สภาพอากาศของ"ฤดูหนาว"ที่กำลังจะมาถึง

ห่างหายกันไปนาน  และแล้วเทศกาลแห่งการลุ้นอากาศหนาวก็มาถึงอีกครั้ง ท่านที่สิงอยู่ในกระทู้อากาศบ่อยๆน่าจะพอคุ้นหน้าคุ้นตากระทู้ของผมอยู่บ้าง เพราะเสนอหน้ามาเขียนวิเคราะห์อากาศมันให้เสียทุกปีจนมีบางท่านถึงกับส่งข้อความถามถึงว่าเมื่อไหร่จะมาฝอยเรื่องอากาศหนาวอย่างทุกปี(วะ)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา และซ้ำกับที่เคยเขียนไปแล้ว พวกนิยามแต่ละปัจจัยโดยละเอียดกว่าสามารถไปหาอ่านได้จากกระทู้ที่แนบด้านบน spoil ได้เลยครับ

ส่วนฤดูหนาวปีนี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไรกันมาลองไล่ดูแต่ละปัจจัยกันครับ

เช่นเดิม เริ่มด้วยปัจจัยกว้างๆอย่าง ค่า ENSO หรือ ตัวบอกความเป็นเอลนิโญ(ค่าบวกเกิน 0.5) และลานีญา(ค่าลบเกิน 0.5) กันก่อน

จากภาพบน จะเห็นได้ว่าเราเข้าสู่สภาวะเอลนีโญเต็มตัวตั้งแต่ราวกลางปี ขณะนี้กำลังของมันยังอยู่ที่ระดับปานกลาง แต่ก็ตามวัฏจักรทั่วไปของเอลนีโญที่มักจะไปพีคช่วงกลางฤดูหนาว คาดว่าปีนี้ค่า ENSO น่าจะไปสุดๆอยู่แถว 1.5+-0.25 นั่นแหละครับ

และแน่นอนเมื่อพูดถึง ENSO ก็ต้องพูดถึง PDO ญาติใกล้เคียงของมันซึ่งปัจจุบัน ด้วยสภาวะลมเหนือผิวน้ำทะเลที่กำลังเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ค่า PDO กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าน่าจะเข้าสู่ โซนบวกภายในเดือนหน้า และคงสภาวะบวกอย่างนั้นตลอดฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้

จะเห็นได้ชัดเลยว่าดัชนี PDO กำลังพุ่งปรี๊ดตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือก็คือทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ทะเลกำลังเย็นตัวลง ในขณะเดียวกันทางชายฝั่งอเมริกาเหนือกำลีงร้อนขึ้นนั่นเองครับ

สภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลทั่วโลกที่ต่างจากค่าเฉลี่ย  กลางมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงอเมริกาค่อนข้างร้อนกว่าปกติ (เอลนิโญ) ส่วนทางตะวันออกของเกาะญี่ปุ่นเริ่มมีบริเวณที่เย็นกว่าปกติโผล่ขึ้นมาให้เห็นบ้าง อนึ่ง จะเห็นได้ว่าปีนี้น้ำทะเลค่อนข้างร้อนกว่าปกติโดยทั่วกันอย่างผิดปรกติ ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงสาเหตุกันอยู่ ?

ซึ่งด้วยผลของปัจจัยใหญ่ๆที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น(ENSO+PDO) หากลองไปเทียบสถิติฤดูหนาวที่ผ่านมาจะพบว่า หนาวนี้น่าจะมีลมหนาวแผ่ลงมาน้อยกว่าปกตินั่นเองครับ (โฮ)

จากภาพบน หากเป็นปีที่ ENSO + และ PDO + (รูปซ้าย) อย่างเช่นฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยสถิติอีสานและภาคกลางจะมีลมหนาวลงมาน้อยกว่าปกติ ส่วนภาคเหนือ ยังมีทางหนาวได้อีกทางคือจากอินเดีย ทำให้ไม่แน่เสมอไปว่าจะไม่ค่อยหนาว อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์เชิงสถิติของ ENSO และ PDO นี้ก็ไม่ได้ถึงกับสอดคล้อง (Correlate) มากมายนัก หากเทียบกับบริเวณเกาหลี และญี่ปุ่น (โดยเฉพาะเกาหลี) ที่แทบจะแน่นอนเลยว่าปีนี้น่าจะหนาวน้อย
คราวนี้ลองมาดูปัจจัยระดับท้องถื่นกันบ้าง 
ขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลแถวทิศใต้เกาะญี่ปุ่นกำลังเริ่มเย็นตัวลงกว่าปกติ ซึ่งก็เป็นผลมาจากพายุเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน รวมไปถึงทิศทางของความกดอากาศสูงที่ได้เริ่มแผ่มายังญี่ปุ่นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนี้จนถึงช่วงฤดูหนาวจริงๆอย่างเดือน ธันวาคม อุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดามกันต่อไป

ดังที่เคยเขียนไปก่อนหน้าในกระทู้เก่าๆ หากจะให้ความกดอากาศสูงสามารถแผ่ลงมาได้ลึก และมีลมร้อนจากแปซิฟิกตัดน้อย ทะเลบริเวณทิศใต้เกาะญี่ปุ่นไปยันทะเลจีนใต้ควรมีอุณหภูมิต่ำ ขณะนี้ดูเหมือนว่าทะเลกำลังค่อยๆเย็นตัวลงตามลำดับ ส่วนเมื่อถึงเวลาช่วงความกดอากาศสูงแรงๆแผ่มาจริงๆเดือนธันวาฯ และมกราฯ ทะเลจะเย็นหรือไม่ยังคงไม่แน่ชัด

อีกปัจจัยที่น่าสนใจที่ปีนี้ต่างจากปีที่แล้วก็คือ ค่า IOD หรือ Indian Ocean Dipole ที่วัดเอาค่าความต่างของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียเทียบกับฝั่งตะวันตก หากฝั่งตะวันออกน้ำทะเลเย็นกว่า ค่าเป็นบวก กลับกันถ้าฝั่งตะวันออกร้อนกว่า ค่าก็จะเป็นลบ
 
ผลของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่แตกต่างกันทำให้เกิดลักษณะการยก และจมตัวของอากาศที่ต่างกัน

หลังจากค่า IOD ติดลบมา 3 ปี ปัจจุบันค่ากำลังเป็นบวกแรงมาก (ว่ากันว่าเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกับ ENSO ที่มีค่าบวก) 

แล้วคาดว่าจะส่งผลอย่างไร ?



ในลักษณะทำนองเดียวกับเฟสของ MJO (ต่างกันที่ MJO เป็นวงจรสั้นระดับสัปดาห์ไม่ใช่ฤดูกาล) กาลที่มีอากาศจมตัวมากกว่าปกติแถวคาบสมุทรมลายู จึงคล้ายกับลักษณะของ MJO เฟสที่  7 8 และ 1 ซึ่งว่ากันง่ายๆลมหนาวจะไหลมาหาทางฝั่งบ้านเราน้อย และนี่จึงเป็นสาเหตุหลักๆที่ปีเอลนีโญ (ENSO +) -> IOD + -> อากาศหนาวจึงมีความน่าจะเป็นที่จะไหลมาทางบ้านเราน้อยลง (โฮ)

ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้ดูเหมือนว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่คงต้องลุ้นลมหนาวกันตัวโก่งอีกปีนั่นเองครับ

ผลการคำนวณของโมเดลโดยเฉลี่ยถึงแม้จะรู้สึกว่าแอบ Hot Bias ไปมาก แต่ก็ค่อนข้างลงความเห็นตรงกันว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูหนาวนี้น่าจะร้อนกว่าปกติ

สรุป
1.ปีนี้ภาคกลางและภาคอีสานน่าจะหนาวยากกว่าปกติ (หนาวน้อยกว่าปีที่แล้ว รวมไปถึง 2 3 ปีก่อนด้วย) 
2.ภาคเหนือหากลมบนต่างๆเป็นใจ ลมตะวันตกจากอินเดียยังคงสามารถพามาหาได้อยู่ ทำให้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะหนาว หรือร้อนกว่าปกติโดยเฉลี่ย คงต้องตามดูช่วงใกล้ๆฤดุหนาวกว่านี้

อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้มันชวนหดหู่ และไม่น่าเหลืออะไรให้ลุ้นจนเกินไปเสียทั้งหมด ยังไงเสียหากปีนี้มีพายุเข้าฟิลิปปินส์แรงๆ แล้วตรงกับจังหวพที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมา ภาคอีสาน ภาคกลางรวมถึงกทม.ก็มีสิทธิ์หนาวได้อยู่ครับ ซึ่งของแบบนี้มีแต่จะต้องตามในช่วงใกล้ๆเท่านั้น ก็หวังว่าจะมีรอบที่หนาวได้ยังงั้นบ้างนะครับปีนี้ 

ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ช่วงต้นหน้าหนาวอย่างต้นเดือนธันวาฯ ภาพโดยรวมก็น่าจะชัดแล้วล่ะครับว่าหนาวนี้น่าจะเป็นแบบไหน จะพยายามอัพเดตให้นะครับ

ปล.1 เป็นที่น่าสนใจว่าปีที่หนาวที่สุดอย่างปี 2482 สภาพทะเลท้องถิ่น และ ENSO ก็ละม้ายคล้ายกับปีนี้มาก เพราะเหตุใดลมหนาวจึงมาได้แรงและต่อเนื่องขนาดนั้นก็เป็นเรื่องน่าสนใจ หรืออย่างเร็วๆนี้ในปี 2530 ก็เช่นเดียวกัน เป็นปีเอลนิโญที่ค่อนข้างแรง แต่ลมหนาวก็มาได้ต่อเนื่อง และแรงอย่างน่าประหลาดใจอย่างสุดๆเช่นเดียวกัน เหตุผลที่ควบคุมให้ความกดอากาศสูงสามารถมาได้แรง หรือต่อเนื่องอย่างแท้จริงนั้นก็ยังคงมีปัจจัยยิบย่อย และมีความไม่แน่นอนสูงอยู่

สถิติอุณหภูมิที่เชียงรายปี 2530 เดือนธันวาคมค่อนข้างประหลาดมาก เพราะทั้งๆที่เป็นปีเอลนีโญรุนแรง แต่ลมหนาวก็แผ่มาต่อเนื่องและแรงอย่างผิดปกติสุดๆ ค่าเฉลี่ยความกดอากาศทั้งเดือนสูงถึง 1018.1 hPa เลยทีเดียว สาเหตุอะไรที่เป็นเช่นนั้นก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ ? 


ผลของน้ำที่ถูกพ่นขึ้นไปพร้อมกับการระเบิดภูเขาไฟตองกาเมื่อต้นปีที่แล้วก็ยังคงอยู่ ลึกๆแล้วเชื่อว่าน่าจะทำให้ลักษณะความกดอากาศสูงในปีนี้มีความ Dynamic สูงไม่ต่างกับปีที่แล้วได้อยู่ ก็เป็นอีก X factor ที่น่าสนใจว่าจะทำให้ลมหนาวต้นทางปีนี้ต่างจากปีเอลนีโญปกติได้หรือไม่ ?
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่