ทำไมการเก็บภาษีจึงไม่เป็นผลดีต่อทุกชนชั้น



ทำไมการเก็บภาษีถึงไม่เป็นผลดีต่อทุกชนชั้น
.
เขียนโดย Kraisorn Krungkasem
.
“ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ความยุติธรรมในการเก็บภาษี" มันเป็นที่ชัดเจนว่า การเก็บภาษีไม่มีอะไรมากไปกว่าการขโมยอย่างเป็นระเบียบ และแนวคิดอย่าง "ภาษีที่เป็นธรรม" ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการขโมยที่เป็นธรรม” -–Murray N. Rothbard 
.
การมีอยู่ของการเก็บภาษีนั้นมาจากเป้าหมายของรัฐเพื่อควบคุมจัดการปริมลฑล หรือ เขตแดนของตัวเอง ให้รัฐมีรายได้เข้าคลังและนำไปใช้จ่ายในนโยบายที่ทำ "เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน" แต่ในอีกด้านหนึ่ง "การเก็บภาษี" (taxation) ในทัศนะของนักคิดอิสรนิยมหลายคนก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมในตัวของมันเอง ทั้งในเชิงวิธีการของ "ภาษี" และผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจ นักคิดอิสรนิยมอย่างลุควิค ฟอน มิซิส (Ludwig von Mises) กล่าวว่า 
.
"การจ่ายภาษีเกิดขึ้นเพราะผู้เสียภาษีกลัวที่จะต่อกรกับรัฐ พวกเขารู้ว่าการไม่เชื่อฟังหรือการต่อต้านใด ๆ นั้นล้วนแล้วสิ้นหวัง ตราบใดที่สถานการณ์ยังคงดำเนินแบบนี้อยู่ไปเรื่อย ๆ มันก็ทำให้รัฐบาลรวบรวมเงินจากการเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องได้”  
.
ปัญหาหนึ่งของการเก็บภาษีก็คือ "การบังคับ" (force) ตราบเท่าที่มีการบีบบังคับโดยอำนาจที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การยอมจำนนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าการบังคับคือลักษณะของความเป็นเผด็จการ (static) ทำให้การบังคับใด ๆ ก็ตามโดยรัฐนั้นไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรกและนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ในทรัพส์สินเสมอ หากการเก็บภาษีใช้วิธีการ "ความสมัครใจ" (voluntary) ตั้งแต่แรก การละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ ก็อาจเกิดความกังวลต่อความเพียงพอของงบประมาณรายจ่ายของรัฐ เนื่องจากหากเป็นความสมัครใจในการจ่ายหรือไม่จ่ายแล้วก็อาจมีคนจำนวนมากไม่ต้องการที่จะจ่ายให้รัฐก็ได้ แต่หันไปหาการบริการต่าง ๆ ของเอกชนแทน (ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี) และอาจเกิดความเชื่อในหมู่ประชาชนที่ว่าหากปราศจากรัฐก็อาจไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐสร้างความปกติให้กับสังคมอยู่ต่อได้ ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเกิดความโกลาหนขึ้นมา แต่ถึงกระนั้น “ระเบียบทางสังคม” (social order) ใหม่สามารถเกิดขึ้นจากในสภาวะที่ไม่มีรัฐได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การกระจายอำนาจอย่างเข้มข้น" (ยกตัวอย่างเช่น “Hoppe: "My Dream Is of a Europe Which Consists of 1,000 Liechtensteins.")
=
เหตุที่ว่า "การเก็บภาษี คือ การบังคับ แล้วมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม" อิสรนิยมจะอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ชอบธรรม? 
=
อิสรนิยมเสนอเหตุผลที่ว่า "ทำไมการเก็บภาษีถึงไม่ชอบธรรม" จากทฤษฏีกฎธรรมชาติของทรัพย์สิน (Natural law theory of property) ที่ถูกเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์อิสรนิยมอย่างเมอร์เรย์ รอธบาร์ด (Murray N. Rothbard), วอลเตอร์ บล็อก (Walter Blocks) และฮันส์-เฮอร์มันน์ ฮอปป์ (Hans-Hermann Hoppe) โดยเป็น “กฎ 4 ข้อ” ที่สอดคล้องกันดังนี้
.
(a).คน ๆ หนึ่งย่อมเป็นเจ้าของร่างกายของตัวเอง (Self-ownership)
(b).คน ๆ หนึ่งเป็นเจ้าของสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้อย่างหาได้ยาก ซึ่งเขาหรือเธอใช้ร่างกายของเขาหรือเธอก่อนใครอื่น สิ่งนี้เรียกว่าแนวคิดของการจับจองทรัพย์สินเป็นคนแรก (Original appropriation)
(c).คน ๆ หนึ่งย่อมเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดที่เขาหรือเธอสร้างขึ้นโดยใช้สินค้าที่จัดสรรมาแต่เดิมและร่างกายของเขาหรือเธอเอง โดยที่ทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ได้รับความเสียหายในระหว่างกระบวนการผลิต
(d).ความเป็นเจ้าของของสินค้าที่ได้รับการจัดสรรหรือผลิตมาแต่เดิมสามารถโอนจากเจ้าของคนก่อนไปยังเจ้าของคนหลังได้โดยใช้ข้อตกลงตามสัญญาโดยสมัครใจ (Voluntary contractual agreement)
.
สรุปจากข้างต้นนั้นทำให้บอกได้ว่า “การเก็บภาษี” เป็นการละเมิดกฎข้อที่ 4 ซึ่งจำเป็นต้องโอนกรรมสิทธิ์จากคน ๆ หนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยสมัครใจเท่านั้น ทำให้การเก็บภาษีเป็นการละเมิดบังคับทรัพย์สินของคน ๆ หนึ่งไปอยู่ในมือรัฐอย่างไม่สมัครใจจึงปราศจากความชอบธรรมในวิธีการตั้งแต่แรก หากยกตัวอย่างนอกเหนือจากการเก็บภาษีก็อย่างเช่น
.
“นาย A ปล้นทรัพย์สินจำนวนมากของบ้านนาย B ประกอบไปด้วยเพชร เงิน อาหารแห้งและอื่น ๆ โดยนาย A ปล้นไปเพื่อแจกจ่ายให้แก่คนยากจน คนไร้บ้าน การกระทำของนาย A ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับตนเองที่ไปปล้นทรัพย์สินของอีกคนมาให้อีกคน เป็นต้น” 
.
=
ผลกระทบของการเก็บภาษีคืออะไร?
=
 
ผลกระทบจากการเก็บภาษีนั้นอ้างอิงจากบทความที่ชื่อ "6 Lessons on the History and Economics of Taxation" โดยลอว์เรนซ์ ดับเบิลยู. รีด (Lawrence W. Reed) โดยจะยกมาเพียงบางข้อเท่านั้นก็คือ (i). ‘การเก็บภาษีมีการจัดเก็บในหลายรูปแบบ’ โดยทั่วไปจะเป็นภาษีทางตรงอย่าง ภาษีรายได้ ภาษีสินค้าและบริการ ภาษีการครอบครองทรัพย์สิน โดยการจัดเก็บภาษีมีการสร้างกฎระเบียบที่สร้างภาระกับธุรกิจอย่างมาก และผลกระทบตรงนั้นมักจะไปลงกับแรงงานของภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ไม่มีกำลังจ่ายค่าแรงและอาจต้องบังคับให้แรงงานออกจากงาน มิหน่ำซ้ำผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับราคาสินค้าและบริการที่มีราคาแพง (การมีราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นจากการเก็บภาษีส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย หรือ คนยากจนอย่างมาก); (ii). ‘การเก็บภาษีส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม’ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีแรงจูงใจในสิ่งต่าง ๆ และตามกฎทั่วไปในเรื่องของแรงจูงใจก็คือ หากคุณสนับสนุนหรือกระตุ้นให้ผู้คนทำสิ่งที่เรียกว่า X (อะไรก็ได้) จะทำให้ผู้คนอยากทำ X มากขึ้น ในทางกลับกันถ้ามีการกีดกันไม่ให้ทำ X ผู้คนก็จะทำ X น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ภาษีที่สูงขึ้นจากการลงทุนจะทำให้เกิดการลงทุนที่น้อยลง หรือ ภาษีที่สูงก็จะทำให้ธุรกิจโดยทั่วไปมีจำนวนที่ลดน้อยลง; (iii). ‘การเก็บภาษีขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ ถ้าภาระภาษีในภาคธุรกิจ คนมีรายได้น้อยหรือปานกลาง มีการเก็บภาษีน้อยลงก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนและเศรษฐกิจก็จะเติบโตได้ แต่ถ้าภาระภาษีมีมากอย่างไรก็ตามย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคธุรกิจ คนมีรายได้น้อยหรือปานกลาง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงย่อมไม่อาจเกิดขึ้นภายใต้การมีภาษีที่สูง (ยกเว้นกรณีที่ประเทศเหล่านั้นมีภาษีที่สูงซึ่งสัมพันธ์กับ Economic freedom กับ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่ผ่านปฏิวัติอุสาหกรรม); (iv). ‘การเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่จ่ายภาษีทางตรง’ หากรายได้หรือความมั่งคั่งของคนอื่นถูกเก็บภาษีมากขึ้น คน ๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าและบริการน้อยลง หรือ ลงทุนน้อยลงเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ หรือ รับมือความเสี่ยงได้น้อยลงในฐานะผู้ประกอบการที่สร้างความมั่งคั่ง ในแง่หนึ่งการเก็บภาษีเป็นเรื่องที่ธุรกิจให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะการเพิ่มหรือลดอัตราภาษีจะมีนัยสำคัญต่อพฤติกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม
.
โดยสรุปก็คือ การเก็บภาษีทำให้แรงจูงใจในการลงทุน (investment) การใช้จ่าย (spending) การเก็บออม (saving) การสะสมความมั่งคั่ง (capital accumulation) เกิดการ "ลดลง" ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน แม้แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ยกตัวอย่างการศึกษาของ Romer and Romer (2010) ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงภาษีรายได้ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ.1947 ถึง ค.ศ. 2006 มีข้อสรุปว่า "การขึ้นภาษี 1% ของ GDP ส่งผลให้ GDP ลดลงประมาณ 3% หลังจากผ่านไป 3 ปี และ 9 ไตรมาสหลังการขึ้นภาษี 1% ของ GDP PCE (Personal consumption expenditures price index) ลดลง 2.6% กับ 10 ไตรมาสหลังการขึ้นภาษี 1% ของ GDP การลงทุนในประเทศภาคเอกชนลดลง 12.6%" หรือการศึกษาของ Rhee (2012) ที่ว่าด้วยเรื่องอัตราภาษีเฉลี่ย และภาษีรายได้ก้าวหน้าในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ.1979 จนถึง ค.ศ.2004 ได้ข้อสรุปคือ “ดัชนีอัตราภาษีความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.01 จะลดผลิตภัณฑ์มวลรวมของแต่ล่ะรัฐลง 0.5 เปอร์เซ็นต์” เป็นต้น
.
ความเชื่อหรือแนวคิดที่ว่า การเก็บภาษีเพื่อนำมาจัดสรรทรัพยากรผ่านการกระจายทรัพยากรแล้วจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้นล้วนแล้วติดอยู่ในโลกแห่งภาพลวงตาของเรื่องเล่าทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายอย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก ‘รัฐไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชนได้’ และหากรัฐสามารถทำได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องให้คนทำงาน ต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น หรือ ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการวางแผนในชีวิตใด ๆ อีกคนในสังคมนั้นไม่ต่างจากนกในกรง หรือ สัตว์ที่รอวันตาย (ในทางกลับกันผู้ที่เชื่อมั่นใน “ความเป็นมนุษย์ที่คนเท่ากัน” พยายามต้องการสร้างสภาวะที่คนไม่ต่างจากนกในกรงแล้ว การกระทำของพวกเขาย่อมจะไม่เป็นการเคารพความเป็นมนุษย์เสียเอง)  
=
แล้วใครได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีในอัตราที่สูง? 
=
หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา “บริษัทขนาดใหญ่” (Big Business) มีความสามารถที่จ่ายภาษีในระดับที่สูงได้โดยมีความสัมพันธ์ทางผลประโยชน์กับรัฐ หนึ่งในภัยคุกคมของบริษัทขนาดยักษ์เหล่านั้นก็คือ ความกลัวที่จะสูญเสียผลประโยชน์จากกลุ่มการเมืองที่ต้องการเข้ามาทลายการผูกขาด หรือ ตัดผลประโยชน์ออกไปก็ทำให้บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางรับมือสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามของตนเอง และในกรณีของประเทศไทยที่ต้องการเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth tax) และภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่ (Corporate tax) เพื่อมาทำรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกลย่อมส่งผลกระทบทั้งคนที่มีรายได้สูงและบริษัทโดยทั่วไปอย่างมาก โดยเฉพาะต่อทุนผูกขาดในประเทศไทย (Crony capitalism) ที่มีความสัมพันธ์ทางผลประโยชน์ต่อรัฐบาลชุดก่อนหน้ามากกว่ารัฐบาลชุดใหม่ หรือ คนที่มีรายได้สูงและมีบริษัทขนาดใหญ่แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลแล้วไม่ต้องการนำนโยบายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้มาปรับใช้กับตน
.
แต่ถึงอย่างนั้น “การเก็บภาษีในอัตราที่สูง” (Higher tax rate) ย่อมทำให้บริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมอยู่ดี จากการใช้กฎระเบียบของรัฐในการตัดขาคู่แข่งที่มีขนาดทุนน้อยกว่าไม่ให้ขึ้นมามีขนาดเทียบเท่ากับตนเองได้ อีกทั้งโดยส่วนใหญ่บริษัทขนาดใหญ่ที่สัดส่วนในตลาดที่เยอะ มีจำนวนคู่แข่งน้อยรายมีโอกาสที่จะกลายเป็นทุนผูกขาดที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (B2G) ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้อาจไม่มีความชัดเจนโดยตรงอย่างโจ่งแจ้ง แต่จะเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่สามารถจับตามองได้ในระดับความสัมพันธ์ของเอกชนและรัฐ
.
อย่างไรก็ตามในบทความนี้ผู้เขียนอยากเน้นย้ำถึง “ผลกระทบของการเก็บภาษี” ทั้งในเชิงการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นหลักการของอิสรนิยม และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อคนทั่วไป เพราะการเก็บภาษีถือเป็นเรื่องทางการเมืองที่มุ่งเน้นให้รัฐต้องเข้าไปรุกรานทรัพย์สินของผู้อื่น และเมื่อฝ่ายซ้ายต้องการสร้างประเทศในอุดมคติของตน การเก็บภาษีถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการดำเนินนโยบายของพวกเขา โดยปักธงว่า “ทุนนิยมคือปีศาจที่ต้องถูกทำลายให้สิ้นซาก” โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาเองนั้นแหละคือปีศาจที่กลับทำลายชีวิตของคนส่วนใหญ่ ทำลายความเป็นอยู่ที่ดี แล้วเชื่อมั่นในการก้าวข้ามความไม่สมบูรณ์แบบของคนให้ได้มากที่สุด ผลลัพธ์ที่เห็นจากความคิดพวกเขาในโลกแห่งความเป็นจริงคืออะไร? ก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก 
.
บรรณานุกรม
Denga, Dumo. Taxation Is Theft and Cannot Be Justified Even for Charitable Causes. Auburn, AL: Mises Institute, 2023.
Hornshaw, Mark. Why a “Billionaire” Wealth Tax Would Hurt the Working Poor and the Middle Class. Atlanta, GA: Foundation for Economic Education, 2019.   
 
Romer, Christina D., and David H. Romer, 2010. “The Macroeconomic Effects of Tax Changes: Estimates Based on a New Measure of Fiscal Shocks,” American Economic Review 100 (3): 763-801.
Rhee, Tae-hwan, 2012. “Macroeconomic Effects of Progressive Taxation,” https://www.aeaweb.org/conference/2013/retrieve.php?pdfid=394.
Rozeff, Michael S. Taxation Isn't Only Theft, It's Destruction.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่