JJNY : พิธาเสนอเพิ่มชนิดวีซ่า แก้ปัญหาสวัสดิการ│วอนรบ. ชะลอปรับขึ้นค่าไฟ│จับตาอสังหาฯ│อิสราเอลส่งรถถังหลายสิบคันรุกกาซ่า

พิธา กินซอยจุ๊ ร่วมกับแรงงานไทยในเกาหลี เสนอเพิ่มชนิดวีซ่า แก้ปัญหาสวัสดิการ
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7995314
 
 
“พิธา” พบปะแรงงานไทยในเกาหลี ร่วมทานซอยจุ๊ พร้อมรับฟังปัญหา สวัสดิการ การจ้างงาน การทำงาน และการใช้ชีวิตของแรงงานไทยในต่างแดน
 
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังเมืองฮวาซอง จังหวัดคยองกีโด ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงเย็นวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมเยียนร้านชำของคนไทย ร่วมรับประทานอาหารเย็น และพูดคุยพบปะกับแรงงานไทย แลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของแรงงานไทย สวัสดิการการทำงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิตในเกาหลีใต้
 
โดยนายพิธา ขอบคุณชาวไทยในเกาหลีที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ติดหนึ่งใน 10 อันดับที่ชาวไทยออกมาเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งพรรคก้าวไกล มี สส.มากที่สุดในสภาฯ ทั้งยังมีปีกแรงงาน ทีมต่างประเทศ และทีมเศรษฐกิจ แม้ตนจะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ตั้งใจมาเพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องแรงงานไทย เพื่อเสนอต่อพรรค และ สส.คนอื่นต่อไป
 
ด้านตัวแทนแรงงานไทย ซึ่งมาทำงานกับโครงการจัดหางานของกระทรวงแรงงาน (EPS) สะท้อนปัญหาของแรงงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ แรงงานเกษตร โดยเฉพาะผู้หญิง ที่จำนวนงานมีโควตาน้อยกว่าจำนวนแรงงาน และในช่วงฤดูหนาว เมื่อไม่มีงาน แรงงานได้รับผลกระทบ โดนให้ออกจากงาน หากไม่สามารถหางานใหม่ได้ตามเวลาที่กำหนดก็จำเป็นต้องกลับประเทศไทย
 
ทั้งที่กว่าจะสอบผ่านเข้าร่วมโครงการ ต้องเสียเงินหลักแสนในการเดินทาง การตรวจโรค และการเตรียมตัวขั้นตอนต่างๆ นอกจากนี้ แรงงานไทยยังเล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่ทำให้แรงงานในระบบจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเป็นแรงงานผิดกฎหมายด้วย แรงงานไทยในเกาหลีใต้ ยังสะท้อนปัญหาสวัสดิการ ที่หลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับนายจ้าง เรื่องที่พักที่ไม่ตรงกับสัญญาจ้าง การย้ายงานที่ไม่สามารถทำได้ง่าย สภาพร่างกายไม่ตรงสายงาน จะขอย้ายงานก็ไม่สามารถทำได้ และเมื่อถามศูนย์ช่วยเหลือ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ครอบคลุมความช่วยเหลือ แรงงานหลายคนคิดว่าเงินที่เสียไปไม่คุ้ม แต่ไม่สามารถทำอะไรได้
 
โดยนายพิธา ได้เสนอเพิ่มชนิดวีซ่าให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ตรงกับลักษณะงาน ลดความคลุมเครือ เจรจาให้งานตรงกับสัญญา รวมถึงเรื่องแทร็กระยะเวลาการทำงาน หากแรงงานทำงานถึงเกณฑ์ สามารถขยายเวลาการทำงานในเกาหลีใต้ได้ยาวนานขึ้น รวมถึงโอกาสในการได้รับวีซ่าทำงานอย่าง E7 ที่จะได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น
 
นายพิธา กล่าวต่อว่า รวมถึงโมเดลของประเทศอื่นๆ ที่ต้องการแรงงานเกษตร และเปิดรับแรงงานเป็นฤดูกาล สามารถเดินทางไปทำงานเฉพาะหน้าเก็บเกี่ยวและกลับไทยเมื่อหมดฤดู ก่อนจะเดินทางไปใหม่ในปีต่อไป ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องต้องโดนออก สามารถบริหารตัวเองได้ ซึ่งทางพรรคได้มองโมเดลนี้ และตั้งใจนำไปเสนอให้ปรับปรุงกับระบบของวีซ่า EPS รวมถึงปัญหาของแรงงาน EPS ในปัจจุบัน คือ การไม่ลงรายละเอียดในอุตสาหกรรมแต่ละส่วนที่แตกต่างกันที่มีการทำงานเฉพาะ อย่างวีซ่าเกษตรและอุตสากรรม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา มีกำหนดการบรรยายสาธารณะที่ห้อง 506 อาคารรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University)  เวลา 18.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. ในหัวข้อ “Towards a Brighter Horizon: Thai Democracy and the Future of Thai-Korea Relations



ชาวบ้านวอนรัฐบาล ชะลอปรับขึ้นค่าไฟ โอดภาระค่าใช้จ่ายสูง
https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1102113

เดือดร้อน! ชาวบ้านวอนรัฐบาล ชะลอปรับค่าไฟฟ้าระลอกใหม่ออกไปอีกระยะ พ้อเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายสูง
 
ตามที่รัฐประกาศจะมีการปรับขึ้นค่าไฟใหม่อีกระลอก ในเดือนมกราคม 2567 ต้นไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่วอนขอให้มีการชะลอออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่มากมายพออยู่แล้ว
 
ผู้สื่อข่าวรายงาน ประชาชนบางราย บอกว่า ค่าไฟฟ้าที่บ้านจ่ายเดือนละ 700 กว่าบาท หากรับปรับขึ้นไปอีกคงต้องจ่ายเป็น 1,000 บาท ไม่อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นในช่วงนี้ อยากให้ชะลอไปก่อน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี 
 
ลุงเจ้าของเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ที่จ.ตรัง บอกว่า ตนเองมีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญไว้บริการลูกค้าตลอด 24 ชม. ทั้งหมด 7 เครื่อง ลูกค้าจะมาตอนไหนก็ได้ ต่อเดือนจ่ายค่าไฟไม่มากประมาณ 400 บาท 
 
ทั้งนี้ ถ้ามีการปรับค่าไฟขึ้นอีกเกือบประมาณหน่วยละ 5 บาท ในเดือนมกราคม 2567 นี้ ส่วนตัวก็มองว่าขึ้นไม่มากสำหรับธุรกิจของตนเอง เชื่อว่าคงจะไม่เดือดร้อน เนื่องจากส่วนตัวมองว่าเครื่องซักผ้าอัตโนมัติดังกล่าวนี้กินไฟไม่มาก ไม่เหมือนตู้แช่ และการเปิดแอร์จะกินไฟมากกว่า 

นอกจากนั้นตนยังมีบ้านอีก 1 หลัง จ่ายไฟเดือนละ 500 กว่าบาท ก็ยังมองว่าไม่มาก และหากมีการขึ้นค่าไฟอีกก็อยู่ได้ หากเพื่อนอยู่ได้ตนเองก็อยู่ได้ 
ส่วนอีกร้านค้า บอกว่า มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญทั้งหมด 5 เครื่อง ใช้ไฟร่วมกันกับบ้าน ถ้าปรับค่าไฟขึ้นอีกก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก อยากให้รัฐชะลอการปรับขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดีเลย ซึ่งค่าไฟที่จ่ายอยู่ตอนนี้ที่รัฐบาลประกาศลดค่าไฟให้เหลือหน่วยละ 3.99 บาท ใบแจ้งหนี้ค่าไฟมาก็พบว่าลดลงได้เดือนละประมาณ 100 กว่าบาท จากที่เคยจ่ายประมาณเดือนละ 1,200 บาท เหลือจ่ายเดือนละประมาณ 900-1,000 บาท 
  
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคนมาซักผ้ามากน้อยต่างกันแต่ละเดือน ส่วนตัวมองว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้กินไฟไม่มาก แต่ต้องใช้น้ำมาก ด้านลูกค้าที่มาซักผ้า บอกว่า มาซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติตามร้านแบบนี้ ประหยัดกว่าการซักด้วยเครื่องซักผ้าที่บ้านมาก จึงนำมาซักที่ร้านแค่ 20 บาท ส่วนทางด้านร้านตัดผมชาย 
  
ขณะที่นายสมศักดิ์ เจ้าของร้าน บอกว่า ในช่วงหน้าฝนปกติจะจ่ายค่าไฟประมาณเดือนละ 3,000 กว่าบาท แต่ถ้าหน้าแล้ง ก็ตกเดือนละกว่า 4,000 บาท  และหากมีการปรับค่าไฟต่อหน่วยขึ้นอีกจะต้องเป็นภาระเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน แต่ไม่ทราบว่าจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไร จริงๆอยากให้ค่าไฟชะลออยู่อัตราเดิมมากกว่า ดีกว่าไปประกาศว่าจะขึ้น แต่ยังไม่ทันขึ้น
  
 สินค้าทุกอย่างปรับขึ้นไปรอหมดแล้ว และที่บอกว่า ลดนั่นนี่ เพื่อต้องการช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน ส่วนตัวมองว่าไม่ได้ลดเลย เพราะค่าไฟ ค่าน้ำมัน และสินค้าอื่นๆขึ้นทั้งหมด เช่น ผ้าเย็น ไว้เช็ดหน้าลูกค้าจากเดิมที่เคยซื้อแพ็คละ 165 บาท จำนวน 100 ชิ้น ครั้งสุดท้ายซื้อเมื่อวานนี้ปรับราคาขึ้นไปแล้วอยู่ที่แพ็คละ 200 บาท



จับตาอสังหาฯไทยปี 2567 หนี้ครัวเรือนอ่วม บ้าน 2-4 ล้าน ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง
https://www.thansettakij.com/real-estate/582564

จับตาอสังหาฯไทยปี 2567 หนี้ครัวเรือนอ่วม บ้าน 2-4 ล้าน ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

   จับตากำลังซื้อที่อยู่อาศัยปี 2567 ยังเปราะบางติดกับดักหนี้ครัวเรือนการปฏิเสธสินเชื่อ สถาบันการเงินสูงตาม โฟกัส  บ้านราคา 2-4 ล้านบาทฐานใหญ่ในตลาดอสังหาฯ กระทบหนัก 
 
กำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปี2567 ยังมีความเปราะบางสูง เพราะมีกับดักในหลายปัจจัย และความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ระดับราคา 2-4 ล้านบาท ที่นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท แคปปิตอล วัน เรียลเอสเตท จำกัด  และ เคลเลอร์ วิลเลี่ยม ไทยแลนด์ บริษัทตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ไทย สะท้อนว่าตลาดกลุ่มนี้ เป็นฐานใหญ่ที่สุดของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ยังมีปัญหาในเรื่องการปฏิเสธสินเชื่อกู้ซื้อบ้านจากธนาคารค่อนข้างสูง (รีเจ็กต์เรต) เพราะติดภาระหนี้อื่นๆ
 
โดยจะเห็นข่าวอยู่มากเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งนโยบายเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีความเข้มงวดมากเกินไป จากข้อกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย และใช้มาตรการอัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้ เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่ซื้อ (Loan to Value Ratio หรือ LTV) เป็นการแทรกแซงตลาดการให้สินเชื่อระหว่างธนาคารและผู้กู้ โดยพยายามให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศหรือ GDP ลดลง
 
หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ไต้หวัน, และออสเตรเลีย จะมีหนี้ภาคครัวเรือนต่อGDPสูงกว่าประเทศไทย  ทั้งๆ ที่มีอัตรา GDP ต่อประชากรสูงกว่าไทย 5-6 เท่า และวิธีการประเมินการปล่อยสินเชื่อควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หลักการในการคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระไม่ได้ มีการปรับไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น หนี้บัตรเครดิต ที่ธนาคารพาณิชย์นำหนี้ดังกล่าวมาประเมินผู้ขอสินเชื่อ แต่ในบางประเทศ ธนาคารไม่รวมหนี้บัตรเครดิตมาเป็นปัจจัยหลักในการคำนวณขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย
 
 โดยผลการอนุมัติจะใช้ระบบ Credit score ที่เป็นมาตรฐานการคำนวณจากหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่ Credit bureau (เครดิตบูโร) หรือ บางครั้งพิจารณาจากความสามารถในการชำระค่าเช่าของผู้กู้มาเป็นหลักการประกอบการพิจารณา การใช้วิธีการประเมินขึ้นอยู่กับหลักการของแต่ละธนาคาร ทำให้การกู้ซื้อบ้านมีอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงเพราะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ให้กับผู้ที่ต้องการยื่นสินเชื่อบ้าน ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ในการเตรียมความพร้อมโดยปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ ณ ปัจจุบัน มีผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ชัดเจน และไม่เปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสถานะการณ์ทั่วโลก
  
นับตั้งแต่หลังช่วงโควิดมา สหรัฐฯได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงจาก 2.25% ในปี 2562 ก่อนโควิดเป็น 5.5% ณ ปัจจุบัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วในปี2562 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะอยู่ที่ 1.5%-1.75% แต่ปัจจุบัน จะอยู่ที่ 2.5% เท่านั้น ทำให้เงินทุนไหลออกไปลงทุนในประเทศอื่นค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบให้เงินหมุนเวียน หรือสภาพปัจจุบันที่การลงทุนในตลาดทุน ได้ไหลออกจากประเทศไทยค่อนข้างสูง โดยมีดัชนี Set index ตํ่าที่สุดในรอบ 3 ปี และมีผลกระทบต่อความมั่นใจผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัดเจนในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
ขณะกำลังซื้อของคนไทยได้ถดถอยลงไปมากตามสภาวะการลงทุน ทั้งนี้หลายฝ่ายอาจจะมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการทางเงินในการกู้ยืมและส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย แต่อยากให้มองอีกมิติว่า จะทำอย่างไรให้สภาพการลงทุนหรือความมั่นใจผู้บริโภค มีการปรับตัวดีขึ้นจากสภาพ ณ ปัจจุบัน โดยพิจารณาจากสหรัฐฯเป็นตัวอย่าง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงแต่สภาวะเศรษฐกิจยังคงดีอยู่ และไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรดูจากอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียว เนื่องจากประเทศไทยขนาดเศรษฐกิจยังเล็กอยู่ ควรพิจารณาจากสภาพแวดล้อมภายนอกประเทศประกอบด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่