อากาศฤดูหนาวปีนี้

และแล้วช่วงปลายฝนต้นหนาวก็ได้มาถึงอีกครั้ง แม้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนจะลดลงบ้างแล้ว แต่ลมหนาวแรกของปีก็ยังคงมาไม่ถึง ก็ยังดีที่อากาศโดยเฉลี่ยของประเทศไม่ได้ร้อนเท่าไหร่นัก (ปัจจัยหลักๆก็มาจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่มาเยือนสัปดาห์ที่แล้วนั่นเอง) 

ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างเป็นไปตามค่าเฉลี่ย คือ เริ่มลดลงโดยทั่วกันทั้งประเทศ จะมีก็แต่ที่ภาคเหนือตอนบนสุดแถวเชียงราย ที่ต้นสัปดาห์เจอฝนห่าใหญ่เข้าไป (ผลของลมตะวันตกเฉียงใต้ และการแผ่ลงมาของความกดอาศสูงระลอกแรก)
ดังที่เขียนไปก่อนหน้า อากาศสัปดาห์ที่ผ่านมาอุณหภูมิค่อนข้างเป็นไปตามค่าเฉลี่ย โดยที่บริเวณภาคอีสานเนื่องจากได้รับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังอ่อนที่ดูดลมเย็นจากจีนมาได้ จึงทำให้อุณหภูมิอาจจะค่อนข้างเย็นกว่าปกติบ้าง ในขณะที่ภาคเหนือตอนบนเนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงส่งผลกระทบอยู่เพราะงั้นหากความกดอากาศสูงจากจีนยังแผ่อิทธิพลลงมาไม่ถึง อากาศก็ย่อมต้องร้อนกว่าปกติเป็นธรรมดา (ฝนไม่ตก ฟ้ามีเมฆคลุมแต่ร้อนอ้าวๆอย่างหน้าฝน)

ย้อนกลับไปรีวิวอากาศเดือนนี้กันพอสมควร ผมจะมาลองๆคาดการณ์ว่าปีนี้อากาศฤดูหนาวจะเป็นอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลของปรากฏการณ์ El Nino (Nino 3.4 >0.5) และ La Nina (Nino 3.4 < -0.5) ญาติของมันส่งผลต่อสภาวะอากาศ โดยหากเป็น El Nino โลกก็จะร้อนขึ้นกว่าปรกติโดยเฉลี่ย (La Nina จะให้ผลตรงกันข้ามคือเย็นกว่าปรกติ)
จากกราฟบนจะเห็นได้ชัดว่า เส้นสีแดงมันนำสีฟ้าอยู่ประมาณ 2-3 เดือน หรือก็คือ อุณหภูมิโลกมันตาม ปรากฏการณ์ El Nino และ La Nina นั่นเอง 
ซึ่งปรากฏว่าในขณะนี้ค่า Nino 3.4 ลดลงต่ำกว่า -0.5 มาตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา (เข้าเกณฑ์ La Nina) และมีแนวโน้มลงไปต่ำกว่า -1.0 หรือดีไม่ดี -1.5  ในช่วงกลางฤดูหนาว
 
ขณะนี้กลางแปซิฟิกกำลังเย็นลงอย่างรวดเร็ว
โมเดลทุกๆตัวคาดการณ์สอดคล้องตรงกันคือ กลางฤดูหนาวนี้ La Nina น่าจะกำลังแรงมาก

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าฤดูหนาวปีนี้น่าจะมีอากาศเย็นกว่าปกติ

นอกจากนั้น ขณะนี้ทางฝั่งตันออกเฉียงเหนือของแปซิฟิกกำลังเย็นกว่าปกติมาก ผิดกับบริเวณด้านทิศเหนือตอนกลางของแปซิฟิกที่กำลังร้อนกว่าปกติมากเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ค่าของ PDO index (The Pacific Decadal Oscillation index) มีค่าต่ำมาก ซึ่งถือว่าลงต่ำมากในรอบหลายปี (ครั้งสุดท้ายก็เมื่อปี 2013 ปีที่หนาวๆนั่นแหละ) แล้วเจ้าค่า PDO ที่ว่านี้จะส่งผลอย่างไรน่ะหรือ ?

มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า หาก PDO และ ENSO มัน in phase กันหรือ ก็คือ มีค่า ลบก็ลบเหมือนกัน บวกก็บวกเหมือนๆกัน จะสามารถนำไปทำนายอุณหภูมิช่วงฤดูหนาวได้ ซึ่งปรากฏว่าหากมัน ลบเหมือนๆกัน จะมีอากาศสูงมากๆ ที่ฤดูหนาวความกดอากาศสูงจะมาเยือนได้บ่อยครั้ง และอุณหภูมิต้นทางเย็นกว่าปกติ (เฮ)

ภาพบนแสดงให้เห็นลักษณะโดยทั่วไปของค่า PDO ซึ่งคำนวณจากค่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่ละติจูด 20 N ขึ้นไป โดย
ขณะนี้กำลังอยู่ใน Cold Phase กำลังค่อนข้างแรงพอดี

รูปบนแสดงถึงอุณหภูมิที่ต่างจากปรกติในช่วงฤดูหนาวของช่วงที่ PDO เป็น ลบ และ ตรงกับ La Nina (สียิ่งฟ้าคือหนาวกว่าปรกติมาก) จะสังเกตได้ว่าอากาศโดยเฉลี่ยทั่วเอเชียตลอดฤดูหนาวจะค่อนข้างหนาวเย็นกว่าปรกติ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลจะสังเกตเห็นว่าบริเวณมองโกเลียต้นกำเนิดความเย็นปีนี้จะหนาวเย็นมากกว่าปกติแน่นอน เพราะ ค่าความเชื่อมั่นที่มาจากความสัมพันธ์ของข้อมูลค่อนข้างที่จะสอดคล้องกัน เกิน 90% (รวมถึงประเทศไทยตอนบนและภาคอีสานด้วย ) เพราะงั้นปีนี้ความน่าจะเป็นที่อีสานและภาคเหนือค่อนข้างจะหนาวกว่าปรกติจึงมีอยู่สูงมากๆ (เฮครั้งที่ 2)

อย่างไรก็ตามหากเลื่อนลงมาถึงภาคกลางตอนล่าง รวมไปถึงกทม. ยังคงมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อลมหนาว นั่นก็คืออุณหภูมิน้ำทะเลแปซิฟิกตะวันตกนั่นเอง ซึ่งหากมีค่าสูงก็ย่อมมีโอกาสสูงที่ลมร้อนจะเข้ามาตัดกับลมหนาวทำให้ไม่หนาวลงมากเท่าไหร่
โดยขณะนี้ ทางใต้ญี่ปุ่นไปจนถึงเหนือฟิลิปปินส์อุณหภูมิค่อนข้างต่ำกว่าปรกติ (พายุปีนี้ชอบไปกองกันอยู่แถวนั้น) แต่ทางฝั่งตะวันออกของฟิลิปปินส์ยังคงร้อนอยู่ สังเกตได้จากภาพถัดไปด้านล่าง
ทะเลทางใต้ญี่ปุ่นค่อนข้างเย็นกว่าปกติ ในขณะที่ด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ยังค่อนข้างร้อนอยู่ แพทเทิร์นของ ลมจากแปซิฟิกยังคงไม่ชัดเจนนัก
แล้วแพทเทิร์นอย่างนี้จะเป็นอย่างไรน่ะหรือ  ?
มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุบริเวณตะวันออกฟิลิปปินส์ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมวลอากาศเย็นจากไซบีเรีย (continental high pressure) มาปะทะกับความกดอากาศสูงที่กลางแปซิฟิกตอนบน (maritime high pressure) ซึ่งจะทำให้เกิดพายุเขตอบอุ่น (subtropical cyclone) หรือไม่ก็ front บริเวณเกาะ โอกินาวะ หรือ ด้านตะวันออกของญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ แล้วมันหมายความว่าอะไร ? 
ลักษณะอากาศจะออกได้สองหน้าคือ
1 ถ้าเกิดพายุเขตร้อน (tropical cylcone) มีความเป็นไปได้ที่มันจะมีกำลังแรงและพุ่งเข้ามาถึงไทยได้หากความกดอากาศสูงไม่แรงพอ ก็จะหนาวได้ไม่นาน แต่หากจังหวะได้ ก็ยิ่งเป็นตัวพาความหนาวให้หนาวได้มากกว่าปกติด้วยเช่นกัน
2 ถ้าหากเกิดพายุเขตอบอุ่น (subtropical cyclone) หรือมีแนวปะทะะอากาศแทน ลมร้อนจากแปซิฟิกจะโดนกันไว้ทั้งหมด เป็นเช่นนั้นแล้วได้หนาวยาวๆ แน่นอน 
โดยโอกาสของทั้งสองหน้านี้ก็ยังคงคลุมเครืออยู่ (พิจารณาจากข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเล) จะตอบได้แน่ชัดคงต้องรอให้ แพทเทิร์นอุณหภูมิน้ำทะเลมันชัดกว่านี้ ทำให้ต้องตามดูกันต่อๆไปตลอดช่วงหน้าหนาวนี้ หรือไม่ก็ช่วงกลางเดือนธันวาคมน่าจะเห็นภาพกันชัดมากกว่านี้

สรุปก็คือ 

ปีนี้มีโอกาสสูงมากที่จะหนาวกว่าปกติ และเป็นไปได้สูงมากที่จะหนาวพอๆกับปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย (โดยเฉพาะภาคเหนือกับภาคอีสานที่ผลของลมร้อนแปซิฟิกค่อนข้างน้อย) 
ส่วนชาวภาคกลางตอนล่างก็คงต้องลุ้นกันนิดนึงว่าจะออกหน้าไหน โอกาสตอนนี้ยังก้ำๆกึ่งๆอยู่คงต้องตามดูกันยาวๆล่ะครับ


อนึ่ง จากการคาดการณ์ระยะไกลของหลายๆ Model มีโอกาสสูงมากที่ความกดอากาศสูงต้นทางจากไซบีเรียจะเริ่มสะสมตัวภายในต้นสัปดาห์หน้า (คาดว่าน่าจะไปถึงระดับเกิน 1050 hPa ได้) ซึ่งหากลักษณะทุกอย่างเป็นใจ เราน่าจะได้รับลมหนาวระลอกแรกของปีกันประมาณไม่เกินวันที่ 10 พ.ย.นี้ ก็หวังว่าจะมาได้จริงๆนะครับ 

ตอนนี้หลายโมเดลค่อนข้างลงความเห็นตรงกันว่าความกดอากาศสูงที่ไซบีเรียน่าจะมีความแรงเกิน 1050 hPa ภายในวันที่ 6 พ.ย. เพราะงั้นไม่เกินวันที่ 10 ก็น่าจะแผ่มาถึงบ้านเรา จะหนาวขนาดไหนยังคงไม่แน่ชัด

ปิดท้ายด้วยการคาดการอุณหภูมิระยะกลางของ เชียงราย (เหนือ) ขอนแก่น (อีสาน) และ กทม. ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้พอสมควรที่จะหนาวกันในสัปดาห์ที่สองของเดือนหน้า
จากผลการคำนวณของ Model หลายๆครั้ง มีความเป็นไปได้สูงว่าหลังวันที่ 10 เป็นต้นไปจะหนาว อนึ่งจะสังเกตได้ว่า่ชวงของความน่าจะเป็นยังค่อนข้างกว้างมากอยู่ ซึ่งก็มาจากลักษณะสภาวะแวดล้อมที่ยังคงคาดการณ์ได้ยาก (กทม.นี่ต้องลุ้นนิดนึงถ้าอยากให้เย็นกว่า 20 C) เพราะงั้นคงต้องติดตามกันต่อๆไปครับ

ซึ่งหากว่าปีนี้หนาวกันภายในวันที่ 10 พ.ย. (อุณหภูมิตอนเช้าต่ำกว่า 20 C ) เชียงใหม่ก็จะหนาวเร็วสุดในรอบ หลายสิบปี (ครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปปี 2008 โน่น) ส่วน กทม. ก็อย่างน้อยๆก็ตั้งแต่เคยมีการจดบันทึกมาที่สถานีดอนเมืองเลย (เพราะงั้นหนาวรอบนี้ กทม.น่าจะยากหน่อย แต่ถ้าหนาวได้รอบนี้เลยก็เซอร์ไพรส์สุดๆเช่นกัน) 
คงต้องมาตามๆกันต่อไปครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่