉัตรชัย บางชวด ถูกนินทามาโดยตลอดว่าเป็นคนของ “อำนาจเก่า” ที่มีผลประโยชน์กับเม็ดเงินที่ใช้ในการพูดคุยสันติสุขมาตลอดด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องถือว่าเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและมาเลเซียในฐานะคนกลาง รวมถึงองค์กรต่างชาติอย่างเจนีวาคอลล์หรือคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) แน่นอน
 
สถานะ “ข้าราชการพลเรือน” ของนายฉัตรชัย บางชวด แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข แต่น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และเชื่อว่าน่าจะทำหน้าที่ได้อย่าง “ยืดหยุ่น” เพราะไม่อยู่ในกรอบอย่าง “นายทหาร” ที่ทุกอย่างต้องเป๊ะๆ ตามคำสั่งของ “นาย”
 
ประเด็นนี้จึงยังไม่อยากติเรือทั้งโกลน แต่จะขอดูก่อนว่าคณะพูดคุยสันติสุขชุดนี้ที่จะมีการ “กลั่นกรอง” บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ มีใครบ้าง ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การหนุนเสริมและสร้างความเชื่อมั่นว่ามีประสิทธิภาพได้แค่ไหน
 
ที่สำคัญคือ ต้องดูด้วยว่านายฉัตรชัย บางชวด มีอิสระในการตัดสินใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบีอาร์เอ็นมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญฝ่ายมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก แต่จริงๆ แล้วกลับเล่นบท “ผู้กำกับ” บีอาร์เอ็น เรื่องเหล่านี้เขาเข้าใจตื่นลึกหนาบางอย่างไรหรือไม่
 
ถ้านายฉัตรชัย บางชวด ไม่มีอิสระเพียงพอ เพราะยังต้องฟังคำสั่งจาก “หน่วยอื่น” แบบที่อดีต 4 หัวหน้าคณะพูดคุยที่เป็น “นายทหารเกษียณ” เคยทำมาตลอดกว่า 9 ปีภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็น่าจะสรุปได้ว่าคงไม่ต่างจากการ “พายเรือในอ่าง” เหมือนที่ผ่านๆ มา
 
ดังจะเห็นว่าการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจากนายทหารเกษียณมาเป็นข้าราชพลเรือนในครั้งนี้ สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนแล้ว แทบจะไม่มีผลต่อความมั่นใจว่ากระบวนการพูดคุยจะมีมรรคมีผลให้ไฟใต้ยุติลงได้อย่างไร หรืออาจคาดเดาได้ว่าเป็นแค่การ “เปลี่ยนปก” ในขณะที่ “เนื้อใน” เหมือนเดิม
 
มีข้อน่าสังเกตต่อคณะพูดคุยที่ตั้งขึ้นใหม่ยังอยู่ในชื่อเดิมคือ “การพูดคุยสันติสุข” ไม่ใช่ “การเจรจาสันติภาพ” เพียงมีการตัด กอ.รมน.และสันติบาลส่วนกลางออก มีการยกเลิกหน่วยข่าว แต่ให้อำนาจ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ อีกทั้งยังพบว่า “นายทหารสายอำนาจเก่า” เดิมๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญ
 
แต่ก็ยังมีความหวังลึกๆ ว่าคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่นี้น่าจะขับเคลื่อนให้เกิดมรรคผลได้มากกว่า 4 ชุดที่มีนายทหารเกษียณเป็นหัวหน้า เพราะในคำสั่งแต่งตั้งครั้งนี้มีคำว่า “ช่องทางอื่น” อยู่ด้วย ดังนั้นชุดใหม่ที่มีนายฉัตรชัย บางชวด เป็นผู้นำอาจจะใช้ช่องทางที่เป็นไปตาม “หลักการสากล” ก็เป็นไปได้
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ช่องทางอื่น” น่าจะยังหมายถึงรวมมีอีกช่องทางที่เป็น “ทางลับ” หรือ “ไม่เปิดเผย” ที่อาจจะมีหัวหน้าคณะที่ชื่อ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด คนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ไว้เนื้อเชื่อใจ หรือไม่อาจเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับองค์กรมุสลิมมากมาย
 
หรือแม้แต่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.ที่เพิ่งเกษียณไปก็อาจถูกดึงมาอยู่ในคำว่า “ช่องทางอื่น” สำหรับกระบวนการเจรจาสันติสุขในครั้งต่อไปก็เป็นได้
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบนเวทีพูดคุยสันติสุขไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายรัฐไทยเราที่มีความพร้อมและเป็นเอกภาพเท่านั้น ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย และจากการติดตามข่าววงในพบว่า บีอาร์เอ็นน่าจะ “อ่านทาง” รัฐบาลนิดหนึ่งได้แบบทะลุปรุโปร่ง จึงเฉยๆ ต่อรายชื่อคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐบาลไทย แถมบีอาร์เอ็นยังใช้ตัวแทนชุดเดิมๆ ด้วย
 
ข้อสำคัญที่สุดของคณะการพูดคุยสันติสุขชุดล่าสุดนี้คือ ต้องปราศจาก “กลุ่มผลประโยชน์” ของ “นายพลนอกราชการ” ที่ถูกนินทามาตลอดกว่า 19 ปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ต่างหากที่นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมที่ผ่านมาถูก “ลากยาว” เพราะการยุติปัญหาลงไฟใต้นั่นหมายถึงการสิ้นสุดโอกาสกอบโกยผลประโยชน์นั่นเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่