JJNY : เศรษฐกิจแย่ขายของไม่ได้│พีมูฟ-เครือข่ายจี้รัฐบาล│10จว.ยังท่วมหนัก│อินโดนีเซียเปิดตัวรถไฟหัวกระสุนชาติแรกในอาเซียน

แม่ค้าอุทัยธานีบ่นอุบ เศรษฐกิจแย่ขายของไม่ได้ ของสดแพง ทำคนซื้อน้อยลงทุกวัน
https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/368523

แม่ค้าอุทัยธานี บ่นอุบเศรษฐกิจแย่ ขายของไม่ดี แทบจะไม่มีคนเดินตลาด วอนรัฐบาลเร่งแก้ไขให้ฟื้นขึ้นโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวสำรวจตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี 2 ขายของสดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไก่ และผักต่างๆ  พักหลังมีบรรดาแม่ค้าบ่นตามกัน บางคนโพสต์ลงสื่อโซเชียลถึงความเงียบของตลาด จึงได้สอบถามแม่ค้า แต่ละคนก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่ข้าวของแพงปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็มีคนมาจับจ่ายซื้อของไปทำกับข้าวกันน้อยลงทุกวัน หันไปซื้อกับข้าวถุงสำเร็จรูปกันแทนเนื่องจากมีราคาถูกกว่าทำเอง ทั้งเครื่องปรุง เนื้อสัตว์ รวมถึงผักสด ซึ่งแม่ค้าก็ขายเอากำไรตามราคาต้นทุนที่ตามมาไม่กล้าที่จะบวกเพิ่มขึ้น หากจะขึ้นราคามากเกินไปก็ไม่มีคนเข้ามาซื้อ และบรรยากาศก็เป็นแบบนี้มายาวนานแล้ว 

แม่ค้าต่างวอนให้ทางรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาข้าวของที่แพงขึ้นให้ถูกลงกว่านี้ ซึ่งปัจจัยทำให้ข้าวของแพงนั้น ปัญหาอันดับหนึ่งคือ น้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าจะปรับลดราคาน้ำมันแล้ว แต่ก็ยังถือว่าราคายังแพงอยู่ ซึ่งราคาน้ำมันเป็นต้นทุนค่าขนส่ง และอยากให้ควบคุมราคาข้าวของที่แพงขึ้น จนคนที่มาซื้อของนั้นบ่นกับแม่ค้าว่า ต้องซื้อของไปแช่ตู้เย็นเพื่อไว้ทำกับข้าวในครอบครัวให้น้อยลง เพราะต้องนำเงินไปใช้อย่างอื่น หากรัฐบาลไม่เข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้ก็จะยิ่งแย่ลงกว่าเดิมเข้าไปอีก


  
พีมูฟ-เครือข่าย จี้รัฐบาลให้ ‘รัฐสวัสดิการ-ที่อยู่อาศัย’แทนแจกเงินดิจิทัล ดันแก้รธน.
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7894751

พีมูฟ-เครือข่าย เคลื่อนขบวน จี้รัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำสังคม ให้ ‘รัฐสวัสดิการ-ที่อยู่อาศัย’ ชี้เงินดิจิทัลวอลเล็ต แก้ปัญหารายได้ชั่วคราว ลั่นต้องการ  รธน.ใหม่ทั้งฉบับ จากสสร.
 
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่าย อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เริ่มตั้งขบวนรณรงค์ ที่ลานคนเมือง กทม. ส่งผู้แทนร่วมประชุมกับผู้ว่าฯ กทม. เรื่องความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานคร 
 
ก่อนเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ประกาศข้อเสนอประชาชนในการ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จากนั้นเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปยังกระทรวงคมนาคม จัดกิจกรรมรับมอบสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. และกล่าวถึงนโยบายการใช้ที่ดินรฟท. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม
 
นอกจากนี้ยังมี ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงการตั้งกลไกการทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่อง การจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อบริหารที่ดิน และดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง จากนั้นเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปยังองค์การสหประชาชาติ (UN) ทำกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกร่วมกับผู้แทนของ UN HABITAT
 
จากนั้นเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ด้านประตู 5 ถนนราชดำเนิน เพื่อประชุมร่วมกับผู้แทนรัฐบาล นำเสนอแนวทางและนโยบายด้านที่อยู่อาศัยจากภาคประชาชน และให้ผู้แทนรัฐบาลแถลงนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยต่อประชาชนที่บริเวณหน้าขบวนรณรงค์
 
พีมูฟและเครือข่าย ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกตั้งต้องการเปลี่ยนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษ์ กองทัพและทุนใหญ่ แต่ประชาชนได้รัฐบาลเพื่อไทย จากการสมยอมกับฝ่ายอนุรักษ์
 
เงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียงการแก้ปัญหารายได้เพียงชั่วคราว เราคิดว่าถ้ามีที่อยู่อาศัย มีรัฐสวัสดิการน่าจะทำให้เรามีชีวิตที่มั่นคง จึงขอถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯว่า คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ คนส่วนใหญ่มีสิทธิไหมครับ เราต้องการสิทธิเสรีภาพ เราต้องการความยุติธรรม ต้องการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเป็นคนที่เท่ากัน เราไม่ต้องการคุกที่ขังแต่คนจนเท่านั้น
 
จึงขอคัดค้านเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งทำให้คนรวยกระจุกคนจนกระจาย คนส่วนใหญ่ 99% ไม่สามารถเงยหน้าอาบปากได้ ต้องยอมจำนนในโชคชะตา ส่งต่อมรดกความยากจนให้ลูกหลาน ในขณะที่คนรวยส่งต่อความร่ำรวยและความมีอภิสิทธิชนให้ลูกหลาน เราจึงต้องการให้รัฐบาลมีการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
 
เราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องการรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล ค่าแรงที่เป็นธรรม หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ บำนาญประชาชน เงินคนพิการ เงินอุดหนุนเด็กในครรภ์และเด็กแรกเกิดจนเติบโต สวัสดิการถ้วนหน้าไม่ใช่ระบบสงเคราะห์
 

 
อ่วม! กาฬสินธุ์-อุบลฯ ระดับน้ำยังเพิ่ม 10 จว.ยังท่วมหนัก กระทบ 20,590 ครัวเรือน
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7894644

ปภ.รายงาน 10 จังหวัด น้ำยังท่วม กระทบ 20,590 ครัวเรือน กาฬสินธุ์-อุบลฯ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประสานพื้นที่เร่งดูแลช่วยเหลือปชช.อย่างเต็มกำลัง
 
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.66 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)  รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.- 2 ต.ค.66 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด รวม 95 อำเภอ 322 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,423 ครัวเรือน 

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด 58 อำเภอ 232 ตำบล 1,037 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,590 ครัวเรือน ได้แก่ ลำพูน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ บ้านโฮ่งและลี้ รวม 6 ตำบล 36 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน
 
เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อมก๋อย ฮอด แม่ออน จอมทอง เมืองเชียงใหม่ แม่แจ่ม แม่ริม สันป่าตอง และเชียงดาว รวม 14 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน
 
ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เถิน เกาะคา สบปราบ เสริมงาม และแม่พริก รวม 21 ตำบล 97 หมู่บ้าน แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอได้แก่ ลอง วังชิ้น เด่นชัย เมืองแพร่ และสูงเม่น รวม 40 ตำบล 198 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 837 ครัวเรือน
 
ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองตาก สามเงา พบพระ แม่สอด และบ้านตาก รวม 16 ตำบล 81 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,654 ครัวเรือน สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง กงไกรลาศทุ่งเสลี่ยม ศรีนคร  คีรีมาศ บ้านด่านลานหอย  และเมืองสุโขทัย รวม 38 ตำบล 138 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 1,258 ครัวเรือน
กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี และสหัสขันธ์ รวม 34 ตำบล 149 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,573 ครัวเรือน ยโสธร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ ป่าติ้ว เมืองยโสธร และค้อวัง รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน
 
อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ เดชอุดม ตระการพืชผล เขื่องใน เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม และดอนมดแดง รวม 57 ตำบล 298 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,733 ครัวเรือน ปราจีนบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ ประจันตคาม และกบินทร์บุรี รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 95 ครัวเรือน
 
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จ.กาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง
 
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่