JJNY : มอง ตร.-จนท.รัฐปกป้องผู้มีอิทธิพล│หมออ๋องซัดคนแพ้เลือกตั้ง││ความช่วยเหลือเริ่มหลั่งไหลเข้าลิเบีย

นิด้าโพล ชี้กว่า 59% มอง ตร.-จนท.รัฐปกป้องผู้มีอิทธิพล ถ้า ปชช.มีปัญหา ไม่ได้รับความยุติธรรม
https://www.matichon.co.th/politics/news_4184202

ภาพโดย Republica จาก Pixabay
 
นิด้าโพล สะท้อน ปชช. 38.93% ไม่มั่นใจตำรวจ-เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ความเป็นธรรมหากขัดแย้งผู้มีอิทธิพล กว่า 59% เชื่อสุดตัว จนท.คอยคุ้มครองมาเฟีย

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ” สำรวจระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0
 
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงกลุ่มของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.54 ระบุว่า ในเขตพื้นที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้มีอิทธิพล รองลงมา ร้อยละ 26.34 ระบุว่า นักการเมืองท้องถิ่น ร้อยละ 15.95 ระบุว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 15.80 ระบุว่า ตำรวจ ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 12.14 ระบุว่า พ่อค้า นักธุรกิจ นายทุนสีเทา ร้อยละ 6.03 ระบุว่า พ่อค้า นักธุรกิจ นายทุนทั่วไป ร้อยละ 5.95 ระบุว่า นักการเมืองระดับชาติ ร้อยละ 5.04 ระบุว่า นักเลงหัวไม้ มือปืน ร้อยละ 4.81 ระบุว่า ทหาร ร้อยละ 2.44 ระบุว่า ประธาน กรรมการชุมชน ร้อยละ 0.76 ระบุว่า สื่อมวลชน คนวงการบันเทิง และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความกล้าของประชาชนที่จะมีปัญหา หรือมีข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.30 ระบุว่า ไม่กล้าเลย รองลงมา ร้อยละ 16.34 ระบุว่า ไม่ค่อยกล้า ร้อยละ 12.75 ระบุว่า กล้าอยู่แล้ว ร้อยละ 9.08 ระบุว่า ค่อนข้างกล้า และร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองและให้ความยุติธรรมของตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อประชาชนมีปัญหาหรือมีข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.93 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมา ร้อยละ 37.10 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 13.51 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 9.92 ระบุว่า มั่นใจมาก และร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนทำตัวเป็นลูกน้อง ผู้ปกป้องคุ้มครองผู้มีอิทธิพล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.77 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 26.49 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 8.32 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 4.35 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ



หมออ๋อง ซัด คนแพ้เลือกตั้ง กล่าวหาไร้ศักดิ์ศรี ลั่นทำงานต่อ จนกว่าสภาโปร่งใส
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7870027

ปดิพัทธ์ ฟาดเดือด คนแพ้เลือกตั้ง กล่าวหาไร้ศักดิ์ศรี ปมผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภาฯ ลั่น ลุยทำงานต่อ จนกว่าสภาฯ จะโปร่งใส ยันไม่เสียสมาธิ
 
วันที่ 17 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกล เตรียมแผนขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ออกจากพรรค ไปอยู่พรรคเป็นธรรม (ปธ.) หลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้พรรครับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมๆ กับไม่ต้องเสียตำแหน่งรองประธานสภาฯ ไปด้วย
 
ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ยืนยันว่าพรรคเป็นธรรมพร้อมรับนายปดิพัทธ์ ทั้งนี้ ต้องรอมติกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคก้าวไกลชุดใหม่ ซึ่งจะมีการประชุมวิสามัญเพื่อเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ในวันที่ 23 ก.ย.นี้
 
ทั้งนี้ จากกระแสข่าวดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์ โดย นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ จากพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 

ข่าวพรรคเป็นธรรม ปลายทางฝากเลี้ยง หมออ๋อง ปดิพัทธ์ เพื่อรักษาเก้าอี้ รองประธานสภาฯคนที่1 พ่วงคว้าผู้นำฝ่ายค้านด้วย ถ้าเป็นจริงตามข่าว ถือว่าเหลี่ยมทุกดอก แล้วบอกตรงไปตรงมา น่าเป็นห่วง
 
นายพร้อมพงษ์ ระบุอีกว่า 

“ก……การละคร ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง จะใช้เทคนิค ทางการเมือง เพื่อรักษาอำนาจ พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ธาตุแท้น่าจะอุดมการณ์กำมะลอ”
 
นายพร้อมพงษ์ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า “น่าจะเป็น ศรีธนญชัยยุคใหม่ คนอื่นทำถูกด้อยค่า พวกตัวเองทำ บอกดูดี เป็นเทคนิค ทำได้ทุกวิธี เพื่อรักษาอำนาจแล้วพูดสวยหรู ไม่ยึดติดอำนาจ ไหนว่าการเมืองใหม่ ไม่แปลกใจ รถไฟฟ้า20บาทตลอดสายไม่เอา จะเอารถแห่ เวรกรรมหลักคิดจริงๆ
 
อย่างไรก็ดี ล่าสุดกลางดึกวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา นายปดิพัทธ์ ทวีตข้อความผ่านทาง X (ทวิตเตอร์) “@ongpadipat” ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า 
 
อะไรที่ทำให้บรรดาคนที่แพ้เลือกตั้ง ตระบัดสัตย์ ทรยศประชาชน ดาหน้ากันออกมาว่าผมไม่มีศักดิ์ศรีหรอครับ ผมไม่เสียสมาธิครับ ทำงานต่อ จนกว่าสภาจะโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน ตามที่ได้สัญญาไว้ครับ”
 
https://twitter.com/ongpadipat/status/1703053721352204781


 
แบ่งจ่ายเงินเดือน ขรก.ไม่ส่งผลบวกศก.‘TDRI’ มองลูกหนี้นอกระบบได้ประโยชน์
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1088665

นักเศรษฐศาสตร์TDRI ชี้จ่ายเงินเดือน ขรก.2 รอบไม่ช่วยเศรษฐกิจมาก แต่ช่วยคนเป็นหนี้นอกระบบ ที่ต้องจ่ายรายวัน รายสัปดาห์ แนะรัฐบาลมุ่งแก้ไขหนี้มากกว่า หาทางบริหารสภาพคล่อง ชี้แก้หนี้ต้องเฉพาะกลุ่มไม่หว่านแห
 
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีแนวคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละครั้งเป็นเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการได้มีเงินใช้จ่ายระหว่างเดือน โดยได้เป็นข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติมโดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ก่อนที่จะมีการออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้เป็นทางเลือกให้ข้าราชการเลือกได้ว่าจะรับเงินเดือนครั้งเดียวหรือ 2 ครั้งใน 1 เดือน
 
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 ครั้งใน 1 เดือน
 
นายนณริฏ พิศลยบุต นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าแม้จะแบ่งการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบ แต่ในข้อเท็จจริง เงินรวม 2 งวดมันเท่าเดิม คือ แค่เอาเงินเดือนมาแบ่งจ่ายในราย 2 สัปดาห์จึงไม่มีผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการจ่ายหนี้
 
แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือเป็นเรื่องของ “จังหวะ”ทำ หรือ “timing” ที่ข้าราชการจะได้รับเงินเร็วขึ้น 15 วันเงินที่ได้เร็วขึ้นจะเกิดประโยชน์ ถ้าข้าราชการมีหนี้ที่ต้องจ่ายในรอบที่เร็วกว่า 1 เดือน เช่น จ่ายทุกวัน ทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ แต่หนี้พวกนี้อาจจะเป็นหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงก็จะเกิดประโยชน์เพราะหนี้พวกนี้มักจะคิดดอกเบี้ยรายวัน
 
ผมคิดว่าถ้าจะได้ประโยชน์ ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบครับ ก็คือ กู้หนี้ในระบบจนเต็มแล้วก็ไปกู้นอกระบบ ทีนี้หนี้นอกระบบมันคิดดอกแพง และคิดดอกรายวันหรือรายสัปดาห์ การมีเงินก่อนก็จะช่วยคนเหล่านี้ได้ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีข้าราชการแบบนี้มากไหม
โดยปกติ การแก้หนี้นอกระบบ ควรจะแก้เฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา ไม่ใช่หว่านแหแก้ระบบแล้วไปกระทบกับทุกคน
 
ส่วนข้อเสียคือข้าราชการต้องปรับพฤติกรรมการวางแผนใช้เงินจาก 1 เดือนเป็น 15 วัน ซึ่งอาจจะมีความไม่คุ้นชิน และมีความเสี่ยง เช่น เงินที่ได้ในรอบ 15 วันแรกอาจจะต้องทนเก็บเอาไว้รอจ่ายหนี้ที่งวดเงินอาจจะต้องจ่ายในรอบ 1 เดือน ซึ่งระหว่างนั้น ถ้ามีสิ่งล่อใจให้จ่ายเงินก่อน พอถึงเวลาปลายเดือนก็จะไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ เป็นต้น
 
เมื่อถามว่าหากมีการเพิ่มการจ่ายเงินเป็น 2 รอบทำให้การหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้นหรือไม่ นายนณริฏกล่าวว่าในส่วนของการหมุนของเงิน ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เร็วขึ้นนะครับ เพราะว่าเงินที่ได้ต่อเดือนก็คงเดิม

เงินที่ได้มันจะเกลี่ยมากขึ้น คือ เดิมได้เงินเดือนก็จะใช้จ่ายมากต้นเดือน ปลายเดือนกินมาม่า เงินก็จะกระจายมากขึ้นตลอดเดือน แต่หากไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตออยู่ดี
 
นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอยังกล่าวต่อด้วยว่าในส่วนของการแก้ปัญหาหนี้สิน มีข้อเสนอแนะ 3 เรื่องสำคัญคือ
 
1. การแก้หนี้ มีเครื่องมืออื่นๆ ที่ดีกว่าครับ เช่น การกำหนดการหักเงินเดือนที่เหมาะสม (เงินที่หักใช้หนี้ก่อนจ่ายเป็นเงินเดือน) เงินขั้นต่ำที่กฎหมายรองรับก่อนหักเอาไปใช้หนี้ที่ถูกฟ้อง
 
2. การแก้หนี้ ไม่ควรหว่านแห แต่เลือกเป็นกลุ่มๆ แยกประเภท ขนาดของหนี้ และสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย
 
และ 3.ให้ความรู้กับข้าราชการก่อนที่จะก่อหนี้ จัดทำบทเรียนประสบการณ์ของคนที่ติดภาระหนี้ ให้ความรู้ในเรื่องของขนาดของหนี้ที่ไม่ควรเกินต่อรายได้ และความรู้เรื่องประเภทของหนี้ (หนี้เพื่อการบริโภค หนี้เพื่อการลงทุน) เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่