ลดน้ำหนัก กินพวกเป๊บซี่แม๊กซ์ โค้กซีโร่ เครื่องดื่ม 0 cal ทั้งหลาย จะทำให้ลดน้ำหนักไม่ได้ ลดยากจริงรึเปล่า ?

จริงๆก็เคยนำงานวิจัยลักษณะคล้ายกันนี้มาแชร์หลายทีแล้วนะครับ แต่งานนี้ก็มีความน่าสนใจครับ เพราะเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่า กับพวก 0 แคลในช่วงลดน้ำหนัก

โดยที่มีการติดตามผลนานถึง 52 สัปดาห์ หรือ 1 ปีเลย ไม่ใช่แค่ทดลองระยะสั้นๆไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงในรายละเอียดการกำหนดกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม ก็มีการจัดให้มีความสมดุลย์ ระหว่างคนที่ดื่มเครื่องดื่มหวานๆ เป็นประจำ กับคนที่ไม่ค่อยดื่ม และลักษณะอื่นๆ ให้ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างมีความสมดุลย์

และกลุ่มตัวอย่างก็มีจำนวนเยอะอยู่นะครับ ทั้งหมด 493 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ดื่มน้ำเปล่า (WATER) อย่างเดียว 246 คน และกลุ่มที่ให้ดื่มน้ำหวานที่เป็นสารทดแทนความหวาน (Non-nutritive sweetened beverages, NNS) จำนวน 247 คน มีทั้งชายและหญิง แต่หญิงจะเยอะกว่าหน่อย อายุตั้งแต่ 18-65 ปี

กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษา มี BMI ระหว่าง 27-35 ก็คือเป็นคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ หรืออ้วนนั่นแหละครับ อย่างที่บอกว่าศึกษา 1 ปี โดยแบ่งเป็นช่วงลดน้ำหนัก 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน ที่จะให้ทานแบบติดลบ จากนั้นอีก 9 เดือนที่เหลือ จะเป็นช่วงรักษาผลของการลดน้ำหนัก ทานในระดับสมดุลย์

ในส่วนของการทดลอง กลุ่ม NNS นั้นเขาจะให้ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน โดยมีให้เลือกหลายอย่าง ทั้งแบบหวานเฉยๆ และแบบซ่าๆ พลังงานก็แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดไม่เกิน 5cal เท่านั้น และให้ดื่มปริมาณ 330ml สองครั้งต่อวัน ส่วนกลุ่ม WATER ก็น้ำเปล่าในปริมาณเท่ากัน

แต่ไม่ใช่ว่าวันนึงให้ดื่มแค่นั้นนะครับ ถ้าอยากดื่มน้ำก็ดื่มได้ตามต้องการเลยเป็นการดื่มน้ำเปล่าปกติทั้งสองกลุ่ม อาหารการกินมีการให้ความรู้ และบอกว่าต้องกินอะไรยังไง มีการทำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลการทาน และกิจกรรมทางกาย ว่าออกกำลังกายหรือขยับเดินอะไรต่างๆ ยังไงบ้าง

ผลที่ได้คือ ทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักได้ทั้งคู่นะครับ แต่ว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อยในค่าที่ลดได้ กลุ่ม NNS ลดได้มากกว่า ที่เฉลี่ย 7.5kg กลุ่ม WATER ลดได้เฉลี่ย 6.1kg ทั้งสองกลุ่มน้ำหนักลดเมื่อเทียบกับตอนเริ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่ถ้าเทียบความแตกระหว่างกลุ่ม ว่ามีความต่างที่เป็นผลต่างสำคัญทางคลีนิคหรือไม่ พบว่าไม่มีความต่างที่มีความสำคัญทางคลีนิค (มากกว่า 1.5kg) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วปัจจัยอื่นๆ อายุ เพศ พฤติกรรมการดื่มน้ำหวานก่อนหน้านี้ อาจจะส่งผลมั้ย ก็ขออธิบายว่าเมื่อมีการปรับนำข้อมูลพวกนี้มาคิดทางสถิติแล้ว ไม่พบว่ามีอะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลนะครับ ส่วนรูปร่าง รอบเอว รอบสะโพก ไขมันตามจุดต่างๆของร่างกาย นั้นก็ลดได้ทั้งสองกลุ่ม

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วพวกค่าเลือดต่างๆล่ะ เป็นยังไงบ้าง HDL นั้นเพิ่มจากก่อนลดทั้งสองกลุ่มนะครับ แต่ก็เพิ่มเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนค่าเลือดอื่นๆระหว่างสองกลุ่มไม่ต่างกัน เอ๊ะ แล้วความหิว ความอยากอาหาร ความติดหวานล่ะ การกินหวานล่ะ ความอยากอาหารไม่เปลี่ยนแปลงทั้งสองกลุ่ม การทานน้ำตาลของทั้งสองกลุ่มลดลงทั้งคู่ ส่วนการดื่มน้ำหวาน นั้นลดลงเฉพาะในกลุ่ม WATER ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะกลุ่ม NNS ถูกกำหนดให้ดื่มน้ำหวานทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 serving อยู่แล้ว

พูดถึงค่าเลือด หลายคนชอบบอกว่า 0 แคลกระตุ้นอินซูลิน (จริงๆ เคยแชร์ไปหลายงานแล้วว่าในงานที่ทำในคนนั้นไม่ส่งผล) ในงานนี้หลังผ่านไป 1 ปี ระดับ Fasting insulin ลดทั้งสองกลุ่มนะครับ

ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่างานนี้มีงบสนับสนุนจากสมาคมเครื่องดื่มอเมริกัน (แต่งานทำในมหาวิทยาลัยในอังกฤษ เมืองลิเวอร์พูล) ผู้วิจัยแจ้งไว้ว่า สมาคมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ควบคุม หรือมีส่วนในการสรุปผลทดลองใดๆ เราจะเชื่อหรือไม่อันนี้ก็แล้วแต่นะครับ อิอิ แต่เขาก็ประกาศชัดเจนแฟร์ๆ ตรงนี้มีหลายคนชอบเข้าใจผิด ว่าพวกงานที่มีทุนสนับสนุนจากเอกชน จะเป็นงานที่มีอคติ (bias) จริงๆในทางวิชาการ ทางวิทยาศาสตร์ มันต้องไปดูกันที่วิธี หรือพวกระเบียบวิจัย การวิเคราะห์ผล การแปรผลนะครับ ว่ามีข้อบกพร่องมั้ย ไม่ใช่ว่ามีการสนับสนุนทุนงบประมาณ หรือสิ่งของแล้วจะต้องถือเป็นงานที่ใช้ไม่ได้เสมอไป อันนี้คนที่เข้าใจการศึกษาพอสมควรน่าจะทราบดี

ก็สรุปได้ว่าหลังจากเข้าโปรแกรมลดและควบคุมน้ำหนัก เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยลดน้ำหนักเป็นระยะเวลา 3 เดือน และหลังจากนั้นก็ควบคุมน้ำหนัก การดื่มน้ำเปล่า หรือดื่มพวกน้ำหวานที่ใช้สารทดแทนความหวาน ก็ลดน้ำหนักได้ทั้งคู่นะครับ สำหรับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้

อ้างอิง
Harrold, J.A., Hill, S., Radu, C. et al. Non-nutritive sweetened beverages versus water after a 52-week weight management programme: a randomised controlled trial. Int J Obes (2023). https://doi.org/10.1038/s41366-023-01393-3
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่