ศิลปะการลงทุนระยะยาว - โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



เขียน ณ วันที่ 13 พ.ค 2566
การลงทุนระยะยาวในแบบของ VI นั้น คือ “การลงทุนเพื่อชีวิต” ซึ่งผมเองคิดว่า นี่คือการลงทุนเพื่อเอาไว้ใช้ในวันที่เกษียณไม่สามารถทำงานหาเงินจากน้ำพักน้ำแรงได้แล้ว หรือไม่ก็ลงทุนเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้เป็นเงินมรดกในวันที่เราตายไปแล้ว แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมก็คือ ลงทุนเพื่อ “ความมั่นคงทางการเงิน” ของตนเองในระหว่างที่ยังมีชีวิต

นั่นก็คือ เมื่อเราลงทุนจนมีเงินก้อนโตพอสมควรหรือรวยแล้ว เราก็จะรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตว่า ยังไงเราก็จะไม่ลำบากถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิตของเราหรือครอบครัว เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นต้น

การลงทุนระยะยาวนั้น ความหมายแรกที่คนจะคิดถึงก็คือ การลงทุนในหุ้นแต่ละตัวที่จะถือไว้ “ยาวนาน” แต่คำว่ายาวนานสำหรับบางคนก็อาจจะเป็นแค่ไม่กี่เดือนหรือปีเดียว ถ้าเป็นแนวคนที่เรียกตัวเองว่า “VI” ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมองเป็นระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป โดยคนที่ถือยาวขึ้นมาหน่อยก็อาจจะถึง 2-3 ปีขึ้นไป ในขณะที่ VI ที่สูงอายุขึ้นมาก็มักจะถือยาวกว่านั้น และก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของ VI ด้วย

อย่างตัวผมเอง ในช่วงซักประมาณ 10-15 ปีแรกของการลงทุนแบบ VI ผมก็ถือประมาณ 1-3 ปี แต่หลังจากนั้นที่เปลี่ยนมาลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” เป็นหลัก ระยะเวลาเฉลี่ยในการถือหุ้นก็สูงขึ้นมากเป็น 5-10 ปีขึ้นไป

ความหมายของการลงทุนระยะยาวอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การลงทุนตลอดเวลาโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ และมีหุ้นในสัดส่วนที่มากเกิน 50% ของทรัพย์สินทั้งหมด คนที่เข้า ๆ ออก ๆ จากตลาดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นและการเงินนั้น จะไม่ถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาวและเพื่อชีวิต แต่น่าจะเป็น “นักเก็งกำไร” มากกว่า และ “ชีวิต” ก็มักจะ “ไม่เปลี่ยน” เพราะการลงทุน

การลงทุนระยะยาวของผมในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่ามีแนวทางหรือการปฏิบัติที่ชัดเจนและมั่นคงขึ้นมาก และถ้าจะพูดก็คือ มีส่วนคล้ายกับแนวทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ผมทำตามโดย “ไม่รู้ตัว” เหตุผลอาจจะเป็นว่า ผมอ่านและศึกษาเรื่องราวและชีวิตของเขาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่เริ่มลงทุนแบบ VI เมื่อ 30 ปีก่อน และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมใช้ในการลงทุน

ข้อแรกก็คือ การเลือกหุ้นที่จะลงทุนนั้น จะต้องวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ว่าเป็นกิจการที่ดีจริง มีความมั่นคงของผลประกอบการสูง ไม่ถูกดิสรัปหรือถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีหรือกระบวนการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ ได้ง่าย และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ราคาหุ้นต้องไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นฐานระยะยาวของบริษัท

และนั่นก็นำไปสู่การซื้อหุ้นลงทุนว่า ผมจะไม่ซื้อหุ้นที่กำลังปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ไม่ต้องพูดถึงหุ้นที่ขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” เพราะมีคนเข้าไปเล่นตามข่าวหรือผลประกอบการรายไตรมาสที่พุ่งขึ้นอย่าง “ไม่คาดคิด” เป็นหลาย ๆ สิบหรือร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ เพราะผมไม่เชื่อเรื่องราวที่ว่าบริษัทกำลังจะเปลี่ยนจากม้าเป็นยูนิคอร์น หรือเปลี่ยนจากกบเป็นเจ้าชายเมื่อถูกเจ้าหญิงจุมพิต

ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแบบ “ไม่คาดคิด” นั้น มักจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” และเป็นเรื่องของความเชื่อมากกว่าความจริง ผมชอบบริษัทเก่า ๆ ที่มีสถิติหรือผลงานที่ดีต่อเนื่องมายาวนาน จ่ายปันผลมาแทบจะตลอดทุกปีและค่อย ๆ ขยับขึ้น เป็นบริษัทที่ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มาหลายรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ

ข้อสองก็คือ ผมไม่มี “Exit Strategy” หรือซื้อแล้วไม่มีกลยุทธ์ในการขาย ซื้อเหมือนกับมันเป็น “ธุรกิจ” หนึ่งของตนเอง ไม่ใช่หุ้น สิ่งที่เฝ้าติดตามอย่างน้อยทุกไตรมาสก็คือ รายได้และกำไรเป็นเท่าไร อนาคตยังดีต่อไปไหม ไม่เคยคิดว่าราคาหุ้นเท่าไรจะขาย แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขายหุ้นเลย การที่จะขายหุ้นต้องดูปัจจัยอย่างอื่นอีกมาก รวมถึงว่าราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับหุ้นที่ผมเลือก

ข้อสาม การลงทุนระยะยาวก็คือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยง “ความเสี่ยง” ที่พอร์ตจะขาดทุนเป็น “รายปี” เพราะในระยะยาวมากนั้น ผมจะวัดผลตอบแทนเป็นรายปีเป็นหลัก วิธีที่จะลดความเสี่ยงนี้ก็คือ การลดความเสี่ยงหุ้นแต่ละตัว ซึ่งจะต้องเป็นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำของกำไรของบริษัท

ดังนั้น ผมมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เป็นโภคภัณฑ์ล้วน ๆ เช่น ปิโตรเคมี โลหะเช่น เหล็ก หรือหุ้นของพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาของสินค้าขึ้นแรงและทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปแรงมากอย่างพวกยาง หรือสินค้าบริการที่ราคาผันผวนอย่างค่าระวางเรือ เป็นต้น เพราะหุ้นพวกนี้ มักจะมี “Negative Surprise” หรือผลประกอบการลดลงมากอย่างไม่คาดคิด หลังจากที่คนมักจะซื้อหุ้นตอนที่ราคาวิ่งขึ้นมาก ๆ

ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเราถือหุ้นที่มีมูลค่ามาก 6-7 ตัวที่มีมูลค่าประมาณ 70-75% ของพอร์ต โดยที่หุ้น 6-7 ตัวนั้นไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและตัวใหญ่สุดไม่เกิน 40-50% ของพอร์ต บางคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญมากอาจจะถือได้ถึง 10 ตัว แต่นั่นก็จะทำให้ผลตอบแทนที่ดีเลิศอาจจะลดลง โดยที่หุ้น 6-7 ตัวดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้เป็นตัวเดิมทั้งหมด แต่จะมีการเปลี่ยนตัวไปบ้างในแต่ละปีที่อาจจะมีหุ้นเดิมหายไป 1 ตัวและมีหุ้นใหม่เข้ามาเพิ่ม 1 ตัว เป็นต้น

ข้อสี่ เป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนต่อปีของพอร์ตลงทุนก็คือ ประมาณปีละ 10% แบบทบต้นในระยะยาว ซึ่งนี่ก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่ง่ายและไม่ยากเกินไปถ้าเราเลือกตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทน “ดีเลิศ” คือปีละ 10% แบบทบต้น ข้อเตือนใจของผมก็คือ อย่าไปเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในอนาคตระยะยาวอีกอย่างน้อย 10 ปีข้างหน้าจะให้ผลตอบแทนได้ถึง 10% ต่อปี

ว่าที่จริง ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจของไทยโตเร็วเป็น “ดารา” ของโลกนั้น ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นของตลาดก็อยู่ที่ประมาณ 8.5% เท่านั้น ดังนั้น ในยามที่เศรษฐกิจโตช้าลงมาก การลงทุนตลาดหุ้นไทยโดยซื้อหุ้นอิงดัชนีอาจจะได้ผลตอบแทนปีละ 6-7% เท่านั้น

การตั้งเป้าผลตอบแทนที่ไม่สมเหตุผลจะทำให้แผนการลงทุนหรือกลยุทธ์การลงทุนผิดพลาดและเกิดความเสียหายจนทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะลงทุนเพื่อชีวิตไปได้เลย

ข้อห้า เงินทั้งหมดที่เราเก็บออมได้นั้น ต้องเข้าใจว่าจะถูกนำไปลงทุนตลอดเวลา ไม่มีใครเก็บเป็น “เงินสด” ที่เป็นแบ้งค์ ดังนั้น การฝากเงินกับธนาคารก็ถือเป็นการลงทุนเหมือนกัน แต่เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากเพียงไม่เกิน 1-2% ต่อปี ซึ่งถ้าเราฝากมากเกินไป โอกาสที่พอร์ตโดยรวมจะโตขึ้นปีละ 10% จึงเป็นไปได้ยาก

ผมเองคิดว่า การลงทุนระยะยาวนั้น จำเป็นที่จะต้องให้เงินอยู่ในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือหุ้น ผมจึงลงทุนในหุ้นแทบจะ 100% ตลอดเวลา ยกเว้นก็แต่ว่าจะกันเงินสดไว้ซัก 5-6% ในช่วงเวลานี้ที่ยังหาหุ้นลงทุนที่เหมาะสมไม่ได้

ข้อหก การลงทุนระยะยาวนั้น ผมจะมองดูเป็นภาพยาวของบริษัทและภาพยาวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งอยู่ โดยไม่ค่อยสนใจภาพในระยะสั้นที่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องชั่วคราว เดี๋ยวก็จะผ่านไป

ภาพของบริษัทนั้น การเติบโตรายปีหรือรายไตรมาสที่นักลงทุนแทบทุกคนจะสนใจและมักจะมีการ “Take Action” หรือซื้อขาย แต่ผมเองจะสนใจเรื่องของความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมากกว่า ตราบใดที่บริษัทยังแข็งแกร่ง กำไรยังใช้ได้ และราคาหุ้นยังถูก ผมก็มักจะไม่ทำอะไร การนั่งเฉย ๆ นั้น เป็นศิลปะในการลงทุนที่ทำได้ยากกว่าการลงมือทำมาก

สุดท้ายก็คือ การลงทุนระยะยาวนั้น ต้องการความสงบเยือกเย็น การเคลื่อนไหวที่ช้า ไม่ต้องการความตื่นเต้นกับเหตุการณ์รายวันในตลาดหุ้น ดังนั้น ผมจึงมักจะตัดกิจกรรมที่ไม่ใช่เรื่องหลักของการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายระยะยาว แม้แต่การจองหรือเล่นหุ้น IPO ที่เป็น “Sure Bet” หรือ “ของตาย” สำหรับหลายคน ผมก็ไม่สนใจเล่น

ไม่ต้องพูดถึงหุ้นที่กำลังถูก “Corner” ที่ราคากำลัง “วิ่งทะลุฟ้า” และผมก็เชื่อว่าถ้าเข้าไปเล่นก็ได้กำไรแน่ ก็จะหลีกเลี่ยง ผมคิดว่า ทำอย่างที่วางแผนระยะยาวอย่างมั่นคงก็พอแล้ว อย่าวอกแวกไปกับเทรนด์หรือสถานการณ์ชั่วคราวที่ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเราจะดีกว่า

13 พ.ค 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
 
อ้างอิง https://www.settrade.com/th/news-and-articles/articles/258-nivate-long-term-investment
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่