แบ่งปันประสบการณ์การทำงานในบริษัทญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะทุกคน 

หลายครั้งมากที่ได้พูดคุยเรื่องงานกับเพื่อน
โดยเพื่อน ๆ นั้นมีทั้งคนที่เป็นครู เป็นเจ้าหน้าทีของรัฐ พนักงานบริษัทออฟฟิศสัญชาติไทย เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล
หลังจากได้ฟังรู้สึกว่าที่ทำงานของเพื่อนมันดูสบาย ๆ กันเหลือเกิน 

ส่วนตัวแล้วตั้งแต่เรียนจบก็เข้าทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นมาตลอด มีเจ้านายเป็นคนญี่ปุ่นตลอด 
หลังจากคุยกับเพื่อนจึงอยากบอกเล่าถึงเรื่องที่มันอาจจะปกติสำหรับเรา แต่อาจไม่ปกติสำหรับเพื่อน หรือรู้สึกแปลกในมุมมองคนไทย
อาจเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ที่ กำลังจะย้ายไปทำงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น

เล่าจากที่เคยทำงานมา 3 บริษัท จะห้อยท้ายด้วยว่าจาก สามบริษัทเจอเรื่องแบบนั้นกี่บริษัท

1. ญี่ปุ่นมีประชุมเช้า หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โชเรย์ (shourei)    (2 ใน 3)
      ตอนเช้าก่อนจะเข้าสู่โต๊ะทำงาน จะมีสิ่งที่เรียกว่าประชุมเช้า ทุกคนจะยืนขึ้น และบอกเล่าว่าวันนี้ใครจะทำอะไรในแต่ละวัน มีเรื่องอะไรที่อยากจะแจ้ง จากนั้นตบท้ายด้วยการให้กำลังใจเพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน หากวันก่อนหน้ามีใครสักคนทำพลาด เรื่องนั้นจะถูกยกมาพูดตอนนี้นี่แล เรียกว่าชวนหนาว ๆ ร้อน ๆ ตั้งแต่เช้า
      บางบริษัทโชเรย์ตอนเช้าก็มีการออกกำลังกายเบาๆ และที่เคยเจออีกอย่างนอกจากประชุมหรือออกกำลังกายก็คือ การแบ่งปันเรื่องราว ดี ๆ ในแต่ละวัน โดยจะมีการจับสลากจับกลุ่ม กลุ่มละสิบห้านาที จับกลุ่มคุยกันว่า มีเรื่องราวดีๆ  อะไรบ้างที่เกิดขึ้นในอาทิตย์ที่ผ่านมา อย่าได้พูดออกไปเชียวว่าไม่มี จะโดนเรียกไปบ่นว่าทำไมไม่รู้จักเตรียม (เรื่องที่พูดก็คือคือเรื่องทั่วไปสุดๆ  หมาที่บ้านให้มือเป็นแล้ว พาลูกไปสระว่ายน้ำมา เมื่อวานไปกินส้มตำ ไปเที่ยวกับพ่อแม่) เป็นต้น และห้ามนานเกินไป เดี๋ยวจะไม่ได้ทำงานกันพอดี 

2. ตรงต่อเวลา ห้ามสายแม้แต่นาทีเดียว (จากประสบการณ์ตัวเอง) (3 ใน 3)
     จะมีการแสกนนิ้วเข้างานทุกครั้ง หนึ่งนาที เท่ากับมาสาย วิธีการลงโทษจะแตกต่างกันออกไป สำหรับของบริษัทที่เราทำงานจะเป็นการเขียนหนังสือขอโทษความยาวสิบบรรทัด เราเคยครั้งเดียว ตอนนั้นรอลิฟต์นาน แต่ใช้ข้ออ้างนี้ไม่ได้ เพราะไม่รู้จักบริหารให้มาให้ทันเวลาเอง จะมีการเขียนหนังสือขอโทษถ้าแบบฟอร์มมาสิบบรรทัดก็ต้องเขียนให้ครบสิบบรรทัด เราจะเรียกหนังสือนี้ในภาษาญี่ปุ่นว่า ชิมัตสึโช (Shimatsusho) หรือหนังสือยอมรับผิด โดยขอยกเนื้อหาที่เขียนคือ (ซึ่งตอนนั้นเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น ข้อดีคือภาษาญี่ปุ่นมันยืดเยื้อยาวได้ พอสมควร) ขอโทษที่มาสาย และทำยังไงที่จะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก บอกสาเหตุที่สาย (ตรงสาเหตุให้ระวัง บางคร้งเขียนไปเขาจะบอกว่าเราหาข้อแก้ตัว) และขอโทษที่มันเกิดสาเหตุนั้น ถ้าสมมุติสาเหตุนั้นเกิดจากอุบัติเหตุ ต้องขอโทษที่ไม่ระวังจนเกิดอุบัติเหตุ (แม้อุบัติเหตุนั้นอาจไม่ได้เกิดจากเราก็ตาม)  ยกตัวอย่าง พนง คนหนึ่งมาสายเพราะยางรถแตก ก็ต้องขอโทษที่ไม่ได้เช็คสภาพรถตัวเอง ทำให้มาแสกนนิ้วไม่ทันเวลา หลังจากนี้จะทำการตรวจเช็คสภาพรถก่อนมาทำงานเพื่อไม้ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก (และอื่น ๆ )
         ใช่ว่าทุกที่จะให้เขียนสำหรับบางบ ก็ไม่ได้ให้เขียน แต่ถ้ามาสายรวมกันเดือนหนึ่งเกินกี่นาที ก็จะมีการออกใบเตือน หรืออาจจะให้เขียนหนังสือชี้แจ้งอื่น ๆ  แทนการเขียนทุกใบที่มาสาย แต่ทุกทีน่าจะเหมือนกัน คือ ต้องรายงานหัวหน้า ขอโทษหัวหน้า และหาทางป้องกันนั่นเอง

ตอนคุยกับเพื่อน เพื่อนเคยเล่าว่าไปทำงานสายครึ่งชั่วโมง เราตกใจมาก คิดว่ามันคือเรื่องใหญ่มาก ๆ แต่ปรากฎว่าเพื่อนหัวเราะด้วยท่าทางสบาย ๆ และบอกว่าหัวหน้าสายกว่ามันอีก... ทำเอาเรารู้สึกแปลกใจว่า ได้ด้วยเหรอ
(ขอพูดเรื่องใบหนังสือยอมรับผิดอีกสักเล็กน้อย สำหรับใบนี้นั้นนอกจากมาสายแล้ว เรื่องที่เราทำผิดพลาดก็ต้องเขียนด้วยเช่นกัน ส่วนตัวทำธุรการและทำเงินออฟฟิศหายไป สิบบาท ก็เขียนหนังสือนี้เหมือนกันค่ะ)

3. กลับบ้านเร็วโดนมองแรง (2 ใน 3)
อันนี้เจอบ่อยมากการที่เราทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จและเมื่อถึงเวลาเลิกงานปุ๊ปลุกปั๊ป คุณจะโดนมองทันที บางทีคนญี่ปุ่นปากบอกว่ากลับได้เลย แต่แอบเอามาประเมินเราทีหลัง ถ้าเราไม่มีอะไรทำแล้วจริงๆ  งานเราเสร็จแล้วจริงๆ  ถ่วงเวลาสักสิบนาทีก่อนไปแสกนนิ้ว และต้องหันมาบอกทุกคนว่ากลับแล้วนะ ขออนุญาตกลับก่อนนะ สำหรับในไทยอาจเว้นเฉพาะคนได้ภาษา เจอหลายครั้งที่เขาพยักหน้าให้เวลาคนไทยกลับบ้านตรงเวลายิ้มแย้ม แต่พอคนนั้นออกพ้นประตูไปก็บ่นงึมๆ  ว่าทีเวลาออกรีบเชียว (และใช่ที่ได้ยินเพราะเรายังรั้งอยู่) และถ้าเกิดคุณดันทำอะไรไม่เรียบร้อยก่อนกลับ เช่นงานที่จะส่งวันถัดไป ตอนแรกบอกส่งบ่าย พอคุณกลับบ้านเร็ว ตอนเช้าอาจโดนเพ่งเล็งและโดนเร่งงานได้ ควรถ่วงเวลาสักนิด อิดออดสักหน่อยก่อนกลับ แต่การอิดออดนี้อาจซวยได้เพราะคุณอาจได้งานเพิ่มจนได้ทำโอที (แต่การเขียนโอทีบ่อยนั้นก็ถูกมองแรงเช่นกัน ว่าทำไมถึงเขียนโอทีบ่อย เป็นความอิหยังวะที่เจอทุกวันนี้ก็งงๆ )

4. วันดีคืนดีโดนย้ายแผนก (3 ใน 3)
    หากคุณทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแล้ว แม้ตอนสมัครคุณจะสมัครอะไรมากรุณาอย่าคิดว่าจะได้ทำงานที่เดิมตลอดกาล การผลัดเปลี่ยนตำแหน่งเป็นเรื่องปกติมาก ๆ  ในบริษัทญี่ปุ่น เคยเจอหัวหน้าญี่ปุนแผนกธุรการและบัญชีอยู่ดี ๆ โดนย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกไอที ตอนนั้นงงกันทั้งบริษัท บางคนทำงานบัญชีอยู่ดี ๆ ไปอยู่ฝ่ายประสานงานขาย สุดท้ายก็ไปเป็นเซลล์ สิ่งที่เขาต้องการคือ คนหนึ่งคนทำได้ทุกตำแหน่ง (ยกเว้นตำแหน่งที่ Specailist มาก ๆ อย่าง วิศวะ เป็นต้น) อันนี้มองว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง หากมีใครสักคนเกิดอะไรขึ้นไม่สามารถมาทำงานได้ หรือลาออกกระทันหัน ตำแหน่งนั้นก็จะไม่ว่างลงทันที มีคนสามารถสานต่อได้ตลอดนั่นเอง แต่ส่วนตัวไม่ชอบงานขาย โดนให้ไปพบลูกค้าก็แอบลำบากใจเช่นกัน

5.วัฒนธรรม โนมิไค (์Nomikai) หรือการกินเลี้ยงหลังเลิกงาน (2 ใน 3)
อันนี้อาจจะมาร์คตัวโต ๆ สำหรับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น เท่านั้นมากกว่า ส่วนตัวมีโอกาสได้ไปทำงานในถิ่นเขา เขาชวนไปจะปฏิเสธก็ไม่ได้ การปฏิเสธถือว่าเสียมารยาทมาก ๆ แต่ถ้าเรายืนกรานจริงๆ ไม่ไปก็ได้ แต่เชื่อไหมว่าการไม่ไปนี้จะโดนเอามาประเมินด้วย โดยเขาจะใส่ว่าคุณนั่นไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน แม้เวลางานจะไม่เคยมีปัญหากับใครก็ตามแต่  หากไปโนมิไค แม้จะเบื่ออยากกลับแค่ไหน หรือมุกเขาจะปล่อยมาแป๊กแค่ไหน หัวเราะเข้าไว้ ฝึกหัวเราะฝึกยิ้มได้ยิ่งดี สำหรับสาว ๆ ฝึกรับส่งด้วยว่า เอ๊ งั้นเหรอคะ ดีจังเลยค่ะ สุดยอดมาก ใช้บ่อยมาก และสะดวกสบายมากเวลาที่ไม่รู้จะต่อบทสนทนาอะไร

6. มารยาทการเดินสวนกันในออฟฟิศ (1 ใน 3)
อันนี้ค่อนข้างแปลกในไทย แต่อาจจะไม่แปลกสำหรับในญี่ปุ่น ที่นี่ใช้วัฒนธรรมญี่ปุ่นแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากเดินผ่านคนญี่ปุ่นหรือคนที่ตำแหน่งที่สูงกว่าต้องหยุดเดินก้มหัวและกล่าวทักทายทุกครั้ง หากมีคนตำแหน่งสูงกว่าเดินเข้ามาในแผนกต้องลุกขึ้นยืนทุกครั้ง แม้ตอนนั้นจะทำอะไรอยู่ก็ตามและก้มหัวพร้อมกล่าวทักทาย ให้คนที่ตำแหน่งสูงกว่าเข้าลิฟต์ก่อนทุกครั้ง เป็นไปได้หลีกเลี่ยงการเข้าลิฟต์ร่วมกันยกเว้นแต่ได้รับอนุญาต  บอกตามตรงว่าทำที่นี่รู้สึกเหมือนย้อนไปสมัยอยุธยานายกับบ่าวอะไรแบบนั้น  เรียนรู้การโค้งองศาแบบญี่ปุ่น ลำดับการนั่งในห้องประชุม 

7.ห้ามว่างในที่ทำงาน (3 ใน 3)
อันนี้คนไทยโดนเรียกเตือนบ่อยมาก มักโดนวานให้ไปเป็นล่ามประจำ คือ  แม้งานคุณจะเสร็จแต่ต้องดูเพื่อนร่วมงานด้วยว่าเขาเสร็จหรือยัง หรือถ้าว่างจริงๆ  ต้องพยายามหาอะไรมาเสริมทักษะ ไปถามหางานจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมทีม ซัพพอร์ตคนในทีม ห้ามอยู่ว่างๆ  เด็ดขาด เขามักถือคติจ้างมาแปดชั่วโมงต้องทำงานให้ครบแปดชั่วโมง จะออกไปซื้อกาแฟ หรือลงไปข้างล่างในช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลาพักกลางวัน ค่อนข้างเป็นเรื่องซีเรียส ต้องขออนุญาตทุกครั้ง จะอ้างว่างานตัวเองเสร็จไม่ได้ แม้แต่จะไปห้องน้ำก็ควรบอกกล่าวเพื่อนร่วมแผนกทุกครั้ง คนไทยชอบหายไปบ่อยๆ  แบบเพื่อนร่วมโต๊ะไม่รู้ เป็นปัญหาที่โดนให้ไปล่ามบ่อยมากๆ  ทุกบริษัทเลย

และนี่คือที่เจอมาตลอดชีวิตการทำงานกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น
ปัจจุบันเจ้าของกระทู้นี้รู้สึกเหนื่อยเหลือเกินจะไปสอบราชการในปีหน้านี้แล้วค่ะ
ฟังจากเพื่อนที่รับราชการแล้วรู้สึกสบายจัง

แต่ความคุ้มค่านั่นคือเงินเดือน สวัสดิการที่เขาให้มาค่อนข้างดีพอสมควร แต่เงินเยอะแบบนั้นกลับไม่มีความสุขเลย
เขาใช้เราคุ้มค่าสมกับเงินเดือน High Salary High Expect

แน่นอนว่ายังมีบริษัทญี่ปุ่นที่มีความนานาชาติ มีความสบาย ๆ ไม่เหมือนที่เราเล่านี้ก็มีค่ะ ไม่ใช่ทุกที่ที่เป็น

สิ่งนี้เป็นแค่ประสบการณ์ที่เรามองว่าคนไทยน่าจะไม่เคยสัมผัส หรืออาจจะมีบริษัทไทยเป็นแบบนี้ก็ได้เช่นกัน
หรืออยากให้ทำใจว่าจะเจออะไรแบบนี้ก่อนเข้าไปทำงานจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนงานบ่อยๆ 
สำหรับคนที่ชอบความมีระเบียบแบบแผน น่าจะชอบก็ได้ค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่